IT Digest

Volume 1 No 5 (1 September 2004)
By R&D Strategy Development, NECTEC.
Email: digest@nectec.or.th


A biweekly newsletter from NECTEC to information technology leaders in Thailand.

 

เทคโนโลยีไร้สาย
ตอนจบ: WiMax อีกหนึ่งเทคโนโลยีไร้สาย

 

WiMax เป็นระบบสื่อสารไร้สายที่สามารถรับส่งข้อมูลได้จำนวนมากถึง 70 เมกกะบิตต่อวินาที และสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างถึง 50 ตารางกิโลเมตร  ในขณะที่ Wi-Fi ครอบคลุมพื้่นที่เพียง  50 ตารางเมตร 
            WiMax ถูกคาดหวังว่าจะมีการนำใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนา โดยนำมาใช้เป็นโพรโทคอลสำหรับการส่งสัญญาณเสียงรวมทั้งสื่อในรูปแบบอื่นๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต (voice-over-internet-protocol) แทนการส่งสัญญาณผ่านสายทองแดง   เทคโนโลยี WiMax จะช่วยให้การติดต่อระยะไกลๆ มีราคาถูกลง เนื่องจากผู้ประกอบการในอนาคตสามารถเปลี่ยนจากการวางสายทองแดงมาเป็นการติดตั้งหอสัญญาณ WiMax แทน
            มีการคาดการณ์ว่า  หาก WiMax ถูกใช้อย่างแพร่หลายแล้ว  อุปกรณ์ต่างๆ ที่เคยอยู่กับที่จะถูกเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่  และสามารถติดต่อกันง่ายขึ้น   ซึ่งในเรื่องนี้ผู้นำในการผลิตชิปแนวหน้าของโลก เช่น บริษัท Intel ก็ให้การสนับสนุนและเริ่มมีแผนที่จะผลิตชิปที่เป็น WiMax เพื่อรองรับมาตรฐานของคอมพิวเตอร์ Laptop ที่ดีที่สุดในอนาคตซึ่งคาดว่าจะเริ่มในปี 2006-2007
           อย่างไรก็ตาม มีบางคนไม่เชื่อว่าเทคโนโลยี WiMax จะถูกนำมาใช้กันอย่างกว้่างขวางในอนาคตเหมือนอย่างที่บริษัท Intel เชื่อมั่น  ตัวอย่างเช่น  Mr. Brain Modoff ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์จาก Deutsche Bank เห็นว่าเทคโนโลยี WiMax จะไม่ขยายตัวมากนักในอนาคต  เนื่องจากผู้ขายอุปกรณ์โทรคมนาคมบางรายอาจจะไม่ให้การสนับสนุน  เพราะเห็นว่า WiMax จะแย่งส่วนแบ่งผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการขายอุปกรณ์สำหรับโทรศัพท์ในยุคที่ 3 (third-generation: 3G)  นอกจากนั้น ยังมีผู้ผลิตอุปกรณ์บางรายเห็นว่า WiMax เป็นเพียงนิยายวิทยาศาสตร์   เนื่องจากเมื่อ WiMax ได้รับการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องแล้ว จะส่งผลให้มาตรฐานบรอร์ดแบนด์ 802.20 ที่กำลังถูกพัฒนานั้นตายไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
          ดังนั้น จึงน่าจับตามองว่า เทคโนโลยี WiMax นั้นจะเดินไปในทิศทางใด  มัีนจะเพียงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและตายไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากขาดการสนับสนุนจากผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม หรือว่าจะถูกใช้เป็นอีกช่องทางที่นำมาใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารในระบบไร้สาย

 

ที่มา: https://www.economist.co.uk/business/displayStory.cfm?story_id=2502742

 

 เทคโนโลยี e-ink

 

ปัจจุบันนักวิจัยจากบริษัท Phillips Emerging Display Technologies มหาวิทยาลัย Limburgs ของประเทศเนเธอร์แลนด์ และบริษัท E-Ink ได้ร่วมกันพัฒนา e-ink  ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีอุปกรณ์แสดงผลหมึกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics ink) กับเทคโนโลยีอุปกรณ์แผ่นสัมผัส (Touch panel) เพื่อสร้าง Electronic Drawing Tablet ซึ่งมีลักษณะคล้ายกระดาษมากขึ้น
            เทคโนโลยีสำคัญที่นำมาประยุกต์ใช้ในการงานวิจัยชิ้นนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง คือ Electronics ink คือไมโครแคปซูลขนาดเล็กเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมจำนวนมาก โดยในไมโครแคปซูลแต่ละเม็ดจะประกอบด้วยอนุภาค (particle) สีขาวที่เป็นประจุไฟฟ้าบวก และ อนุภาคสีดำที่เป็นประจุไฟฟ้าลบ ลอยอยู่ในของเหลวใส เมื่อประจุไฟฟ้าขั้วลบส่งผ่านไปยังตัวนำไฟฟ้า อนุภาคสีขาวจะเคลื่อนที่ไปบนไมโครแคปซูล ซึ่งจะแสดงผลให้แก่ผู้ใช้ โดยทำให้แผ่นผิวของแผ่นแสดงผลเป็นสีขาว ส่วนอนุภาคสีดำจะถูกดึงลงไปยังส่วนล่างของไมโครแคปซูลและจะไม่แสดงผล  หากดำเนินการในทางกลับกันโดยปล่อยประจุไฟฟ้าขั้วบวก  อนุภาคสีดำจะแสดงผลในส่วนบนของไมโครแคปซูล ทำให้แผ่นผิวแสดงผลเป็นสีดำ
           สำหรับส่วนที่สองคือ ส่วนแสดงผลนั้น ตัวหมึกจะถูกพิมพ์ไปบนแผ่นฟิลมพลาสติกซึ่งจะเคลือบด้วยแผงวงจรไฟฟ้า โดยแผงวงจรไฟฟ้าจะสร้างรูปแบบของพิกเซลที่จะถูกควบคุมโดย display driver  นอกจากนี้ไมโครแคปซูลซึ่งลอยใน carrier medium ยังสามารถทำให้ E-ink ถูกพิมพ์โดยใช้กระบวนการพิมพ์ในรูปแบบเดิม ในพื้นผิวอื่นๆ เช่นกระจก พลาสติก ผ้า และกระดาษ
           ที่สำคัญ e-ink ยังสามารถแสดงผลภาพได้แม้จะมีกระแสไฟฟ้าน้อย หรือสามารถแสดงผลได้ด้วย Low light ทำให้ไม่จำเป็นต้องอาศัย back light ในการแสดงผล  เท่ากับช่วยยืดอายุของแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ได้         
           นอกจากนั้น เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานที่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิค Free hand เช่น การวาดรูปการ์ตูน หรือการเพิ่มหมายเหตุ (annotation) ในเอกสารได้ และยังสามารถปรับใช้เป็นจอแสดงผลสำหรับอุปกรณ์ eReader, PDA และเครื่องโทรศัพท์มือถือด้วย

 

ที่มา : 1) Technology Review  https://www.technologyreview.com/articles/04/07/rnb_072007.asp?trk=nl
 2) The Society for Information Display (SIDS) International Symposium 2004
e-Ink Technology roadmap https://www.eink.com

 

“ฟาร์มไฮเทค” โฉมหน้าใหม่ทางการเกษตร

           

มหาวิทยาลัยรัฐแคนซัสได้เปิดเผยถึงการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาประยุกต์ใช้กับเกษตรกรรมในอนาคตโดยได้ทำการทดสอบการทำงานของรถแทรกเตอร์ซึ่งได้รับการติดตั้งระบบนำทางด้วยการใช้เทคโนโลยีผ่านดาวเทียม (Global Positioning Systems: GPS) ขึ้นที่เมือง Salina  รถแทรกเตอร์อัจฉริยะนี้สามารถทำงานได้เองอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีคนขับ  ระบบนำทางจะช่วยให้รถสามารถเคลื่อนที่ไปรอบๆ แปลงเกษตร  รวมทั้งหยอดเมล็ดได้ตรงตามตำแหน่งที่ต้องการ ซึ่งช่วยให้ลดการสูญเสียพื้นที่และลดมลภาวะอีกด้วย  นอกจากนั้น ระบบการนำทางนี้ยังช่วยให้รถแทรกเตอร์เคลือนที่ไปตามแนวระยะทางที่เราตั้งไว้และสามารถบอกตำแหน่งที่ต้องการได้ เนื่องจากระบบพิกัด (Coordinate System) มีความถูกต้องแม่นยำสูง และที่สำคัญยังช่วยลดความซ้ำซ้อนจากระบบเดิมด้วย  ผลการทดสอบรถอัจฉริยะดังกล่าวนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ผลิต อีกทั้งยังสนใจเข้าร่วมทดสอบระบบเป็นจำนวนมาก 
            อาจกล่าวได้ว่า การนำเทคโนโลยีที่นำระบบ GPS มาใช้กับการเกษตรนี้กำลังเป็นที่สนใจและพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในวงการวิศวกรรมการเกษตร  เนื่องจากเทคโนโลยีดาวเทียมสามารถส่งข้อมูลที่รวดเร็วมีความถูกต้องสูง  ช่วยลดความคลาดเคลื่อนในการทำงานเพราะสามารถป้อนคำสั่งให้ปฏิบัติงาน ซึ่งโปรแกรมจะคำนวณระยะนำทางและดำเนินการหมุนกลับรถแทรกเตอร์ได้อย่างแม่นยำ  ประหยัดสารเคมี ประหยัดพลังงานและเวลา ช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตเทคโนโลยี GPS จะเข้ามามีบทบาทและควบคุมการดำเนินธุรกิจและการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยและอาจไม่ต้องพึ่งพาแรงงานจากมนุษย์อีกต่อไป

 

ที่มา : https://agriculture.about.com/library/weekly/aa081702a.htm

 

IT Digest เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำขึ้นเผยแพร่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หากท่านสนใจเป็นสมาชิก หรืออ่านบทความย้อนหลัง โปรดติดต่อเราได้ที่เว็บไซต์  https://digest.nectec.or.th/ (อยู่ระหว่างจัดทำ)
ที่ปรึกษา: ทวีศักดิ์ กออนันตกูล และ ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล   บรรณาธิการบริหาร: กัลยา อุดมวิทิต
กองบรรณาธิการ: ถวิดา มิตรพันธ์, รัชราพร นีรนาทรังสรรค์, จิราภรณ์  แจ่มชัดใจ, พรรณี  พนิตประชา, อภิญญา  กมลสุข  และ จินตนา พัฒนาธรชัย 
สงวนลิขสิทธิ์ (c) 2547 โดยเนคเทค