การขจัดความทุจริตในบ้านเมือง

สิทธิในความเป็นผู้เป็นคน | การปฏิรูปราชการ | การปฏิรูป "ศาล" และระบบตรวจสอบ
การปฏิรูประบบผู้แทน | การขจัดความทุจริตในบ้านเมือง | บทส่งท้าย

...คนชั่วนั้นชี้บ่งปักหน้าค่าตาได้ลำบาก เป็นเหตุให้หลุดพ้นมาเป็นใหญ่ในบ้านเมือง ได้ง่าย
ทำอย่างไร? เราจึงจะมีระบบที่ทำให้คนชั่วและความชั่วต้องหลบซ่อนอยู่ในมุมมืด
ครั้นเมื่อมีการกระทำชั่วก็มีระบบที่สามารถสืบสาวร่องรอย
เอาเรื่องเอาราวไล่ให้พ้นจากตำแหน่ง และลงโทษให้สมแก่โทษานุโทษได้...

นอกจากการล้อมกรอบให้การใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการของรัฐ ต้องถูกตรวจสอบความถูกต้องโดยถี่ถ้วนได้ และการลงทุนทางการเมืองต้องถูกจำกัดแล้ว ด่านสุดท้ายก็อยู่ที่การวางมาตรการจัดการกับความทุจริตที่หลุดรอดเข้ามาทำลายชาติบ้านเมือง ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้วางมาตรการพิเศษไว้ดังนี้

มาตรา ๓๐๓ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้

๕.๑ การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน

๕.๑.๑ ปปช.

รัฐธรรมนูญนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ที่มาจากการคัดสรรที่รัดกุม และความเห็นชอบของวุฒิสภา โดยมอบอำนาจให้ป้องปราบการทุจริตประพฤติมิชอบโดยเฉพาะ

๕.๑.๒ การตรวจสอบทรัพย์สิน

เมื่อแรกรับตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง หรือเข้าดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูงบางตำแหน่ง (ผู้พิพากษา, อธิบดี, ปลัดกระทรวงฯ) บุคคลผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรายงานบัญชีทรัพย์สินทั้งหมด ทั้งของตนเอง ภริยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตลอดจนรายงานการเสียภาษีต่อ ปปช.

บัญชีนี้ ปปช. จะไม่เก็บเข้าเซฟไว้ดูเล่นแค่จะเปิดผนึกและตรวจสอบความถูกต้องโดยถี่ถ้วน หากมีการแจ้งโดยผิดพลาดและจงใจ หรือปรากฏการเพิ่มพูนของทรัพย์สินอันไม่อาจอธิบายได้ ปปช. จะสอบสวน และสรุปเป็นความเห็นของ ปปช. ในทันที และจะนำมาซึ่งการเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนจากตำแหน่ง และส่งฟ้องศาลเพื่อยึดทรัพย์ต่อไป

มาตรา ๒๙๑ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังต่อไปนี้ มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง

    ๑. นายกรัฐมนตรี

    ๒. รัฐมนตรี

    ๓. สมาชิกสภาผุ้แทนราษฎร

    ๔. สมาชิกวุฒิสภา

    ๕. ข้าราชการเมืองอื่น

    ๖. ผู้บริหารถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

บัญชีตามวรรคหนึ่งให้ยื่นพร้อมเอกสารประกอบ ซึ่งเป็นสำเนาหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา โดยผู้ยื่นจะต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับไว้ในบัญชีและสำเนาหลักฐานที่ยื่นไว้ทุกหน้าด้วย

มาตรา ๒๙๓ เมื่อได้รับบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบแล้ว ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มอบหมายลงลายมือชื่อกำกับไว้ในบัญชีทุกหน้า

บัญชีและเอกสารประกอบตามวรรคหนึ่งของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีให้เปิดเผยให้สาธารชนทราบโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว บัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นห้ามมิให้เปิดเผยแก่ผู้ใด เว้นแต่การเปิดเผยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาพิพากษาคดีหรือการวินิจฉัยชี้ขาด และได้รับการร้องขอจากศาลหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

ไห้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวโดยเร็ว

๕.๒ การกระทำอันเป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่

หากปรากฎเค้ามูลหลักฐาน การกระทำอันเป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ของนักการเมือง และข้าราชการตำแหน่งสำคัญ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้วางขั้นตอนการดำเนินคดีไว้ดังนี้

๕.๒.๑ การกล่าวหา

ประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ หมื่นคน มีสิทธิ์ยื่นข้อกล่าวหาต่อ ปปช. ได้ ฝ่าย ส.ส. เองก็มีสิทธิ์ยื่นข้อกล่าวหาได้เช่นกัน หากเป็นความทุจริตของรัฐมนตรีและ ส.ส. เอง ก็จะยื่นเป็นญัตติเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย เช่นนี้ก็ต้องยื่นเป็นข้อกล่าวหาต่อ ปปช. ไว้ด้วยเช่นกัน

๕.๒.๒ การสอบสวน

เมื่อได้รับคำกล่าวหา และสอบสวนแล้วเห็นว่ามีมูลทุจริต ปปช. ก็จะส่งเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาลงมติถอดถอนจากตำแหน่งต่อไป หากมีมูลคดีอาญา ปปช. ก็จะดำเนินคดีต่อศาลแผนกคดีอาญานักการเมืองใจศษลฎีกาด้วยอีกส่วนหนึ่ง

๕.๓ "วุฒิสภา" กับบทบาท "เปาบุ้นจิ้น"

ระยะการตรวจสอบทั้งหมดที่ลำดับมา มุ่งตรวจสอบไปที่การใช้อำนาจรัฐ ซึ่งยึดกุมอำนาจไว้โดยระบบผู้แทนราษฎรทั่งสิ้น ทำอย่างไรจึงจะเกิดอำนาจตรวจสอบอีกสายหนึ่งที่มาจากประชาชนเช่นกัน คำตอบก็คือ วุฒิสภาที่มาจากการเมืองตั้งของประชาชนนั่นเอง ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้จัดวางไว้โดยลำดับคือ

๕.๓.๑ ที่มา

ให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีจำนวน ๒๐๐ คน มาจากการเลือกตั้งโดยถือจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือก สว. ได้ ๑ คน ผู้ใดได้คะแนนเสียงอยู่ในลำดับของแต่ละจังหวัด ก็จะได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาของจังหวัดนั้น

ผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา ต้องจบปริญญาตรี ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หากเคยเป็น ส.ส ต้องพ้นตำแหน่งมาแล้ว ๑ ปี เป็นอย่างน้อย ถ้าได้เป็น สว. แล้ว จะเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ เว้นแต่จะลาออก และพ้นตำแหน่งมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๑ ปี ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังกำหนดห้ามเป็นสมาชิกวุฒิสภาติดต่อกันอีกด้วย

ทั้งสิ้นสมาชิกวุฒิสภานี้ให้มีวาระดำรงตำแหน่ง ๖ ปี โดยการสมัครรับเลือกตั้งนั้นก็จะไม่มีเหตุหาเสียงใดๆ ทั้งนั้น เพราะไม่มีอำนาจเสนอร่างกฎหมาย หรือจัดตั้งรัฐบาลใดๆ ทั้งสิ้น หวังเพียงให้ประชาชนเลือก "คนดี" มาเป็น "เปาบุ้นจิ้น" เป็นสำคัญ

มาตรา ๑๒๑ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวนสองร้อยคน

ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ และยังมิได้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่

มาตรา ๑๒๓ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้หนึ่งคน การเลือกตั้งให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

ในกรณีที่จังหวัดใดมีสมาชิกวุฒิสภาได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่จะพึงมีได้ในจังหวัดนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

๕.๓.๒ อำนาจหน้าที่

วุฒิสภานี้ให้มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรตรวจสอบทั้งหมด และเป็นผู้พิจารณาถอดถอนข้าราชการสำคัญที้งหมดตามข้อกล่าวหาของ ป.ป.ป.