IT Digest

Volume 1 No 4 (16 August 2004)
By R&D Strategy Development, NECTEC.
Email: digest@nectec.or.th


A biweekly newsletter from NECTEC to information technology leaders in Thailand.

 

เทคโนโลยีไร้สาย
ตอนที่ 1
: จุดกำเนิดของ Wi-Fi (วายฟาย) 

 

            นักพัฒนา Wi-Fi (วายฟาย) หรือเทคโนโลยีบรอดแบนไร้สายระยะสั้นได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนานับแต่วันที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู  ในอดีตเครือข่ายไร้สายยังเป็นเพียงเทคโนโลยีที่ใช้กันในวงแคบ  แต่ในเวลาเพียง 5 ปีมันกลับมีการขยายตัวอย่างน่าพิศวง  โดยเฉพาะความสำเร็จนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา  ทุกวันนี้วายฟายได้คุกคามเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที อาทิ โทรทัศน์ที่ใช้ความสามารถของวายฟาย  เครื่องเล่นซีดี และเครื่องเล่นวีดีโอ และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านอื่นๆ ในอนาคตวายฟายจะทำให้ไม่มีการวางท่อเพื่อวางสายต่างๆ รอบๆ บ้านอีกต่อไป   นอกจากนั้นวายฟายยังสนับสนุนการเติบโตของการเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในบ้าน  เนื่องจากมันเป็นแนวทางที่ง่ายที่สุดที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์หลายเครื่องเข้าด้วยกัน
            ในปีนี้ (2004) อุปกรณ์วายฟาย 10 ล้านชิ้นจะถูกขายรวมกับคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค  นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในปี 2006 จะมีคนจำนวนถึง
100 ล้านคนใช้วายฟาย  และสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน สถานที่ทำงาน วิทยาลัยและโรงเรียนทั่วโลก ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์วายฟายเพื่อเชื่อมต่อสู่อินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย  นอกจากนี้ วายฟายยังมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตตามจำนวนของคอฟฟี่ชอป ท่าอากาศยาน และโรงแรมอีกด้วย
            วายฟายมีจุดกำเนิดขึ้นในปี 1985 เมื่อ
the Federal Communications Commission (FCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการให้บริการโทรคมนาคมของสหรัฐอเมริกา ได้อนุญาตให้สามารถใช้ช่วง/แถบคลื่นความถี่ไร้สายบางคลื่นโดยไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ 
            คลื่นความถี่ที่ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตเหล่านี้ถูกเรียกว่า
garbage bands (ความถี่ 900 MHz, 2.4 GHz และ 5.8 GHz) ได้รับการจัดสรรโดยมีเป้าหมายเพื่อทั้งใช้ในการติดต่อสื่อสารและสิ่งอื่นนอกเหนือจากการติดต่อสื่อสาร เช่น การใช้คลื่นวิทยุในการอุ่นอาหารในเตาอบไมโครเวฟ  ส่วนการใช้คลื่นเพื่อการสื่อสารนั้น เริ่มจากการพัฒนาเพื่อใช้ในการทหาร
            มาตรฐานของเทคโนโลยีไร้สาย  ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี 1988 โดย
Victor Hayes วิศวกรจากบริษัท NCR และ Bruce Tuch จาก Bell Labs ซึ่งขอให้ the Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีไร้สายขึ้น  ดังนั้น IEEE จึงจัดตั้งคณะกรรมการใหม่ขึ้น 1 ชุด โดยมี Victor Hayes เป็นประธาน และเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานของเทคโนโลยีไร้สายขึ้น หรือมาตรฐาน 802.11
            ในระยะต่อมา เพื่อให้มาตรฐานเทคโนโลยีไร้สายมีความสมบูรณ์มากขึ้น  มาตรฐาน 802.11 จึงได้ถูกพัฒนาเป็น 2 มาตรฐาน คือ มาตรฐาน 802.11
b (ซึ่งปฏิบัติการที่ 2.4GHz ) และมาตรฐาน 802.11a (ซึ่งปฏิบัติการที่ 5.8 GHz) และได้รับการยอมรับและถูกยึดถือปฏิบัติโดยสมาชิก IEEE ในเดือนธันวาคม 1999 และ มกราคม 2000 ตามลำดับ
            บริษัทต่างเริ่มพัฒนาอุปกรณ์ไร้สายตามมาตรฐาน
802.11b แต่ืในทางปฏิบัติพบว่ามาตรฐานดังกล่าวมีความยากและซับซ้อน (มีเอกสารถึง 400 หน้า)  ดังนั้นในเดือนสิงหาคม 1999 บริษัท 6 แห่ง ได้แก่ Intersil, 3 Com, Nokia, Aironet (จนกระทั่ง ถูกซื้อโดย Cisco), Symbol และ Lucent จึงได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานเพื่อใช้ร่วมกันเรียกว่า Wireless Ethernet Compatibility Alliance (WECA) โดยมาตรฐาน WECA นี้ยังอยู่บนพื้่นฐานของมาตรฐาน 802.11b และมีหลักการว่าผลิตภัณฑ์จากต่างบริษัทเหล่านี้ต้องสามารถทำงานร่วมกันได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน  อย่างไรก็ตาม มาตรฐาน “WECA compatible” หรือ “IEEE 802.11b compliant”  ยังออกเสียงยากและไม่เป็นที่จดจำของกลุ่มลูกค้า  ดังนั้น WECA จึงถูกตั้งชื่อใหม่เป็น Wi-Fi  
            ขณะนี้ หนึ่งในผู้ครองตลาดวายฟาย ได้แก่ บริษัท
Apple Computer ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อเสียง บริษัท Apple ได้นำอุปกรณ์วายฟายไปรวมอยู่ในคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่ผลิต  และในเดือนกรกฎาคม 1999  Apple ได้แนะนำให้วายฟายเป็นทางเลือกสำหรับคอมพิวเตอร์ ibook รุ่นใหม่ 
ภายใต้ยี่ห้อ AirPort ซึ่งนับเป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ของเครือข่ายไร้สาย  การก้าวนำของ Apple ทำให้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายอื่นๆ ทำตามอย่างเร่งด่วน  และทำให้วายฟายเริ่มเป็นที่นิยมของผู้บริโภคอย่างแพร่หลายในปี 2001 
            วายฟายเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการกำหนดมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในกลุ่มผู้ค้าหรือผู้ผลิตสามารถสร้างตลาดได้  ประสบการณ์เรื่องการกำหนดมาตรฐานนี้ำถูกนำไปใช้เป็นกลยุทธ์ของการพัฒนาเืทคโนโลยี
WiMax ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไร้สายระยะไกลเช่นกัน โดยผู้ขายอุปกรณ์ WiMax ทั้งหลายพยายามผลักดันให้มีการกำหนดมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแบบเดียวกับวายฟาย
(โปรดติดตาม
“เทคโนโลยีไร้สาย ตอนที่ 2: WiMax อีกหนึ่งเทคโนโลยีไร้สาย” ฉบับหน้า)

 

ที่มา: The Economist (Jun 10th 2004)
https://www.economist.co.uk/science/tq/displayStory.cfm?story_id=2724397

 

แบตเตอร์รี่พลังงานแสงอาทิตย์

 

เซลล์แสงอาทิตย์ไม่ใช่เรื่องใหม่  หากแต่การทำเพื่อให้เซลล์แสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานหรือแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักเบา  เก็บพลังงานได้มาก  รวมทั้งมีราคาถูกนับเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง   ปัจจุบันบริษัท  Konarka Technology ในประเทศสหรัฐอเมริกากำลังพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์แบบใหม่ที่มีขนาดบาง  น้ำหนักเบา  มีความยืดหยุ่น  และมีประสิทธิภาพมากขึ้น  คุณสมบัติดังกล่าวนี้ทำให้เราสามารถติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ได้ทุกแห่งไม่ว่าจะในคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค  โทรศัพท์มือถือ  รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ไฟฟ้า หรือบนหลังคาบ้านเพื่อเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้า
           ในอดีตนั้นการผลิตพลังงานด้วยเซลล์แสงอาทิตย์มีต้นทุนแพงกว่าการผลิตไฟฟ้าถึง 4 ถึง 10 เท่า  เนื่องจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบเดิมนั้นทำจากซิลิกอนซึ่งหนาถึง 15 เซนติเมตร  ด้วยปัจจัยด้านต้นทุนและความไม่สะดวกในเรื่องของขนาดที่ใหญ่โต  วัสดุหลายอย่างจึงถูกนำมาทดลองเพื่อใช้แทนซิลิกอน และในต้นทศวรรษ 1990 นักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ก็ประสบความสำเร็จในการผสมพลาสติกโพลีเมอร์กับ
buckyballs เพื่อผลิตแผ่นฟิล์มที่ทำหน้าที่ได้เหมือนเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งเรียกว่า photovoltaic film  และต่อได้ถูกนำไปทดลองผลิตในระดับอุตสาหกรรมโดยบริษัท Siemens   อย่างไรก็ตามบริษัท Konarka Technology ไม่ได้ใช้เทคนิคเดียวกับบริษัท Siemens  แต่กลับใช้ประจุไททาเนียมไดออกไซด์ที่อยู่ในอิเล็กทรอไลต์ซึ่งฝังอยู่ในแผ่นฟิล์มพลาสติกเป็นแหล่งกำเนิดพลังงาน  นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายคาดหวังว่าในอนาคตจะสามารถผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดจิ๋ว (nano solar cells) ที่สามารถพ่นไปบนวัสดุต่างและใช้เป็นแหล่งกำเนิดพลังงาน  เซลล์แสงอาทิตย์ขนาดจิ๋วนี้สามารถดักจับพลังงานแสงอาทิตย์ได้ประมาณร้อยละ 10 ของแสงที่ผ่านเข้ามา
           นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่นาโนเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะยุคที่น้ำมันกำลังมีราคาแพงทั่วโลก  ความท้าทายอยู่ที่ว่าเราจะสามารถสร้างหรือนำพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่มากมายมาใช้อย่างไร  ในอนาคตเซลล์แสงอาทิตย์จะเป็นมากกว่าการเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าในบ้านอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน  อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากหลายชนิดที่อยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ  กล้องดิจิทัล เป็นอุปกรณ์ที่ต้องการพลังงานแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าในปัจจุบัน ดังนั้นจึงนับว่าเป็นอีกโอกาสที่สามารถประยุกต์แบตเตอร์รี่แสงอาทิตย์เหล่านี้เข้าไปในอุปกรณ์ดังกล่าว    นอกจากนี้ในอนาคตยังมีความเป็นไปได้ว่าแบตเตอรี่ขนาดเล็กจะถูกนำไปใช้กับบัตรสมาร์ตการ์ดเพื่อทำให้สมาร์ตการ์ดสามารถมีจอแสดงผลในตัวเองอีกด้วย   

 

ที่มา:  Solar-Cell Rollout. MIT Technology Review (July/August 2004)
https://www.technology review.com/articles/04/07fairley0704.asp?p=0
Battery Innovations: The Current Scene. EPower Bureau (Oct. 2003)

 

เผยต้นเหตุของปัญหาที่เกิดกับระบบความปลอดภัยในระบบคอมพิวเตอร์

 

ข้อมูลจากรายงานสำรวจการพัฒนาลินุกซ์ (Evans Data’s New Summer 2004 Linux Development Survey) ของบริษัทอีวานส์ดาต้า ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยตลาดพบว่า ร้อยละ 92 ของนักพัฒนาระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (กลุ่มตัวอย่าง) เห็นว่าระบบปฏิบัติการลินุกซ์ไม่เคยติดไวรัสแม้แต่ครั้งเดียว ร้อยละ 78 ของกลุ่มตัวอย่างชี้ว่าไม่เคยถูกแฮกค์ หรือเจาะระบบ และน้อยกว่าร้อยละ 7 เคยถูกแฮกค์อย่างน้อยสามครั้งหรือมากกว่า
            รายงานฉบับนี้ ยังระบุว่าระบบปฏิบัติการลินุกซ์มีความปลอดภัยดีกว่าระบบปฏิบัติการอื่นๆ รวมทั้งไมโครซอฟท์วินโดว์สด้วย  เหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะลินุกซ์เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สจึงทำให้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดที่พบอยู่ตลอดเวลา 
            ผู้บุกรุกที่ส่วนใหญ่เข้าขโมยข้อมูลสำคัญในระบบคอมพิวเตอร์จำนวนมากล็อกออนในฐานะผู้ใช้คนหนึ่งและหลังจากนั้นจะพยายามค้นหาวิธีเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้คนอื่นบนระบบดังกล่าว คนหรือบุคลากรในองค์การจึงเป็นปัจจัยหลักของการก่อให้เกิดการถูกบุกรุกเครือข่าย  นอกจากนั้น ข้อบกพร่องของโครงสร้างของระบบปฏิบัติการ
(Operating System : OS) ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งในการบ่อนทำลายระบบรักษาความปลอดภัย ปัจจุบันเกือบทุกโอเอสมีช่องโหว่ และผู้บุกรุกจะอาศัยช่องโหว่เหล่านี้เจาะเข้าในระบบได้  ดังนั้น แม้ว่าจะมีระบบป้องกันการลักลอบเข้าสู่ระบบหรือ “ไฟร์วอลล์” (firewall) แล้วก็ตาม แต่ในทางเทคนิคแล้วคอมพิวเตอร์ก็ยังมีโอกาสถูกเจาะระบบได้
            สำหรับประเทศไทยเราก็มีศูนย์ประสานงานการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ประเทศไทย
(Thailand Computer Emergency Response Team: ThaiCERT)  ซึ่งจัดตั้งโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)  ศูนย์ฯ มีบทบาทหลักคือการประสานงานกับบุคลากรด้านไอทีขององค์กรต่างๆ ที่ต้องการเพิ่มความมั่นคงของระบบในองค์กร  วางแผนป้องกันการบุกรุกและภัยจากไวรัส  สร้างวินัยการดูแลหรือใช้งานระบบเครือข่ายและตรวจสอบช่องโหว่ของโปรแกรม ซึ่งอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเจาระบบได้ อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาความปลอดภัยของระบบที่ดีที่สุดคือ ทั้งผู้ใช้และผู้ดูแลระบบจะต้องสร้างระเบียบวินัยและพฤติกรรมในการใช้งานระบบของตนเองอย่างละเอียดรอบคอบ ใช้อย่างมีความรู้หรือใช้งานอย่างถูกวิธี  ปฏิบัติตามกฎระเบียบของการใช้เครือข่ายในองค์กรอย่างเคร่งครัด มีการเตรียมพร้อมที่ดีและไม่ประมาทจะเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งต่อไปในอนาคต

 

ที่มา: https://www.computerweekly.com/articles/article.asp?liArticleID=132440&liFlavourID=1
https://www.evansdata.com/n2/pr/releases/Linux04_02.shtml
https://www.police.go.th/policenews/show.php?news_id=1&cat=IT&id=1

 

IT Digest เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำขึ้นเผยแพร่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หากท่านสนใจเป็นสมาชิก หรืออ่านบทความย้อนหลัง โปรดติดต่อเราได้ที่เว็บไซต์  https://digest.nectec.or.th/ (อยู่ระหว่างจัดทำ)
ที่ปรึกษา: ทวีศักดิ์ กออนันตกูล และ ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล   บรรณาธิการบริหาร: กัลยา อุดมวิทิต
กองบรรณาธิการ: ถวิดา มิตรพันธ์, รัชราพร นีรนาทรังสรรค์, จิราภรณ์  แจ่มชัดใจ, พรรณี  พนิตประชา, อภิญญา  กมลสุข  และ จินตนา พัฒนาธรชัย 
สงวนลิขสิทธิ์ (c) 2547 โดยเนคเทค