เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคนพิการ : กรณีศึกษาพระราชทานในจังหวัดนราธิวาส

Facebook
Twitter
social-highlight2

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ดังพระราชดำรัสในงานสัมมนาและนิทรรศการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ว่า “คนบางคนนั้นอาจมีความสามารถน้อยหรือมากไม่เท่ากันแต่ว่าส่วนสำคัญที่สุด คือ โอกาส เช่น โอกาสในการศึกษานั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดควรจะเปิดโอกาส แต่ว่าความสามารถของคนที่จะรับโอกาสที่เปิดให้นั้นอาจไม่เท่ากัน แต่โอกาสก็ควรจะเท่าเทียมกัน”

social-highlight2

 

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อคนพิการในการเสด็จพระราชดำเนินในสถานที่ต่างๆ พระองค์ทรงพระราชทานคนพิการที่มีความพิการหลากหลายให้เป็นกรณีศึกษาแก่คณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาคิดค้นต้นแบบเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมเทคนิคการจัดการเพื่อให้คนพิการสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ และนำมาใช้พัฒนาความสามารถของคนพิการ สร้างโอกาสในการศึกษา พัฒนาทักษะให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ทั้งยังสร้างโอกาสและความมั่นใจในตนเองของคนพิการในการประกอบอาชีพที่เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคม รวมทั้งจัดการอบรมการใช้งานเครื่องมือต่างๆ ให้กับคนพิการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้มีการติดตามประเมินผลโครงการเป็นประจำทุกปี

กรณีศึกษาพระราชทาน

นางสาวตอยยีบะห์ สือแม คนพิการไร้แขนขาตั้งแต่กำเนิด จากจังหวัดนราธิวาสพระองค์ทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ทรงพระราชทานความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการใช้ชีวิตประจำวันในที่อยู่อาศัยให้กับครอบครัว ด้วยรถเข็นขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าพร้อมชุดควบคุมแบบติดตั้งที่หัวไหล่ และเครื่องช่วยยกรถเข็นขึ้นบันได พร้อมทั้งจานที่ออกแบบพิเศษเพื่อให้เธอรับประทานอาหารได้ด้วยตนเอง ในด้านการศึกษา ทรงพระราชทานคอมพิวเตอร์พร้อมเมาส์แบบแทร็กบอลและโปรแกรมแป้นพิมพ์บนจอภาพที่ควบคุมการทำงานโดยใช้หัวไหล่ ด้วยพระเมตตาของพระองค์ทำให้นางสาวตอยยีบะห์ เรียนจบสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีและเป็นนักจัดรายการทางวิทยุตามความใฝ่ผันได้สำเร็จ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งในกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ

social-highlight2

 

เด็กชายฮาริส ดาแมยี เด็กพิการปราศจากแขนและขาทั้งสองข้างตั้งแต่กำเนิด ปัจจุบัน อายุ 4 ปี 7 เดือน มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 3 บ้านตะโละตา ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ขณะอายุได้ 1 ปี โดยคณะกรรมการโครงการฯ ร่วมกับคณะทำงานในพื้นที่และศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กชายฮาริสฯ ทั้งด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ด้านเศรษฐกิจของครอบครัว ด้านที่พักอาศัย ด้านการจัดการศึกษาพิเศษ และการจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเสริมศักยภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับเด็กชายฮาริสฯ ทำให้เด็กชายฮาริสฯ มีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ

เด็กชายอับดุลวาเรส เปาะซูปายา เด็กพิการปราศจากขาทั้งสองข้างตั้งแต่กำเนิด มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 32/1 หมู่ 4 ตำบลตะปอเยาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ตั้งแต่ปี 2554 พร้อมกับเด็กชายอับดุลวาเรสฯ โดยคณะกรรมการโครงการฯ ร่วมกับคณะทำงานในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาสและศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กชายอับดุลวาเรสฯ ทั้งด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ด้านเศรษฐกิจของครอบครัว ด้านการจัดการศึกษาพิเศษ และการจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเสริมศักยภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เด็กชายอับดุลวาเรสฯ มีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ

นางสาวตอยยีบะห์ สือแม ประวัติ

social-highlight2

 

เป็นนักเรียนพิการปราศจากแขนและขาทั้งสองข้างตั้งแต่กำเนิด มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันอายุ 24 ปี (เกิดวันที่ 11 สิงหาคม 2534) ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านปลักปลา ในปี 2545 โดยได้รับการช่วยเหลือทั้งในด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย การศึกษา การช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน การปรับสภาพบ้านและเศรษฐกิจของครอบครัว ทำให้สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองทั้งการเรียนและการช่วยเหลือตนเองได้ดีขึ้นตามลำดับ นางสาวตอยยีบะห์ฯ สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบ้านปลักปลา ในปีการศึกษา 2547 และเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ณ โรงเรียนนราสิกขาลัย จังหวัดนราธิวาส ระหว่างปีการศึกษา 2548 – 2553 หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะวิทยาการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี ในปีการศึกษา 2554-2557 ปัจจุบันสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา และเข้าทำงานในฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส การเรียนที่ผ่านมามีน้องสาว คือ นางสาวโซเฟีย สือแม ปัจจุบันอายุ 23 ปี (เกิดวันที่ 29 สิงหาคม 2535) เรียนอยู่ชั้นเดียวกันนางสาวตอยยีบะห์ฯ มาตลอดตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับปริญญาตรี ทั้งนี้นางสาวโซเฟียฯ เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในคณะเดียวกันกับนางสาวตอยยีบะห์ฯ เนื่องจากทั้งนางสาวตอยยีบะห์ฯ และนางสาวโซเฟียฯ มีความสนใจอยากทำงานเกี่ยวกับการจัดรายการวิทยุหรือโทรทัศน์เหมือนกัน ปัจจุบันนางสาวโซเฟียฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและเข้าทำงานที่ศาลากลางจังหวัดนราธิวาสเช่นเดียวกับนางสาวตอยยีบะห์ฯ

social-highlight2

 

การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและสุขภาพ

นางสาวตอยยีบะห์ฯ ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายตั้งแต่เล็กจนถึงปัจจุบัน โดยเน้นเรื่องการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อลำตัว การเคลื่อนที่บนพื้น การเคลื่อนไหวร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการยืดกล้ามเนื้อลำตัวเพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การดูแลด้านสุขภาพทั่วไป ตลอดจัดหาอุปกรณ์ช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย เช่น หมอนสามเหลี่ยมช่วยในการออกกำลังกาย โดยได้รับความร่วมมือจากแพทย์ และนักวิชาชีพ ได้แก่ นักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัดจากหน่วยงานต่างๆ ในการให้ช่วยการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ประกอบด้วย

  • ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสวางคนิวาส สภากาชาดไทย
  • มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์
  • โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
  • โรงพยาบาลปัตตานี
  • ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
social-highlight2

 

การศึกษา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานทุนการศึกษาในการเรียนระดับอุดมศึกษาให้แก่นางสาวตอยยีบะห์ฯ และนางสาวโซเฟียฯ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 จนถึงจบการศึกษา ส่วนการศึกษาในระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษาได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนบ้านปลักปลา และระดับมัธยมศึกษาได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนนราสิกขาลัย โดยได้พระราชทานทุนการศึกษาประกอบด้วย

  1. ค่าธรรมเนียมการศึกษาของนางสาวโซเฟียฯ ส่วนนางสาวตอยยีบะห์ฯ มหาวิทยาลัยเบิกค่าธรรมเนียม การศึกษาจาก สกอ. ตามระเบียบเงินอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับ คนพิการ
  2. ค่าที่พักและค่าอาหารรายเดือน
  3. ค่ากิจกรรมและทำรายงาน
  4. ค่าหนังสือและเอกสารในการเรียน
  5. ค่าอินเทอร์เน็ตเพื่อสนับสนุนการค้นคว้าข้อมูลประกอบการเรียน
  • นอกจากนี้ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนราธิวาส ได้เข้ามาช่วยดูแลและสนับสนุนทุการศึกษาให้กับนางสาวตอยยีบะห์ฯ โดยเสนอชื่อนางสาวตอยยีบะห์ฯ รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิคุณพุ่ม ปีละ 5,000 บาท ขณะที่เรียนระดับมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนนราสิกขาลัยเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการช่วยการเรียนให้กับนางสาวตอยยีบะห์
  • โรงเรียนบ้านปลักปลาปรับสถานที่และจัดทำห้องเรียนเตรียมความพร้อมสำหรับนักเรียนพิการเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนให้กับนางสาวตอยยีบะห์ฯ และนักเรียนพิการอื่นๆ ในโรงเรียน ตั้งแต่นางสาวตอยยีบะห์ฯ เรียนอยู่ที่โรงเรียนบ้านปลักปลา
  • โรงเรียนนราสิกขาลัยปรับสถานที่และสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เหมาะสมกับการใช้รถเข็นไฟฟ้าของนางสาวตอยยีบะห์ฯ ขณะเรียนที่โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา เช่น การทำทางลาด การปรับสภาพห้องน้ำ การติดลิฟต์ขึ้นลงระหว่างชั้นเรียนโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล
social-highlight2

 

การสนับสนุนด้านเศรษฐกิจของครอบครัว

  • โรงเรียนบ้านปลักปลาจ้างมารดาของนางสาวตอยยีบะห์ฯ ทำงานเป็นแม่ครัวของโรงเรียนตั้งแต่นางสาว ตอยยีบะห์ฯ เรียนในระดับชั้นอนุบาลจนจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
  • โรงเรียนนราสิกขาลัยจ้างมารดาของนางสาวตอยยีบะห์ฯ ทำงานที่โรงเรียนในการช่วยเหลืองานด้านสวัสดิการขายน้ำที่โรงอาหารของโรงเรียนตั้งแต่นางสาวตอยยีบะห์ฯ เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
  • คณะวิทยาการสื่อสารจ้างมารดาของนางสาวตอยยีบะห์ฯ ทำงานเป็นแม่บ้านของคณะ ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงเดือนกรกฏาคม 2558 โดยใช้งบจ้างเหมาบริการของคณะ ปัจจุบันมารดากลับมาอยู่ที่บ้านพักในจังหวัดนราธิวาส หลังจากนางสาวตอยยีบะห์ฯ และนางสาวโซเฟียฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
  • คุณวรพจน์ ศรีมหาโชตะ มอบเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และในชีวิตประจำวันแก่นางสาวตอยยีบะห์ฯ
  • บริษัทอีซูซุ มอบทุนการศึกษาแก่นางสาวตอยยีบะห์ฯ
  • โครงการไอทีตามพระราชดำริฯ สนับสนุนเงินค่าอาหารรายเดือนให้กับนางสาวตอยยีบะห์ฯ และนางสาวโซเฟียฯ (ตั้งแต่เข้าเรียนระดับปริญญาตรีจนสำเร็จการศึกษา)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลลำภู ได้จัดสรรเบี้ยยังชีพคนพิการให้กับนางสาวตอยยีบะห์ฯ
social-highlight2

 

การสนับสนุนอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก

  • สนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊กสำหรับเป็นเครื่องมือช่วยในการเรียนและการทำงานตั้งแต่เรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนบ้านปลักปลา จนถึงปัจจุบัน พร้อมด้วยจัดหาอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกช่วยในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ได้แก่ เมาส์แบบลูกบอล (Track ball) ที่นำมาติดตั้งระดับหัวไหล่ของนางสาวตอยยีบะห์ เพื่อใช้หัวไหล่ควบคุมการเคลื่อนที่ของลูกศรบนจอภาพ และทำการต่อพ่วงเข้ากับสวิตช์เดี่ยวเข้ากับ Track ball เพื่อช่วยในการกดปุ่มป้อนข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ การจัดทำสายคาดศีรษะที่มีแท่งโลหะยื่นออกมาเพื่อใช้ในการกดแป้นคีย์บอร์ด (Head stick) พร้อมทั้งสอนการใช้โปรแกรมแป้นพิมพ์บนจอภาพช่วยในการพิมพ์งานเข้าคอมพิวเตอร์แทนการใช้แป้นพิมพ์ปกติร่วมด้วย ทั้งนี้มีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยปรับอุปกรณ์ให้เหมาะสมแก่การใช้งานของนางสาวตอยยีบะห์ฯ พร้อมทั้งมีศิษย์เก่าของโรงเรียนบานปลักปลาที่เป็นช่างเหล็กได้ช่วยจัดทำอุปกรณ์สำหรับติดตั้ง Track ball ไว้ที่ตำแหน่งหัวไหล่
  • สนับสนุนเครื่องช่วยยกรถเข็นขึ้นลงบันไดสำหรับใช้ในการเรียนที่อาคารเรียนของคณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี
  • ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สนับสนุนรถเข็นแบบธรรมดาสำหรับใช้ในการเดินทางในบริเวณต่างๆ โดยสนับสนุนมาแล้ว จำนวน 2 คัน
  • ได้รับการสนับสนุนรถเข็นไฟฟ้ามือสองที่ปรับระดับที่นั่งถึงพื้นได้จาก องค์การคนพิการสากลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและ AJU Center for Independent Living Japan และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติช่วยปรับย้ายจุดควบคุมการขับเคลื่อนรถเข็นไฟฟ้าให้มาอยู่ที่ตำแหน่งหัวไหล่เพื่อใช้ไหล่ในการควบคุม พร้อมติดตั้งสวิตช์ในการปรับระดับความสูงของที่นั่งให้สะดวกต่อการใช้ไหล่กด ทำให้นางสาว ตอยยีบะห์ฯ สามารถขับเคลื่อนรถเข็นไฟฟ้าเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ปัจจุบันโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ได้จัดซื้อรถเข็นไฟฟ้าคันใหม่ให้แทนรถเข็นคันเดิมที่เสื่อมสภาพลง
  • ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติร่วมกับศูนย์โลหะและวัสดุแห่งชาติ จัดทำจานทานอาหารแบบพิเศษที่มีช้อนยื่นจากขอบจานเพื่อช่วยให้นางสาวตอยยีบะห์ฯ สามารถรับประทานอาหารด้วยตนเอง โดยเป็นจานเซรามิก ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำ และได้รับการสนับสนุนจากบริษัทซันวา เซรามิก เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการจัดทำจานทานอาหารแบบพิเศษดังกล่าว
  • บริษัทยามาฮ่าให้การสนับสนุนรถจักรยานยนต์ และงบประมาณในการจัดทำรถพ่วงข้าง
  • สารพัดช่างนราธิวาสช่วยจัดทำที่นั่งด้านข้างบนรถจักรยานยนต์พ่วงข้างและงบประมาณในการซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ รถเข็นไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์พ่วงข้างขณะที่นางสาวตอยยีบะห์ฯ เรียนอยู่ในจังหวัดนราธิวาส
  • วิทยาการอาชีพปัตตานีช่วยดูแลซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ รถเข็นไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์พ่วงข้างขณะที่นางสาวตอยยีบะห์ฯ เรียนอยู่ที่ มอ.ปัตตานี
  • วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานีสนับสนุนการซ่อมบำรุงรถเข็นไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ให้กับนางสาว ตอยยีบะห์ฯ
social-highlight2

 

ที่พักอาศัย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานทุนทรัพย์ในการต่อเติมบ้านพักและปรับบ้านให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของนางสาวตอยยีบะห์ฯ ที่บ้านพักในอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยได้รับความร่วมมือกับผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในตำบลบ้านปลักปลามาช่วยสร้างบ้าน พร้อมกันนี้มีหน่วยงานในพื้นที่มีช่วยจัดทำถนนทางเข้าบ้าน ได้แก่ อบจ.นราธิวาส อบต.ลำภู และกองพันทหารราบที่ 4 ช่วยทำขอบกันตกทางลาดขึ้นบริเวณบ้าน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนราธิวาสได้ช่วยดูแลเรื่องการเดินไฟเข้าบ้าน

พร้อมกันนี้ขณะที่นางสาวตอยยีบะห์ฯ เรียนที่ มอ.ปัตตานี โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ สนับสนุนที่พักโดยเช่าบ้านพักให้กับนางสาวตอยยีบะห์ฯ และครอบครัวพักอาศัยขณะอยู่ที่ปัตตานี

social-highlight2

 

social-highlight2

 

เด็กชายฮาริส ดาแมยี ประวัติ

social-highlight2

 

เป็นเด็กพิการปราศจากแขนและขาทั้งสองข้างตั้งแต่กำเนิด ปัจจุบัน อายุ 5 ปี (เกิดวันที่ 1 กรกฎาคม 2553) มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 3 บ้านตะโละตา ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ขณะอายุได้ 1 ปี โดยคณะกรรมการโครงการฯ ร่วมกับคณะทำงานในพื้นที่และศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กชายฮาริสฯ ทั้งด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ด้านเศรษฐกิจของครอบครัว ด้านที่พักอาศัย ด้านการจัดการศึกษาพิเศษ และการจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเสริมศักยภาพในการทำกิจกรรม ต่าง ๆ ให้กับเด็กชายฮาริสฯ ทำให้เด็กชายฮาริสฯ มีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ รับเข้าโครงการ: กรกฎาคม 2554

การช่วยเหลือครอบครัว

คุณจิรัสย์ ศิริวัลลภ ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง อ.รือเสาะ (ตำแหน่งเดิม) รายงานว่า บิดาและมารดาของเด็กชายฮาริสฯ แยกทางกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 ปัจจุบันต่างฝ่ายต่างมีครอบครัวใหม่ โดยบิดากลับไปอยู่บ้านเกิดที่อำเภอยี่งอ ส่วนมารดาเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กชายฮาริสฯ และลูกสาวอีก 2 คน ที่บ้านพักเดิมในอำเภอ บาเจาะที่ทางอำเภอบาเจาะสร้างให้ภายใต้โครงการบ้านท้องถิ่นไทยเทิดไท้องค์ราชันย์เฉลิมพระเกียรติฯ ส่วนบิดาเลี้ยง ได้เข้ามาอาศัยในบ้านเดียวกัน โดยบิดาเลี้ยงมีครอบครัวแล้วอยู่ที่ตำบลตะโละหะลอ อำเภอรามัญ จังหวัดยะลา ยังไม่ได้เลิกกับภรรยาคนแรก ในแต่ละอาทิตย์จะกลับไปพักที่บ้านกับภรรยาคนแรก จำนวน2 – 3 วัน ซึ่งครอบครัวของเด็กชายฮาริสฯ และบิดาเลี้ยงรักใคร่กันดี

การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและอาชีพ

  • อำเภอบาเจาะสร้างบ้านที่พักให้ใหม่ภายใต้โครงการบ้านท้องถิ่นไทยเทิดไท้องค์ราชันย์เฉลิมพระเกียรติฯ โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่มาช่วยก่อสร้างให้
  • องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ ได้จ้างคุณแม่ของเด็กชายฮาริสฯ เป็นลูกจ้างของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเชิงเขา ในตำแหน่งแม่บ้าน ซึ่งที่ทำงานอยู่ห่างจากบ้านพักเพียง 2 กิโลเมตร และสามารถนำเด็กชายฮาริสฯ ไปเลี้ยงดูได้ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่เด็กชายฮาริสฯ จะได้ฝึกพัฒนาการไปด้วย
  • สำนักงานปศุสัตว์อำเภอบาเจาะจัดหาไก่สามสายพันธุ์ซึ่งเป็นพันธุ์ไก่ไข่ให้ครอบครัวของเด็กชายฮาริสฯ เลี้ยงสำหรับรับประทานในครอบครัว และถ้ารับประทานพอเพียงสามารถนำไปขายเป็นรายได้เสริมได้
  • เกษตรตำบลปะลุกาสาเมาะ จัดหาเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวให้เพาะปลูกสำหรับขายเสริมรายได้ และรับประทานในครอบครัว
  • ประมงอำเภอบาเจาะ จัดหาพันธุ์ปลาดุกและอาหารให้เลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ขายและรับประทานในครอบครัว ที่ผ่านมายังไม่สามารถขายได้ เป็นการเลี้ยงแค่รับประทานในครอบครัว
  • มูลนิธิคุณพุ่มมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กชายฮาริสฯ โดยศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนราธิวาสเป็นผู้เสนอชื่อ
  • อบต.ปะลุกาสาเมาะ ได้จัดสรรเบี้ยยังชีพคนพิการให้เด็กชายฮาริสฯ

การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและสุขภาพ

  • นักกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เดินทางไปเยี่ยมและฝึกกายภาพบำบัดให้กับเด็กชายฮาริสฯ ที่บ้าน พร้อมแนะนำโปรแกรมการฝึกให้กับมารดาเพื่อช่วยฝึกให้กับเด็กชายฮาริสฯ เดือนละ 1 ครั้ง และมารดาจะพาเด็กชายฮาริสฯ ไปตรวจสุขภาพทั่วไปที่โรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมาย
  • มารดาของเด็กชายฮาริสฯ ได้พาเด็กชายฮาริสฯ ไปฝึกกายภาพบำบัดที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนราธิวาส สาขาบ้านจำปากอ (สาขาย่อย) ที่อยู่ใกล้บ้าน เดือนละ1 – 2 ครั้ง
  • วันที่ 15 กรกฎาคม 2556 เด็กชายฮาริสฯ เข้ารับการผ่าตัดแก้ไขปัญหาถุงอัณฑะที่บวมโตตั้งแต่กำเนิด ณ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ปัจจุบันหายเป็นปกติดี

เด็กชายฮาริสฯ มีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี พัฒนาการพูดไปตามวัย พูดเก่ง อารมณ์ดี และเข้ากับคนแปลกหน้าได้ดีขึ้น พัฒนาการด้านร่างกายคือ สามารถกลิ้งตัวบนพื้นได้อย่างคล่องแคล่ว ใช้คางหนีบสิ่งของได้ สามารถปีนป่ายขึ้นลงหมอนสามเหลี่ยมที่มีความลาดชันได้ สามารถนั่งทรงตัวแบบพิงหลังได้นาน 45 นาที แต่ยังไม่สามารถนั่งทรงตัวได้เอง

การเตรียมความพร้อมด้านการศึกษา

  • ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนราธิวาส ส่งครูไปช่วยฝึกพัฒนาการเรียนรู้ให้กับเด็กชายฮาริสฯ ที่บ้าน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเน้นกระตุ้นพัฒนาการเรียนรู้ตามวัย ตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ได้จัดทำให้กับเด็กชายฮาริสฯ
  • เด็กชายฮาริสฯ สมัครเข้าเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนวัดเชิงหลังเขา อ.บาเจาะ เมื่อเดือนมิถุนายน 2558
  • เด็กชายฮาริสฯ มีพัฒนาทางด้านภาษาและสังคมไปตามวัย

การสนับสนุนเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก

  • ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพแห่งชาติ สนับสนุนรถเข็นแบบธรรมดาและที่นั่งแบบติดล้อสำหรับช่วยเคลื่อนที่โดยทั่วไป
  • โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ สนับสนุนจานทานอาหารแบบพิเศษที่มีช้อนยื่นจากขอบจาน
  • โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์สนับสนุนเบาะสามเหลี่ยมสำหรับช่วยในการออกกำลังกายและช่วยในการลุกขึ้นนั่งจากพื้น

เด็กชายอับดุลวาเรส เปาะซูปายา ประวัติ

social-highlight2

 

เด็กชายอับดุลวาเรส เปาะซูปายา เด็กพิการปราศจากขาทั้งสองข้างตั้งแต่กำเนิด ปัจจุบันอายุ 4 ปี (เกิดวันที่ 18 มีนาคม 2554) มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 32/1 หมู่ 4 ตำบลตะปอเยาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ตั้งแต่ปี 2554 พร้อมกับเด็กชายอับดุลวาเรสฯ โดยคณะกรรมการโครงการฯ ร่วมกับคณะทำงานในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาสและศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กชายอับดุลวาเรสฯ ทั้งด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ด้านเศรษฐกิจของครอบครัว ด้านการจัดการศึกษาพิเศษ และการจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเสริมศักยภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เด็กชายอับดุลวาเรสฯ มีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ รับเข้าโครงการ: กรกฎาคม 2554

การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจของครอบครัว

  • บิดาของเด็กชายอับดุลวาเรสฯ ทำงานเป็นลูกจ้างรายปีช่วยดูแลความปลอดภัยของโรงเรียน โดยใช้งบพิเศษของทหาร ภายใต้ “โครงการจ้างงานของทหารชายแดนภาคใต้”
  • มารดาเปิดร้ายขายของชำและอาหารที่หน้าบ้าน
  • องค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะ ได้จัดสรรเบี้ยยังชีพคนพิการให้กับเด็กชายอับดุลวาเรสฯ

การฟื้นฟูสมรรถภาพและการตรวจสุขภาพ

นักกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เดินทางไปเยี่ยมและฝึกกายภาพบำบัดให้กับเด็กชายอับดุลวาเรสฯ ที่บ้าน พร้อมแนะนำโปรแกรมการฝึกให้กับมารดาเพื่อช่วยฝึกให้กับเด็กชายอับดุลวาเรสฯ เดือนละ 1 ครั้ง เช่นเดียวกับที่ฟื้นฟูให้กับเด็กชายฮาริสฯ และผู้ปกครองได้พาเด็กชายอับดุลวาเรสฯ ไปตรวจสุขภาพทั่วไปที่โรงพยาบาลตามที่แพทย์นัด โรงพยาบาลสาธารณสุขตำบล

การจัดการศึกษาพิเศษ

ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนราธิวาส ส่งครูไปช่วยฝึกพัฒนาการเรียนรู้ที่บ้านของเด็กชายอับดุลวาเรสฯ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเน้นกระตุ้นพัฒนาการเรียนรู้ตามวัย ตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ทำให้กับเด็กชายอับดุลวาเรสฯ สนับสนุนให้ครอบครัวพาเด็กชายอับดุลวาเรส ฯ มาเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษฯ ได้จัดขึ้น ทุกครั้ง เช่น โครงการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่และวันเด็กแห่งชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้น ให้มีพัฒนาการทางสังคมที่ดีขึ้นตามลำดับ และเป็นการสร้างความคุ้นเคย ในการเตรียมตัวเข้าสู่การเรียน พร้อมกันนี้มารดาไปพาไปเข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์พัฒนาการเด็กเล็กอำเภอยี่งอร่วมด้วย ปัจจุบัน เด็กชายอับดุลวาเรสฯ ได้เข้าเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนได้เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติที่โรงเรียนอัลอีย๊ะวิทยา ในระดับชั้นอนุบาล 1 ปีการศึกษา 2558 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา เด็กชายอับดุลวาเรสฯ มีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม พัฒนาการทางการพูดและภาษา และวิชาการดีขึ้นมาก เป็นไปตามวัย สามารถใช้แขนและมือทั้งสองข้างทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี พูดเก่ง เข้ากับคน ได้ง่าย

การใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก

  • ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพแห่งชาติ สนับสนุนรถเข็นสำหรับเด็กอ่อนตั้งแต่เด็กชายฮาริสฯ อายุ 2 ปีกว่า และที่นั่งแบบติดล้อสำหรับช่วยเคลื่อนที่โดยทั่วไป
  • โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์กำลังจัดหารถเข็นเด็กแบบธรรมดาให้เพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ เนื่องจากรถเข็นเด็กอ่อนเล็กไปสำหรับให้เด็กชายอับดุลวาเรสเข็นรถเข็นด้วยตนเอง
  • โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์สนับสนุนเบาะสามเหลี่ยมสำหรับช่วยในการออกกำลังกายและช่วยในการลุกขึ้นนั่งจากพื้น
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
www.princess-it.org

ติดต่อสอบถามได้ที่

ฝ่ายเลขานุการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โทรศัพท์ 0 2564 7000 ต่อ 81818
email: info@princess-it.org