IT Digest

Volume 1 No 9 (1 November 2004)
By R&D Strategy Development, NECTEC.
Email: digest@nectec.or.th


A biweekly newsletter from NECTEC to information technology leaders in Thailand.

 

ไมโครซอฟต์... เปิดมิติใหม่ของโอเพนซอร์ส

 

เมื่อเดือนมกราคม 2546 บริษัท ไมโครซอฟต์ ได้เปิดดำเนินโครงการ Microsoft “shared source” program ขึ้น  โดยอนุญาตให้หน่วยงานของภาครัฐ สามารถเข้าไปดูและศึกษาพิมพ์เขียวของซอฟต์แวร์ (Software blueprint) ซึ่งดำเนินการวิจัยและพัฒนาโดยไมโครซอฟต์ (แต่ไม่อนุญาตให้นำไปแก้ไข/พัฒนาได้)  ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากกระแสของซอฟต์แวร์แบบรหัสเปิด (open source software) ที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมอย่างเพิ่มขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการรหัสเปิดอย่างเช่นลินุกซ์ (Linux System) และระบบซอฟต์แวร์บริหารสำนักงานแบบรหัสเปิด อย่างเช่น โอเพนซ์ออฟฟิศ (Open Office) เป็นต้น
           ไมโครซอฟต์ได้เริ่มต้นโครงการดังกล่าวด้วยการเปิดเผย source code ของระบบปฏิบัติการวินโดส์ (Windows) เช่น Windows Server 2003, Windows XP, Windows 2000 และ Windows CE.NET ให้กับหน่วยงานของภาครัฐจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ประมาณ 30 หน่วยงาน เช่น ประเทศรัสเซีย  ประเทศจีน  ประเทศนอร์เวย์  กลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกในสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (the NorthAtlantic Treaty Organization: NATO)  ประเทศสหรัฐอเมริกา  และสหราชอาณาจักร เป็นต้น ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐบาลของสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการและศึกษา source code ของโปรแกรม office 2003
           ต่อมา (ปลายเดือนกันยายน 2547) ไมโครซอฟต์ได้ขยายโครงการ share source เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ หรือองค์การระหว่างประเทศสามารถเข้าถึง source code และเปิดโอกาสให้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 60 หน่วยงาน หน่วยงานเหล่านั้นสามารถเลือกที่จะดู หรือศึกษา source code ของซอฟต์แวร์ออฟฟิศเวอร์ชั่นล่าสุด (Office 2003) เช่น โปรแกรม outlook e-mail, Microsoft word, Excel spreadsheet application ได้   
          
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้ไมโครซอฟต์ขยายโครงการนี้ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนหลายๆ หน่วยงานทั่วโลก มีความสนใจที่จะเปลี่ยนระบบปฏิบัติการที่ใช้อยู่ภายในหน่วยงานไปเป็นระบบปฏิบัติการแบบรหัสเปิดมากขึ้น  เนื่องจากเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการจัดหาระบบซอฟต์แวร์แบบรหัสเปิดมาใช้มีราคาถูกกว่าระบบซอฟต์แวร์แบบปิดมาก ตลอดจนการพัฒนา source code และการปรับปรุง source code อย่างเสรี  ทำให้ซอฟต์แวร์แบบรหัสเปิดมีความปลอดภัยสูง
           ด้วยเหตุนี้ ไมโครซอฟต์จึงพยายามชักจูงให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน เชื่อว่าบริษัทไมโครซอฟต์มิได้ซ่อนความลับ หรือการเก็บข้อมูลลับของหน่วยงานในซอฟต์แวร์ หรือ source code และต้องการชี้ให้เห็นว่า การใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความปลอดภัย
           ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทในค่ายของโอเพนซอร์สก็เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวไปในทางธุรกิจเช่นกัน  เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท Redhat เริ่มเคลื่อนตัวจากการพัฒนาเพียงซอฟต์แวร์รหัสเปิดมาสู่ซอฟต์แวร์เพื่อการค้ามากขึ้น  โดยออกเวอร์ชั่นทางการค้าในชื่อ RHEL คู่กับเวอร์ชันรหัสเปิดชื่อ Fedora พร้อมกัน  จะเห็นว่าการปรับตัวดังกล่าวมีประโยชน์ในเชิงธุรกิจแก่บริษัทและขณะเดียวกันก็ยังรักษากิจกรรมที่สนับสนุนซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สไปพร้อมกัน  ย่างไรก็ดีสำหรับทิศทางในอนาคตคงต้องติดตามกันต่อไปว่ากลุ่มบริษัทโอเพนซอร์สอื่นๆ จะมีการปรับตัวอย่างไร

 

ที่มา: Windows IT Pro https://www.winnetmag.com/windowspaulthurrot/Article/ArticleID/43983/windowspaulthurrott.html
MIT Technology Review https://www.technologyreview.com/articles/04/09/ap_092004.asp?trk=nl

 

เซลล์เชื้อเพลิงพลังงาน (Powers Fuel Cells)

 

ในปัจจุบัน เซลล์เชื้อเพลิง หรือ Fuel Cells เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในฐานะที่เป็นแหล่งพลังงานสะอาด ำหรับหลักการทำงานของเซลล์เชื้อเพลิงคือการเปลี่ยนพลังงานเคมีไปเป็นพลังงานไฟฟ้า  ปัจจุบันการใช้งานของเซลล์เชื้อเพลิงมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น แต่ยังแพร่หลายมาถึงการใช้งานในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เครื่องPDA และโทรศัพท์มือถือ โดยนำมาใช้แทนที่แบตตเตอรี่แบบ lithium ion ทั้งนี้เนื่องจากองค์ประกอบหลักที่ใช้ในเซลล์เชื้อเพลิงเช่น methanol สามารถให้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่าแบตเตอรี่แบบ lithium ion
           
เซลล์เชื้อเพลิงมีลักษณะการทำงานคล้ายกับแบตเตอรี่ นั่นคือ ทั้งคู่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากกระบวนการเคมีไฟฟ้า  ทั้งสองระบบมีขั้วอาโนด (anode) และขั้วคาโทด (cathode) ซึงถูกแยกจากกันด้วยสารอิเล็กโทรไลต์ (electrolyte) เซลล์เชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างไฮโดรเจนกับออกซิเจน ทั้งนี้แหล่งพลังงานของเซลล์เชื้อเพลิงไม่จำกัดอยู่เฉพาะไฮโดรเจนบริสุทธ์เท่านั้น  แต่ยังสามารถใช้วัตถุดิบที่มีไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบหลักมาเป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย
           
สำหรับการทดลองนำเซลล์เชื้อเพลิงมาใช้กับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คนั้น ขณะนี้บริษัทของญี่ปุ่นเช่น NEC, Hitachi และ Toshibaได้ทดลองนำแบตเตอรี่ต้นแบบ (prototype) ชนิด Direct Methanol Fuel Cell (DMFC) มาทดสอบกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค   แบตเตอรี่แบบ DMFC ของ NEC ใช้ methanol เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า แบตเตอรี่ต้นแบบนี้ ประกอบด้วยตลับ (cartridge) ที่มีขนาด 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งใช้บรรจุเชื้อเพลิง methanol และมีความหนาแน่นของพลังงานเท่ากับ 70 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร NEC วางแผนที่จะขายเซลล์เชื้อเพลิงสำหรับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คประมาณปี 2007
           
เมื่อไม่นานมานี้นักประดิษฐ์ชาวญี่ปุ่นจากสถาบัน Materials and Energy Research Institute Tokyo (MERIT) ได้รายงานว่า ขณะนี้กำลังทำการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงสำหรับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คแบบ Direct Borohydride Fuel Cell (DBFC)   เซลล์เชื้อเพลิงชนิด DBFC นี้คาดว่าจะวางจำหน่ายได้ในช่วงต้นปี 2006 ทั้งนี้นักวิจัยของ MERIT กล่าวเพิ่มเติมว่าเทคโนโลยี DBFC มีราคาถูกกว่าชนิด DMFC มีขนาดกะทัดรัดกว่า และมีประสิทธิภาพกว่าเทคโนโลยี DMFC ที่บริษัทญี่ปุ่นอื่นๆกำลังพัฒนาอยู่
           
เซลล์เชื้อเพลิงแบบ DBFC ที่ MERIT วิจัยนี้ใช้สารละลายของ sodium borohydride เป็นเชื้อเพลิงแทนmethanol (ที่ใช้ในเซลล์เชื้อเพลิงแบบ DMFC) นักวิจัยของ MERIT กล่าวว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยใช้สารละลายประเภท borohydride นั้น  มีข้อได้เปรียบทางด้านการจัดเก็บเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเซลล์เชื้อเพลิง กล่าวคือ เมื่อ sodium borohydride ถูกละลายในสารละลาย alkaline ที่มีความเข้มข้นสูงสุดที่ 10%  สารนี้สามารถถูกเก็บไว้ได้ในตลับซึ่งมีขนาดกว้าง 80 มิลลิเมตร ยาว 84.6 มิลลิเมตร และสูง 3 มิลลิเมตร โดยจะสามารถผลิตพลังงานได้ 20 วัตต์ และยังกล่าวอีกว่า เชื้อเพลิงจาก borohydride มีความปลอดภัย สามารถทำงานได้ที่อุณหภูมิต่ำ และสามารถให้ประจุไฮโดรเจนในระดับที่สูง นอกจากนี้ DBFC ยังทำงานได้ดีกว่าและถูกกว่าเซลล์เชื้อเพลิงชนิดอื่นปัญหาที่ยังคงมีอยู่
           
ถึงแม้ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงได้มาถึงจุดที่จะสามารถผลิตเป็นสินค้าออกวางจำหน่ายได้แล้ว  แต่การใช้เซลล์เชื้อเพลิงเพื่อเป็นแบตเตอรี่ของคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คยังคงมีประเด็นอีกหลายข้อที่ต้องพิจารณา ดังต่อไปนี้
            -
พลังงานที่ผลิตได้จากเซลล์เชื้อเพลิง จะมีประสิทธิภาพที่เพียงพอหรือไม่กับการใช้งานเป็นเวลานานหลายชั่วโมงของคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คในปัจจุบัน
            -
การเติมหรือบรรจุพลังงานใหม่อาจจะทำได้ไม่ง่ายเหมือนแตเตอรี่แบบ lithium ion หรือไม่  เนื่องจากแบตเตอรี่แบบ lithium ion ที่ใช้ในปัจจุบันนั้นเพียงแค่เสียบปลั๊กไฟก็ใช้ได้
            -
ความปลอดภัยในการใช้เซลล์เชื้อเพลิงบนพาหนะสาธารณะเช่น เครื่องบิน หรือ รถประจำทาง
            -
การกำหนดมาตรฐานของตลับเซลล์เชื้อเพลิง เมื่อต้นปี 2004 The International Electrotechnical Commission (IEC) ได้ตั้งกลุ่มเพื่อทำการศึกษาและกำหนดมาตรฐานสำหรับการใช้ตลับเซลล์เชื้อเพลิงในเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยหวังที่จะให้มีมาตรฐานสากลภายในปี 2007
           
จากประเด็นต่างๆตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้เราต้องติดตามกันต่อไปว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีการนำเซลล์เชื้อเพลิงไปใช้กับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คได้จริงหรือไม่ หรือว่าจะเป็นแค่เทคโนโลยีที่น่าสนใจ แต่ยังไม่เหมาะที่จะเอามาใช้ประโยชน์ได้จริง

 

ที่มา: PC World https://www.pcworld.com/news/article/0,aid,118376,00.asp
PC World https://www.pcworld.com/news/article/0,aid,118198,00.asp
TechnewsWorld https://www.technewsworld.com/story/37724.html

 

อุปกรณ์ควบคุมในรถยนต์ระบบไฮเทค

 

บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ร่วมกับบริษัท IBM พัฒนาระบบนำทาง (Navigator) แบบสั่งงานด้วยเสียง (แบบจดจำคำพูด) สำหรับรถยนต์ของฮอนด้ารุ่น Acura RL, cura MDX, Honda Odyssey ซึ่งจะจัดจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในปี 2005
           
บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ เป็นบริษัทรถยนต์รายแรกที่พัฒนาระะบการนำทางผ่านทางเสียงแบบโต้ตอบได้ ระบบดังกล่าวนี้เป็นระบบที่ควบคุมด้วยเสียง ViaVoice โดยระบบนี้จะจดจำเสียงพูดของมนุษย์เพื่อนำมาใช้กับระบบนำทางในรถยนต์ โดยผู้ขับขี่สามารถใช้การสื่อสารด้วยเสียงพูดติดต่อกับอุปกรณ์นำทางที่ติดตั้งมา สำหรับเทคโนโลยีหลักที่ใช้เพื่อการพัฒนาระบบนำทางแบบสั่งด้วยเสียงคือเทคโนโลยีจดจำเสียงพูด (Voice Recognition)
          
ในการทำงานนั้น ผู้ขับรถเพียงแต่ระบุชื่อถนนและชื่อเมืองด้วยการสั่งงานผ่านเสียงพูด จากนั้นระบบจะทำการประมวลผลโดยการสังเคราะห์เสียงออกมาเป็นผลลัพธ์เพื่อค้นหาเส้นทางที่เหมาะสม โดยในการออกแบบโปรแกรมครั้งนี้ทีมวิจัยของ IBM และบริษัท ฮอนด้า ได้ประมวลผลเสียงพูดในระบบดิจิตอลที่ได้จากระบบรุ่นก่อนผนวกกับการเพิ่มเสียงบันทึกเข้าไปในระบบอีกกว่าร้อยเสียง เพื่อให้ระบบสังเคราะห์เสียงแบบใหม่สามารถจดจำลักษณะเสียงต่างๆ ของมนุษย์ได้มากขึ้น และระบบสามารถสื่อสารกับผู้ขับรถได้อย่างเป็นธรรมชาติ ระบบใหม่นี้จะรองรับคำสั่งในรูปแบบเสียงพูดได้ประมาณ 700 คำสั่ง พร้อมจัดเก็บข้อมูลรายชื่อถนนหลักและถนนย่อยในเมืองต่างๆ ไว้กว่า 1.7 ล้านเส้นทางทั่วอเมริกาเหนือ
           
ระบบนำทางนี้ยังถูกออกแบบให้สามารถติดต่อกับระบบเครื่องเสียงของรถยนต์ได้อีกด้วย ซึ่งช่วยให้ผู้ขับรถสามารถได้ยินเสียงผ่านทางลำโพงในรถยนต์ อีกทั้งระบบนี้ยังสามารถช่วยควบคุมระบบเสียงหรือการเล่นแผ่น DVD และระบบปรับอากาศได้อีกด้วย นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังมีข้อมูลร้านอาหารทั่วประเทศ ซึ่งผู้ขับรถสามารถขอดูรายชื่อร้านอาหารและรายการอาหารที่อยู่ใกล้เคียงได้ด้วย นอกจากความสามารถในการจดจำเสียงพูดได้เป็นอย่างดีแล้วยังมีระบบรายงานสภาพการจราจรแบบ real-time และสามารถสื่อสารข้อมูลต่างๆ ระหว่างตัวแทนจำหน่ายรถยนต์กับผู้ขับรถโดยการเชื่อมต่อระบบเข้ากับโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยที่ผู้ขับขี่สามารถสั่งงานผ่านทางโทรศัพท์ได้ โดยที่ไม่ต้องละสายตาจากการจราจรเบื้องหน้า

 

ที่มา: https://www.research.ibm.com/resources/news/20040901_speech.html

 

IT Digest เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำขึ้นเผยแพร่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หากท่านสนใจเป็นสมาชิก หรืออ่านบทความย้อนหลัง โปรดติดต่อเราได้ที่เว็บไซต์  https://digest.nectec.or.th/ (อยู่ระหว่างจัดทำ)
ที่ปรึกษา: ทวีศักดิ์ กออนันตกูล และ ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล   บรรณาธิการบริหาร: กัลยา อุดมวิทิต
กองบรรณาธิการ: ถวิดา มิตรพันธ์, รัชราพร นีรนาทรังสรรค์, จิราภรณ์  แจ่มชัดใจ, พรรณี  พนิตประชา, อภิญญา  กมลสุข, อลิสา คงทน  และ จินตนา พัฒนาธรชัย 
สงวนลิขสิทธิ์ (c) 2547 โดยเนคเทค