ทักษะ Coding ฝึกคิดเชิงคำนวณช่วยเด็กไทยอยู่รอดใน ‘สึนามิดิจิทัล’

Facebook
Twitter
Cover

บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์

เมื่อ Coding ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในประเทศไทย มุมมองหลากหลายเกี่ยวกับการ Coding ก็หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกัน ส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องยากและไกลตัว เป็นทักษะขั้นสูงสำหรับบุคคลสายวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าฉากตัวอักษรซับซ้อนยุ่งเหยิงบนจอคอมพิวเตอร์ในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เป็นภาพจำสุดคลาสสิคเมื่อพูดถึง ‘Coding’ แต่ในวันนี้การ Coding ขยับจากจอภาพยนตร์สู่ชีวิตจริงในบทบาทของทักษะจำเป็นของชีวิตศตวรรษที่ 21 ที่เด็กไทยต้องมีเพื่อรับมือ ‘สึนามิดิจิทัล’

Coding
Photo by Ilya Pavlov on Unsplash

สึนามิดิจิทัล คืออะไร ?

18 กันยายนที่ผ่านมา ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กล่าวเตือนให้ทุกคนรับมือ “สึนามิดิจิทัล” คือ ความเปลี่ยนแปลงอันปั่นปวนของโลกจาก Digital Disruption ผลกระทบเหมือนสึนามิลูกใหญ่ที่กำลังจะจู่โจมภายในระยะเวลา 3 – 5 ปีนี้ โดยมี 7 ปัจจัยเสี่ยงจากสึนามิดิจิทัล ดังนี้

  1. Career Migration : โอกาสในของการตกงาน เปลี่ยนสายงานจากการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยี
  2. Jobless Growth : คนตกงานเพิ่ม ตำแหน่งงานน้อย เพราะเศรษฐกิจเติบโตด้วย AI Big Data ไม่จำเป็นต้องจ้างงาน
  3. Skill Divide : การแบ่งคนตามทักษะอย่างชัดเจน ผู้ที่มีทักษะดิจิทัล (High Tech) อยู่รอด ผู้ที่ไม่มีทักษะดิจิทัล (High Touch) อยู่ยาก
  4. Competing for Talents : การแข่งขันอย่างดุเดือดของสถาบันทั่วโลกเพื่อแย่งคนเก่งเข้าไปเรียน
  5. Multistage Life : การเรียนไม่ได้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดเมื่อเริ่มทำงานและใช้ชีวิต แต่เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต
  6. Intellectual Capital Investment : ปัญหาและคนเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด
  7. Career for the Future : การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้เกิดอาชีพแห่งอนาคตมากมาย
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

Coding คืออะไร?

Coding คือ การสร้างชุดคำสั่งด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ Code เพื่อให้คอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมทำงานตามที่ต้องการ กล่าวคือ ทุก ๆ ความเฉลียวฉลาด ความสามารถของเทคโนโลยีที่โลดเล่นอยู่ในโลกดิจิทัลนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวมันเอง แต่มีมนุษย์อยู่เบื้องหลังในฐานะผู้สั่งการผ่านการสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ด้วยภาษาเฉพาะ เช่น C++, PHP และ Java เป็นต้น

q

Coding กับการสร้างกระบวนการคิดในวิทยาการคำนวณ

• ทำความรู้จักวิทยาการคำนวณ (Computer Science)

วิทยาการคำนวณ (Computer Science) เป็นวิชาใหม่ในหลักสูตรการศึกษาไทยที่เปลี่ยนแปลงมาจากวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมของเด็ก ๆ ที่รายล้อมไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 วิชาวิทยาการคำนวณประกอบไปด้วย 3 องค์ความรู้ ได้แก่

(1) การคิดเชิงคำนวณ (Computational thinking)
การฝึกกระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหา เช่น การสร้างสรรค์วิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นลำดับขั้นตอนและมีเหตุผล การย่อยปัญหาเพื่อง่ายต่อการแก้ไข การวิเคราะห์ข้อมูล การใช้จินตนาการคิดด้านนามธรรม เป็นทักษะสำคัญทั้งด้านวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์
(2) ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital technology)
การเรียนรู้เทคนิคของเครื่องมือในเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวัน และประยุกต์ใช้ได้จริง
(3) การรู้เท่าทันสื่อ (Media and information literacy)
การเรียนรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและรับผิดชอบต่อสังคมในโลกไซเบอร์ เช่น การแยกแยะความจริงและความคิดเห็น กฎหมายและลิขสิทธิ์ เป็นต้น
Computing Science

• Coding : ทักษะสำคัญของการคิดเชิงคำนวณ (Computational thinking)

การคิดเชิงคำนวณ (Computational thinking) เป็นองค์ความรู้หนึ่งในสามของวิทยาการคำนวณ (Computer Science) ที่เน้นให้เด็กฝึกคิด เมื่อความคิดเป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง เราทุกคนต้องคิดตั้งแต่ง่ายไปจนซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็น “วันนี้จะกินอะไรดี” “ปิดเทอมนี้จะทำอะไร” “ทำยังไงให้คุณพ่อคุณแม่หายโกรธ” ทุกอย่างต้องใช้กระบวนการคิด แต่พื้นที่ฝึกคิดสำหรับเด็กนั้นน้อยเหลือเกิน ด้วยการเรียนหรือการทดลองด้วยคัมภีร์ที่เจาะจงวิธีการและผลลัพธ์นั้นอาจปิดกั้นโอกาสในการคิดของเด็ก ๆ เพราะวิธีการและคำตอบที่ถูกต้องนั้นไม่ได้มีเพียงอย่างเดียว

Quotation

• การ Coding ฝึกกระบวนการคิดของเด็กอย่างไร ?

เรารู้จักการ Coding ในฐานะภาษาคอมพิวเตอร์หน้าตาซับซ้อนยุ่งเหยิง ยากต่อการทำความเข้าใจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์อย่างเรา ๆ เองที่เป็นผู้คิด ผู้สร้างภาษาเหล่านั้นเพื่อสั่งการให้โปรแกรมต่าง ๆ ทำงานได้ตามต้องการ ดังนั้นการ Coding จึงเป็นผลผลิตของความคิด พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เราต้อง “คิด” ก่อน “Code”

q

การ Coding จะเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้คิด สร้างสรรค์ และลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อเรียนรู้วิธีการที่หลากหลาย รวมถึงพบเจอกับอุปสรรคและเรียนรู้การแก้ปัญหาไปพร้อมกัน โดย Coding สามารถฝึกกระบวนการคิดอย่างรอบด้าน ทั้งการคิดเชิงคำนวณ การคิดเชิงตรรกะ การคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงระบบ รวมถึงทักษะการแก้ปัญหาด้วย

• เด็กเล็ก Coding อย่างไร? ไม่มีคอมฯ Coding ได้ไหม ?

แน่นอนว่าเป้าหมายของการ Coding ไม่ได้เพื่อปูทางให้เด็ก ๆ เติบโตไปเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือ วิศวกรแต่อย่างใด เรากำลังฝึก “วิธีคิด” ให้กับพวกเขา การเรียนการสอน Coding ในเด็กจึงเริ่มต้นด้วยการคิดแก้ไขปัญหาง่าย ๆ โดยใช้สื่อการสอนที่เหมาะสมกับวัย เช่น บัตรคำสั่ง เกม ภาพวาด ดังนั้นการเรียนรู้พื้นฐานการ Coding ลักษณะนี้ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า Coding Unplugged และค่อย ๆ พัฒนาไปสู่การออกแบบและเขียนโปรแกรมอย่างง่าย หรือบูรณาการเป็นโครงงานให้เกิดสนุกสนานและท้าทายเหมาะสมเด็ก ๆ ในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป

q

เมื่อการเรียนการสอน Coding กว้างขวางขึ้น แต่สื่อการเรียนการสอนสำหรับวิชาใหม่นี้ยังมีให้เลือกใช้ไม่มากนัก เนคเทค – สวทช. จึงพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการสอน Coding หรือบอร์ดส่งเสริมการเรียนรู้โปรแกรมมิ่ง “KidBright” สื่อสอน Coding อัจฉริยะช่วยเด็กไทย Code ง่าย คิดสนุก

ซึ่งจะติดตามได้ในตอนต่อไป . . .

ข้อมูลอ้างอิง

(1) กรุงเทพธุรกิจ. (21 กันยายน 2562). เปิด 7 ความเสี่ยง ‘สึนามิดิจิทัล’.
สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/848100
(2) ไทยรัฐออนไลน์. (24 กันยายน 2562). รมว.การอุดมศึกษาฯ เตือน รับมือ 7 ปัจจัยเสี่ยง “สึนามิดิจิทัล”.
สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1667600
(3) ผู้จัดการออนไลน์. (28 ธันวาคม 2561). “วิทยาการคำนวณ” ไม่ได้ยากอย่างที่เข้าใจผิด/ดร.ชลิตา ธัญญะคุปต์.
สืบค้นจาก https://mgronline.com/science/detail/9610000128908
(4) Campus-star. (2561). วิทยาการคำนวณ วิชาใหม่ของนักเรียนไทย เรียนตอนเปิดเทอมใหม่ปีการศึกษา 2561.
สืบค้นจาก https://campus.campus-star.com/education/62881.html
(5) Dek-D’s School. (2560). การคิดเชิงคำนวณ (COMPUTATIONAL THINKING) คืออะไร มาทำความรู้จักกัน.
สืบค้นจาก https://school.dek-d.com/blog/featured/การคิดเชิงคำนวณ/
(6) Thematter. (2562). Coding อยู่ตรงไหนในชีวิตประจำวัน? และจำเป็นแค่ไหนในโลกอนาคต?.
สืบค้นจาก https://thematter.co/brandedcontent/coding-where-coding-next-now-01/83950

บทความที่เกี่ยวข้อง

วันที่เผยแพร่ 1 ตุลาคม 2562 08:30