IT Digest

Volume 1 No 1 (1 July 2004)
By R&D Strategy Development, NECTEC.
Email: digest@nectec.or.th


A biweekly newsletter from NECTEC to information technology leaders in Thailand.

 

ความคิดเรื่อง Network computing จะเกิดขึ้นใหม่ไหม?

 

เมื่อเจ็ดปีก่อน เราคงได้ยินความคิดเรื่อง network computer จาก Larry Ellison หัวหน้าใหญ่ของ Oracle ผู้ซึ่งทำนายว่า โลกของการใช้จะเปลี่ยนไป เพราะระบบเครือข่ายความเร็วสูงจะทำให้มีความนิยมในระบบคอมพิวเตอร์ตั้งโตะแบบราคาถูก (thin client) และทำงานทุกอย่างที่ server กลางขององค์กร  บริษัท Sun Microsystems ถึงกับลงทุนผลิตเครื่องตระกูล SunRay ซึ่งเป็น thin client ไร้จานแม่เหล็ก ที่ผู้ใช้เข้าสู่ระบบโดย smart card ออกมาจำหน่าย  แต่ท้ายสุด บรรดาผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหลาย ยังคงรักที่จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่มีความสามารถสูงขึ้นๆทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นความเร็วเครื่อง จอภาพที่โตขึ้น และ Hard disk ที่จุมากขึ้น  แถมยังมีกระบวรการที่จะหาทางนำเอาความสามารถของเครื่องคอมพิวเตอร์     ตั้งโต๊ะที่ว่างงานมาช่วยร่วมงานคำนวณแบบกระขาย (เพื่อทำงานแทนซุปเปอร์คอมพิวเตอร์) ด้วยซ้ำไป  การเก็บข้อมูลและโปรแกรมทั้งหมดไว้ที่เครื่องกลาง   ไม่ได้ทีสมรรถนะดีเท่าที่ เอลิซันคิดไว้  ยิ่งอยากจะจะดูเว็บ ดูหนัง ฟังเพลง และเกมส์ที่หนักกราฟิกส์พร้อมกัน เครื่องserver กลาง และเครือข่ายท้องถิ่น มักจะรับงานไม่ได้ 
            เมื่อเร็วๆนี้ (พค.47) บริษัทไอ บี เอ็ม ได้ประกาศตัวสินค้าใหม่ เรียกว่า Workplace Client Technology ซึ่งคาดว่าจะวางตลาดในเดือน มิถุนายนนี้  จากการวิเคราะห์ของ CNN Money ปัจจัยแห่งความสำเร็จของแนวทาง network computing อันไหม่นี้ คงจะเกิดจากแรงจูงใจให้บริษัทต่างๆที่ใช้คอมพิวเตอร์ได้เปลี่ยนจากการซื้อซอฟต์แวร์มาใช้งาน กลายเป็นการเช่าใช้โปรแกรมโดยชำระค่าบริการซอฟต์แวร์    บริษัทต่างๆสามารถบอกรับเป็นสมาชิกซอฟต์แวร์ต่างๆของ ไอ บี เอ็ม ที่ทำงานเท่ากับ Microsoft Office เพื่อทำงานทั่วไปประจำสำนักงาน  และระบบนี้ ก็ทำให้บริษัทที่ใช้สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์เพื่อใช้งานกับเครื่องรุ่นนี้ได้ด้วย  ยิ่งมีข่าวออกมาว่า ระบบปฏิบัติการตัวใหม่ของไมโครซอฟต์จะยังไม่วางตลาดจนกระทั่งปี 2549 (2006)  บรรดาผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหลายก็คงแห่กันไปดูผลงานของไอ บี เอ็ม แน่นอน
            แนวทางใหม่ของ ไอ บี เอ็ม สมควรที่เราจะต้องจับตามองว่าจะสำเร็จมากน้อยเพียงใด

 

ที่มา: https://money.cnn.com/2004/05/12/technology/techinvestor/hellweg/index.htm   

 

 ห้องปฎิบัติการทางคอมพิวเตอร์ ที่มาแรง และน่าจับตามองที่สุดในโลก

 

ห้องปฎิบัติการทางคอมพิวเตอร์ (Computer Lab) ที่มาแรงและน่าจับตาที่สุดในโลกคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ ในขณะนี้ คงจะหนีไม่พ้น Microsoft Research Asia ที่มีสถานที่ทำการอยู่ ณ เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน โดยห้องปฎิบัติการฯ นี้มีนักวิจัยเต็มเวลาประมาณ 150 คน และมีเงินทุนที่ได้รับมาจากบริษัทแม่ คือ บริษัท Microsoft Corp. กว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ปัจจุบันผลงานที่ได้ถูกวิจัยและพัฒนาขึ้นในห้องปฎิบัติการ มากกว่า 70 ผลงาน ได้มีการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์มากมายของบริษัท Microsoft อาทิเช่น ระบบปฎิบัติการวินโดส์ (Windows) ชุดกราฟิกสำหรับเกมวีดีโอ Xbox และโครงการล่าสุดของห้องปฎิบัติการนี้ ได้แก่ ซอฟต์แวร์ระบบปฎิบัติการวินโดส์ เวอร์ชั่นใหม่ที่จะออกสู่ตลาด ในปี 2006
           เป้าหมายขั้นต่ำของห้องปฎิบัติการ นี้ คือการมีบทความ หรือผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ 750 เรื่อง และส่งผลงานเพื่อขอจดสิทธิบัตรมากกว่า 100 ชิ้น สิ่งที่เป็นหลักการที่สำคัญในการดำเนินการของห้อง ปฎิบัติการฯ คือ การผสมผสานระหว่างความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและความคิดและความสามารถของคนรุ่นใหม่  ดังนั้นนักวิจัยในห้องปฎิบัติการ จะให้ความสำคัญกับการให้คำปรึกษา (mentoring) นักศึกษาและนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ไม่ว่าจะเป็นการสอนในมหาวิทยาลัย หรือการเขียนบทความเกี่ยวกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ตีพิมพ์ลงในวารสารที่นักศึกษานิยมอ่าน ปัจจุบันห้องปฎิบัติการฯ สามารถรองรับนักศึกษา  ฝึกงานได้มากกว่า 200 คน
           เทคโนโลยีที่ห้องปฎิบัติการ มุ่งเน้น ในปัจจุบันได้แก่
           เทคโนโลยีทางด้านกราฟฟิค โดยทางห้องปฎิบัติการฯ ถือว่า เทคโนโลยีกราฟิก เป็นรากฐานที่สำคัญของผลิตภัณฑ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เกมคอมพิวเตอร์ โปรแกรมถนอมหน้าจอ (screen saver) หรือ ตัวการ์ตูนต่างๆ  อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ห้องปฎิบัติการต่างๆ ทั่วโลก ต้องเผชิญคือการทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถสร้าง ภาพถ่ายเหมือนจริงของใบหน้ามนุษย์ (photo realistic human face) จะเห็นได้ว่าในการแสดงสีหน้า ของตัวละครในเกมคอมพิวเตอร์จะดูไม่เหมือนจริง หรือการสร้างหรือแสดงรอยย่น/ตีนกา บนภาพอาจจะทำได้ไม่เหมือนจริงนัก  ดังนั้น ห้องปฎิบัติการฯ จึงใช้วิธีจับภาพ (capture) การแสดงออกทางสีหน้า(expression) ต่างๆ จากรูปถ่ายประมาณ 10 รูป เช่น รูปยักคิ้ว รูปจมูกย่น หรือรูปการหัวเราะ      หลังจากนั้นจะแบ่งภาพเหล่านั้นออกเป็น 14 ส่วน (region) หรือมากกว่า 100 feature points เช่น เปลือกตา ปลายคิ้ว มุมปาก ฯลฯ หลังจากนั้นก็ใช้ซอฟต์แวร์ที่ได้พัฒนาขึ้นทำการผสมหรือรวมรูปเหล่านั้น เพื่อสร้างการสร้างออกทางสีหน้า ใหม่ที่คล้ายจริงมากขึ้น และซอฟต์แวร์สามารถเปลี่ยนการแสดงออกทางสีหน้า ใหม่ๆ ได้ภายในเวลารวดเร็ว ด้วยเทคนิค   ใหม่นี้ ทำให้การสร้างภาพการ์ตูนที่เคลื่อนไหว (animation) ไม่จำเป็นต้องวาดรูปด้วยมือ ดังนั้นจึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างเกมคอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถแสดงการ    แสดงออกทางสีหน้า ของตัวละครในเกมตาม การแสดงออกทางสีหน้า ของผู้เล่นเกมได้
           เทคโนโลยี text-to-speech  จากปัญหาที่แป้นพิมพ์ ไม่สามารถแสดงตัวอักษรของภาษา เช่น ภาษาจีน ได้อย่างครบถ้วน ห้องปฎิบัติการฯ จึงได้เน้นการวิจัยและพัฒนา text-to-speech interface ให้กับผู้ใช้ที่มีปัญหาเรื่องแป้นพิมพ์ โดยให้ผู้ใช้พิมพ์ข้อความ เช่นพิมพ์ภาษาจีน และผสมด้วยภาษาอังกฤษ (ตามประโยคซึ่งอาจจะมีคำเทคนิคที่เป็นภาษาอังกฤษปน) หลังจากนั้น โปรแกรมจะอ่านออกเสียงประโยค   ดังกล่าวด้วยนำเสียงที่เป็นธรรมชาติ ได้อย่างชัดเจน และถูกต้องทั้ง 2 ภาษา ทั้งนี้เทคนิคที่ใช้ได้แก่   การแบ่งข้อความเป็น      ชิ้นส่วน (chunk) ในขนาดที่ต่างกัน เช่น phonemes พยางค์ หรือคำ และประมวลผลโดยฐานข้อมูลที่มีมากว่า 10,000 ประโดยคำพูด ในการเลือกและเรียง chunk เข้าด้วยกัน เพื่อให้ออกเสียงที่ถูกต้อง
           เทคโนโลยีเกี่ยวกับเสียงพูด (voice) และการประมวลผลภาพ (image processing)  ปัจจุบันห้องปฎิบัติการฯ ได้ทำการวิจัยและพัฒนา ระบบ Video conferencing ซึ่งทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ handheld โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ handheld  ซึ่งประกอบด้วยกล้องวีดีโอ ไมโครโฟน ระบบเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สาย (wireless link) และซอฟต์แวร์ และเครื่องคอมพิวเตอร์จะเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะซึ่งมีอุปกรณ์ต่อพ่วงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ระบบเข้ารหัส (encode) วีดีโอด้วยความเร็ว 10 เฟรม ต่อ 1 วินาที และมีความล่าช้า (delay) ประมาณ ครึ่งวินาที  โดยสิ่งที่เป็นความพิเศษของระบบนี้ได้แก่ ซอฟต์แวร์ จะคำนึงถึงประเภทของอุปกรณ์ที่ใช้ และคำนวณการบีบอัด (compress) video stream     เพื่อให้ขนาดของไฟล์วีดีโอมีขนาดเล็กลง และทำให้การส่งข้อมูลรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ทางห้อง ปฎิบัติการ ยังได้วิจัยและพัฒนาวิธีการลงรหัส (code) วีดีโอ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหล์ดข้อมูลได้โดยไม่สะดุด ติดขัด หรือทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานค้าง (hang) โดยเทคนิคที่นำมาประยุกต์ใช้ได้แก่ การ code วีดีโอ ให้สามารถแบ่งเป็นชิ้นส่วนๆ เล็ก   เพื่อใช้ในการในการส่งข้อมูล โดยระบุชิ้นส่วนไฟล์ video ที่ส่วนประกอบสำคัญของข้อมูล หรือมีความสำคัญในการส่งข้อมูลสูง ไว้ล่วงหน้าก่อนการส่งข้อมูล  หากมีส่วนใดส่วนหนึ่ง  ติดขัด ในขณะส่งข้อมูล ชิ้นส่วนที่สำคัญหรือ ชิ้นส่วนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญไฟล์วีดีโอนั้น จะได้ถูกการส่งถึงมือผู้รับก่อน ทำให้ผู้รับสามารถ ถอดรหัส (decode) ส่วนภาพที่เป็น     พื้นฐานสำคัญซึ่งอธิบายภาพวีดีโอได้ก่อน ทำให้การดาวน์โหล์ดข้อมูลเป็นไปได้อย่างไม่ติดขัด และต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งวิธีการ code เช่นนี้ได้เป็นส่วนประกอบใน Microsoft media player เวอร์ชั่นต่อไปด้วย
          จากผลงาน และเป้าหมายที่ห้องปฎิบัติการฯ ที่ได้บรรลุผล ทำให้ Microsoft Research Asia เป็นห้องปฎิบัติการ ที่มาแรง และน่าจับตามองที่สุดในโลก

 

ที่มา: An MIT Enterprise Technology review ฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม 2547

https://www.technologyreview.com/articles/huang0604.asp?trk=nl

 

Google กับก้าวกระโดดที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

 

            หากพูดถึงเครื่องมือค้นหา หรือ search engine ทางอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งของโลกแล้ว  ไม่มีใครที่จะปฏิเสธว่าไม่ได้นึกถึง Google  ซึ่งล่าสุด       (มิ.ย. 47) Google ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ในชื่อ GB-1001 ซึ่งเป็นหนึ่งใน Google Search Appliance เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด  ประกอบด้วยอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เสิร์ซ         ที่สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าเวอร์ชั่นเดิมถึง 5 เท่า  คือ สามารถเก็บข้อมูลได้ถึง 1.5 ล้านฉบับ  อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาในการสืบค้นข้อมูลได้เร็วขึ้นกว่าเดิมประมาณ 5 เท่าเช่นกัน     ที่อัตราบริการการสอบถามได้ถึง 300 ครั้งต่อนาที  และที่พิเศษสุด คือ  ความสามารถในการสืบค้นข้อมูลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง หากมีการเพิ่มข้อมูลลงในเครือข่ายอินทราเน็ต  ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการสืบค้นขาดตอน  ทำให้การสืบค้นข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงเหมาะสำหรับหน่วยงานระดับองค์กร  สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐที่ต้องรองรับงานค้นหาข้อมูลในเครือข่ายภายในองค์กรขนาดใหญ่  ทั้งนี้กำหนดราคาเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ไว้ที่ 32,000 ดอลลาร์สหรัฐ  (ประมาณ 1,280,000 บาท)
             ความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีตลอดจนผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องของ
Google นี้  แม้จะเป็นงานส่วนเล็กๆ ในธุรกิจทั้งหมด  (รายได้ส่วนใหญ่จะมาจากการขายโฆษณาที่ปรากฏอยู่ด้านข้างของรายการแสดงผลการค้นหาข้อมูลบนหน้าเว็บเพจ)  แต่ Google ได้ให้ความสำคัญและไม่เคยหยุดยั้งในการสร้างสีสันให้กับโลกอินเทอร์เน็ต             ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวบริการใหม่ “ฟรูเกิล” (Froogle) เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาจากร้านค้าออนไลน์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  และตามด้วยการประกาศเปิดบริการฟรีอีเมล์ “จีเมล์” (Gmail – www.gmail.com)  ที่สร้างความฮือฮาด้วยการให้เนื้อที่จัดเก็บข้อมูลถึง 1 กิกะไบต์ เมื่อต้นเดือนเมษายน  ซึ่งปลุกกระแสให้ Yahoo ต้องปรับกลยุทธ์เพิ่มเนื้อที่ฟรีจาก 4 เมกกะไบต์เป็น 100 เมกกะไบต์ (แต่เดิมต้องเสียเงินค่าบริการ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี) และเพิ่มขนาดข้อมูลของไฟล์ที่แนบไปกับจดหมายได้สูงสุดถึง 10 เมกกะไบต์ จากเดิมที่กำหนดไว้ 3 เมกกะไบต์  รวมไปถึง Microsoft ซึ่งล่าสุดได้ปรับเนื้อที่เก็บจดหมายในบริการ Hotmail ให้กับผู้ใช้จาก 2 เมกกะไบต์ เป็น 250 เมกกะไบต์แล้ว  
            และในเร็ววันนี้ 
Google  กำลังจะกลายเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา  ด้วยการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง  ด้วยบริการกว่า 80 ภาษา และมีประชาชนทั่วโลกเข้าใช้บริการเฉลี่ย 200  ล้านครั้งต่อวัน ซึ่งผลสำรวจของบริษัทวิจัย comScore Networks พบว่า มีผู้ใช้บริการเว็บไซต์ Google ทั่วโลกถึง 43%  ขณะที่มีผู้ใช้ Yahoo  31%  ขณะที่ Standard & Poor's Investment research ได้คาดการณ์มูลค่าตลาดของ Google ไว้ที่ประมาณ 30,000 – 40,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ  ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันว่า โอกาสของธุรกิจ search engine ยังคงหอมหวล  และชี้ให้เห็นว่า สมรภูมินี้จะมีกลยุทธ์การแข่งขันอีกมากมายรอคอยอยู่

 

ที่มา: https://www.computerweekly.com/articles/article.asp?liArticleID=130976&liArticleTypeID=1&liCategoryID=1&liChannelID=4&liFlavourID=1&sSearch=&nPage=1

 

ซีเกทรุกตลาดฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

 

            จากมูลค่าตลาดฮาร์ดดิสก์ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี สามารถครอบคลุมตลาดได้ถึง 75% หรือคิดเป็นมูลค่า 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2546  ของตลาดทั้งหมด    สัดส่วนตลาดที่บริษัทซีเกท เทคโนโลยี ถือครองอยู่นี้ถือได้ว่าบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก  ในเดือนมิถุนายน 2547 นี้ ซีเกทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะออกสู่ตลาด 12 รุ่น ครอบคลุมทั้งตลาดคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ ตลาดส่วนบุคคล และตลาดองค์กร ซึ่งนับว่าครอบคลุมและหลากหลายที่สุดในประวัติการณ์ของซีเกทและครอบคลุมตลาดทั้งหมด 
            สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ ของซีเกท ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟรุ่น
ST1 ขนาด 1 นิ้ว โดยสามารถบรรจุเพลงในถึง 2,500 เพลง และสามารถป้องกัน  การสั่นสะเทือนได้อย่างดีเยี่ยม และรุ่น DB35 Series สำหรับตลาดดีวีอาร์หรือการบันทึกวิดีโอรูปแบบดิจิตอล ที่สามารถอัดรายการทีวีได้ถึง 400 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหม่ของ    ซีเกท และคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างมากในอนาคต
            ส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มส่วนบุคคล ได้แก่ บาร์ราคูดา
7200.8 ที่มีความจุถึง 400 กิกะไบต์ สำหรับเครื่องพีซีตั้งโต๊ะ, โมเมนตัส 7200.1 และโมเมนตัส 5400.1 สำหรับใช้กับเครื่องโน้ตบุ๊ก โดยมีความจุถึง 100 กิกะไบต์ นอกจากนี้ ซีเกทยังได้เปิดตัวฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ที่ใช้ภายนอกเพื่อสำรองข้อมูลสำหรับผู้ใช้อุปกรณ์แบบพกพา หรือมือถือ และคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ ได้แก่ แบบ 1" External สำหรับอุปกรณ์แบบใส่กระเป๋าเสื้อ  แบบ 2.5" External สำหรับอุปกรณ์พกพาได้ และ แบบ 3.5" External สำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ
            และผลิตภัณฑ์สำหรับองค์กร เป็น
SAVVIO 10K.1 ขนาด 2.5 นิ้ว สำหรับองค์กร ที่ต้องการพื้นที่ขนาดเล็ก โดยมีความเร็วเพิ่มขึ้น 15% ในการเข้าถึงข้อมูลมากกว่าขนาด 3.5 นิ้ว และทำงานได้ถึง 1.4 ล้านชั่วโมง ส่วนอุปกรณ์เก็บบันทึกข้อมูลที่ใช้ SAS (Serial Attached SCSI) ที่เป็นมาตรฐานใหม่ของโออีเอ็มและผู้สร้างระบบ คือรุ่น Cheetah 15K.4 ของ  ซีเกท และสำหรับรุ่น NL35 เป็นดิสก์ไดร์ฟแรกในความจุ 500 กิกะไบต์ที่มีขนาด 3.5 นิ้ว
           
ทั้งนี้คาดว่าการออกผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ จะทำให้ซีเกทครอบคลุมตลาดได้มากขึ้นถึง 95% ในอนาคต หรือประมาณ 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งก่อนหน้านี้ มีเพียงบริษัทฮิตาชิเพียงรายเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ขนาด 1 นิ้วเรียกว่า“ไมโครไดรฟ์”  แต่ยังมีความจุข้อมูลน้อยกว่า 4 กิกะไบต์ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค
            สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟอันดับ 2 ของโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดการผลิต 18
% รองจากสิงคโปร์ซึ่งมีส่วนแบ่ง 40%  จึงนับเป็นการดีที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศในการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย  โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาบริษัทฮิตาชิ ได้ประกาศเพิ่มการผลิตเป็นสองเท่าในฐานการผลิตไทย รวมทั้ง บริษัทซีเกท เทคโนโลยี, บริษัทเวสเทอร์น ดิจิตัล จำกัด ของประเทศสหรัฐอเมริกา และบริษัทฟูจิตซึ ก็เตรียมประกาศเพิ่มการผลิตในไทยตามมาเช่นกัน ทั้งนี้ นอกจากมาตรการด้านภาษีแล้ว รัฐบาลควรที่จะส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาให้เข้มแข็งมากขึ้น  พัฒนาทักษะของแรงงานไทยให้มีคุณภาพ รวมทั้งให้การส่งเสริมผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง  มิฉะนั้นเราอาจจะต้องเสียส่วนแบ่งในตลาดการผลิตให้กับประเทศจีน ซึ่งกำลังเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยอยู่ในขณะนี้

 

ที่มา:  https://www.seagate.com/cda/newsinfo/newsroom/releases/article/0,1121,2172,00.html

 

อิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์   

จากการแข่งขันกันอย่างรุนแรงของอุตสาหกรรมรถยนต์จากผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำเพื่อพัฒนาสมรรถนะของรถยนต์ และการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงความปลอดภัยให้แก่ผู้ขับขี่ ส่งผลให้ในปัจจุบันมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (โดยเฉพาะระบบสมองกลฝังตัว) เข้ามาทดแทนเครื่องกลแบบเดิมมากขึ้น จากการสำรวจและพยากรณ์ของ System Analytics (www.strategyanalytics.com) พบว่ามูลค่าของตลาดอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ทั่วโลกในปี ค.ศ. 2002  มีมูลค่าสูงถึง $US 30.5 พันล้านเหรียญ  และคาดว่าจะ    สูงถึง $US43.8 พันล้านเหรียญภายในปี ค.ศ. 2007  สำหรับระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ที่คาดว่าจะเติบโตสูงภายใน 6 ปีข้างหน้า ได้แก่ ระบบเตือนแรงดันลมยาง (tire pressure warning), ระบบช่วยการมองเห็นในเวลากลางคืน (night vision system), ไฟส่องสว่างภายนอกแบบไดโอดเปล่งแสง (exterior LED lighting), ระบบห้ามล้อโดยทางสาย (brake-by-wire), และระบบปลดล็อกประตูด้วยตัวเองโดยไม่ต้องไขกุญแจหรือกดปุ่มรีโมต (passive entry system)  นอกจากนี้ก็ยังมีระบบโทรสนเทศหรือเทเลแมติกส์ (Telematics) และระบบเพื่อให้ความบันเทิงในรถยนต์ (in-vehicle entertainment)
          
สำหรับประเทศไทยเอง ผู้ผลิตจากทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่างก็ให้ความสนใจกับการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์  สำหรับประเทศไทยนั้นโอกาสที่จะพัฒนาด้านของซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เพื่ออิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ยังมีโอกาสอยู่บ้าง  ได้แก่ การพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับระบบสมองกลฝังตัว  การพัฒนาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านความบันเทิงในรถยนต์ รวมไปถึงการพัฒนาเซนเซอร์สำหรับเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบายให้แก่ผู้ขับขี่  หากอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังแล้ว  ประโยชน์ที่เกิดกับประเทศไทยจะมีทั้งในด้านการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งสำหรับการเป็นฐานผลิตรถยนต์ในภูมิภาค และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

 

ที่มา: Strategy Analytics Automotive Electronics, https://www.strategyanalytics.com

 

IT Digest เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำขึ้นเผยแพร่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หากท่านสนใจเป็นสมาชิก หรืออ่านบทความย้อนหลัง โปรดติดต่อเราได้ที่เว็บไซต์  https://digest.nectec.or.th/ (อยู่ระหว่างจัดทำ)
ที่ปรึกษา: ทวีศักดิ์ กออนันตกูล และ ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล   บรรณาธิการบริหาร: กัลยา อุดมวิทิต
กองบรรณาธิการ: ถวิดา มิตรพันธ์, รัชราพร นีรนาทรังสรรค์, จิราภรณ์  แจ่มชัดใจ, พรรณี  พนิตประชา, อภิญญา  กมลสุข  และ จินตนา พัฒนาธรชัย 
สงวนลิขสิทธิ์ (c) 2547 โดยเนคเทค