IT Digest

Volume 1 No 2 (16 July 2004)
By R&D Strategy Development, NECTEC.
Email: digest@nectec.or.th


A biweekly newsletter from NECTEC to information technology leaders in Thailand.

 

รีโมทคอนโทรลสำหรับชีวิตยุคใหม่

 

โทรศัพท์มือถือแพร่หลายและมีการขยายตัวอย่างมากในประเทศญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปี 1994 เมื่อบริษัท DoCoMo เปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดจากการให้เช่าโทรศัพท์มือถือเป็นการขายในราคาถูก  หลังจากนั้นเพียงสองปีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เพิ่มมากกว่าเดิมเป็น 2 เท่าและในขณะนี้จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่นมีมากถึงร้อยละ 64 ของประชากรทั้งหมด
            บริษัท NTT DoCoMo ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของญี่ปุ่นไม่ได้หยุดนิ่งเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ  บริษัทได้ประกาศที่จะพัฒนาให้โทรศัพท์มือถือในระบบให้สามารถใช้แทนกุญแจบ้าน เครดิตการ์ด และบัตรโดยสารรถไฟ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงอำนาจของเครือข่ายคอมพิวเตอร์แห่งอนาคต  โทรศัพท์รุ่นใหม่นี้จะออกจำหน่ายในช่วงฤดูร้อนนี้ เครื่องโทรศัพท์รุ่นใหม่นอกจากสามารถใช้เป็นโทรศัพท์ตามปกติแล้ว ยังใช้รับส่งอีเมล์ เล่นเกมส์ออนไลน์  เข้าเยี่ยมชมเว็บไซด์ที่ต่อผ่านเครือข่าย i-mobile  ถ่ายภาพ  อ่านบาร์โค๊ด  ดาวน์โหลดและเล่นเพลง 
            สำหรับคุณสมบัติที่โดดเด่นของโทรศัพท์แบบใหม่ที่แตกต่างจากโทรศัพท์ในปัจจุบันคือการสามารถใช้จ่ายเงินในร้านขายของชำ เปิดล็อกประตู  ควบคุมอุปกรณ์ในบ้าน ซื้อตั๋วหนังและตั๋วรถไฟใต้ดิน เป็นต้น คุณสมบัติที่แตกต่างไปจากโทรศัพท์ทั่วไปนี้เกิดขึ้นเพราะบริษัท NTT DoCoMo ได้บรรจุไมโครชิปพิเศษที่ผลิตโดยบริษัท Sony (ชิป FeliCa) เข้าไปในโทรศัพท์รุ่นใหม่  ตัวชิปนี้ถูกออกแบบให้มีขนาดเล็กและบาง และวางไว้กับสายอากาศที่ทำจากแผ่นฟิล์มบางๆ  โทรศัพท์รุ่นใหม่นี้มีราคาอยู่ที่ประมาณ 200 – 300 เหรียญสหรัฐ
            ถึงแม้ขณะนี้ระบบการจ่ายเงินของการเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินในญี่ปุ่นมีระบบบัตรจ่ายเงินแบบที่บัตรไม่ต้องสัมผัสเครื่องอ่านแล้วก็ตาม แต่ยังมีปัญหาความไม่สะดวกบางประการ เช่น ผู้โดยสารไม่สามารถเห็นจำนวนเงินที่เหลือบนตัวบัตร หรือความไม่สะดวกในการเติมเงินเนื่องจากผู้โดยสารต้องไปเติมเงินที่เครื่องเติมเงิน  ดังนั้นโทรศัพท์รุ่นใหม่จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้โดยที่เจ้าของโทรศัพท์สามารถโทรไปถามยอดเงินและเติมเงินผ่านโทรศัพท์ได้ทุกที่ทุกเวลา
           อย่างไรก็ตามปัญหาที่บริษัทยังเป็นกังวลอยู่คือเรื่องของระบบความปลอดภัยและประเด็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล  บริษัทไม่ต้องการให้ขโมยสามารถขโมยเงินจากโทรศัพท์ด้วยเพียงการเดินผ่านโทรศัพท์พร้อมเครื่องอ่าน แต่อย่างไรก็ตามชิป FeliCa ของ Sony นี้มีคุณสมบัติที่สามารถอ่านได้ในระยะเพียง 10 เซนติเมตรในลักษณะที่ชิปไม่ต้องสัมผัสกับเครื่องอ่าน (contactless IC) ดังนั้นจึงเป็นการยากที่ขโมยจะแสกนข้อมูลได้

 

 ที่มา: MIT Technology Review, July/August 2004. (www.technologyreview.com/articles/print_version/mann0704.asp)

 

บริษัทผู้ผลิตชั้นนำของโลกหนุนตั้งศูนย์ Linux ในสิงคโปร์

           

ในขณะที่ไมโครซอฟท์กำลังมาแรงจากการเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยวินโดว์ราคาประหยัด (Windows XP Starter Edition)  ส่วนบริษัทผู้ผลิตชั้นนำของโลกอย่างบริษัทออราเคิล และบริษัทเรดแฮ็ตผู้ผลิตซอฟต์แวร์ลีนุกซ์ชั้นนำของโลกก็ไม่ยอมน้อยหน้ารุมหนุนลีนุกซ์  ทั้งสองร่วมกันจัดแถลงข่าวเปิดสำนักงานในประเทศสิงคโปร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาซอฟต์แวร์ลีนุกซ์สำหรับการใช้งานในองค์กรธุรกิจ
            ศูนย์ลีนุกซ์เอนเตอร์ไพรซ์แอพพลิเคชั่นส์พอร์ติ้ง หรือ ลีพ (Linux Enterprise Applications Porting: LEAP) คือ ความร่วมมือครั้งแรกของของบริษัทออราเคิลและเรดแฮ็ตเพื่อตอบสนองกระแสความร้อนแรงของระบบปฏิบัติการโอเพนซอร์สในภูมิภาคเอเซียแปซิพิก  โดยศูนย์นี้จะคอยช่วยสนับสนุนด้านทรัพยากรต่างๆ แก่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระและผู้ให้บริการติดตั้งระบบที่ต้องการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับองค์กรธุรกิจบนลีนุกซ์ 
            ทุกวันนี้ลีนุกซ์เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลก  หลายประเทศตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้ลีนุกซ์ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือหวังจะลดค่าใช้จ่ายและให้อิสระกับตัวเองมากขึ้นโดยไม่ต้องยึดติดอยู่กับซอฟต์แวร์ที่เป็นสิทธิบัตรของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง  ตามข้อมูลของบริษัทไอดีซี (IDC) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยตลาด คาดว่า ในปี 2008 ตลาดลีนุกซ์เซิร์ฟเวอร์ทั่วโลกจะมีมูลค่าประมาณ 9.7 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 4 แสนล้านบาท) คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดขนาด 29 % ของตลาดเซิร์ฟเวอร์โลก 
            สำหรับประเทศไทยแม้ว่า ความนิยมลีนุกซ์ในหมู่นักพัฒนาโปรแกรมในภาครัฐและเอกชนจะเพิ่มขึ้นบ้าง  แต่ทุกวันนี้หน่วยงานภาครัฐเองก็ไม่ให้ความสนใจที่จะใช้ลีนุกซ์อย่างจริงจัง  ตลอดจนการผลักดันยังไม่มีพลังเท่าที่ควร ทำให้การเติบโตของลีนุกซ์ในประเทศไทยจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า (มีส่วนแบ่งของผู้ใช้งานบน desktop ประมาณ 0.9%) และนี่คือโจทย์ที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไขโดยด่วน หากหวังที่จะยกระดับให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของคนไทยให้ทัดเทียมกับของต่างประเทศ
            อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ไมโครซอฟท์กำลังไปได้สวยด้วยวินโดว์ราคาประหยัดเพราะเป็นตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูง แต่ยังมีปัจจัยกระทบหลายอย่างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและเทคนิคที่อาจมีผลทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป  เราคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงแนวโน้มใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น   เป็นไปได้หรือไม่ว่า การเติบโตของลีนุกซ์นี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่คอยสกัดการเติบโตของไมโครซอฟต์ในระยะยาว 

 

ที่มา:  https://news.com.com/2100-7344-5245358.html

 

RFID เทคโนโลยีเพื่อชีวิตประจำวัน

 

RFID คือ เทคโนโลยีเพื่อชี้เฉพาะด้วยคลื่นวิทยุ เป็นระบบติดตามโดยอาศัยคลื่นวิทยุในการระบุหรือค้นหาวัตถุที่มีการติดรหัสหรือชิปไว้  โดยชิปดังกล่าวจะส่งคลื่นวิทยุออกมาและคลื่นนั้นสามารถอ่านได้โดยเครื่องอ่านข้อมูล ความตื่นตัวเรื่อง RFID นั้นเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อ Wal-Mart ซึ่งผู้จัดจำหน่ายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับ Gillette ในการสร้างชั้นวางสินค้าอัจฉริยะ (Smart shelves) ที่สามารถเตือนผู้จัดการและพนักงานดูแลสินค้าให้ทำการเติมสินค้าให้เต็มชั้น ทั้งนี้ Wal-Marts ตั้งใจที่จะให้บริษัทคู้ค้ารายสำคัญๆ ติดตั้ง RFID สำหรับการติดตามรายการสินค้าภายในปี 2005
            การใช้งาน RFID ในขณะนี้พบได้รอบๆ ตัว อาทิ ชิปประจำตัวในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว การใช้งานทางการขนส่งและการรักษาระบบความปลอดภัย เช่น สายการบิน Delta ที่ทดลองใช้ RFID ในการบินบางเที่ยวบิน โดยติดชิปบนกระเป๋าของผู้โดยสาร ทั้งนี้เพื่อลดปัญหากระเป๋าสูญหาย และจะเพิ่มความสะดวกสบายเมื่อผู้โดยสารต้องการจะเปลี่ยนเที่ยวบิน  นอกจากนั้นบริษัทขนส่งในอเมริกายังมีการนำชิป RFID มาติดที่ตู้คอนเทนเนอร์ที่มาถึงท่าเรือของสหรัฐในแต่ละวัน  ชิปเหล่านี้ช่วยในการติดตามตู้คอนเทนเนอร์และทำให้การต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดลดลงมากกว่า 2%   เทคโนโลยี RFID ยังมีส่วนช่วยเหลือปฎิบัติการทางทหารในการติดตามการขนส่งสิ่งของไปยังประเทศต่างๆ 40 ประเทศ   ในกิจการคาสิโนในประเทศออสเตรเลีย เช่น Star City นั้น ก็มีการติด RFID tags ไว้ที่เครื่องแบบของลูกจ้างที่มีอยู่ประมาณ 80,000 คนเพื่อป้องกันการลักขโมยด้วย  ส่วนทางด้านการเงิน Visa บัตรอัจฉริยะที่รวมเอาชิป RFID เข้าไว้ในบัตร  ทำให้ผู้ใช้บัตรสามารถใช้บัตร Visa จ่ายค่าจอดรถ ซื้อหนังสือพิมพ์  รับโซดาจากเครื่องให้บริการอัตโนมัติได้โดยไม่ต้องเปิดกระเป๋าเงิน นอกจากนั้น ธนาคารกลางยุโรปมีแผนจะฝังชิป RFID แบบสมองกลไว้ในธนบัตรยูโรอีกด้วย   ไม่เพียงเท่านั้นเทคโนโลยี RFID  ยังมีส่วนช่วยในด้านปศุสัตว์อีกด้วย เกษตรกรในหลายประเทศได้ติดชิปซึ่งมีข้อมูลเฉพาะของสัตว์แต่ละตัว เช่น วันเกิด ประวัติทางการรักษาพยาบาล การเคลื่อนย้ายมาจากปศุสัตว์อื่น และผลของการตรวจหาเชื้อโรคไว้ที่ตัวสัตว์ เพื่อทำการติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์และโรคระบาดเป็นไปอย่างถูกต้องและแม่นยำ
            ในอนาคตอันใกล้ เราจะสามารถพบเห็นเทคโนโลยี RFID ได้ตามทั่วไป โดยคาดหมายว่าจะถูกนำไปใช้ในเอกสารที่มีความสำคัญ  เช่น ธนบัตร ใบอนุญาตขับขี่ หนังสือเดินทาง ใบแสดงหุ้น เอกสารที่เขียนด้วยลายมือ ปริญญาบัตร เอกสารประกอบวิชาชีพแพทย์ สูติบัตร และเอกสารอื่นๆที่มีความสำคัญที่ไม่สามารถสูญหายได้ 
            แม้แต่ร่างกายของมนุษย์ บริษัท Applied Digital Solution ได้เริ่มออกแบบชิปที่เรียกว่า Verichip ซึ่งมีความยาวเพียง 11 ม.ม. ให้สามารถอยู่ภายใต้ผิวหนัง และสามารถถูกอ่านข้อมูลได้ในระยะห่างประมาณ 4 นิ้ว  ชิปนี้คาดว่าจะใช้เพื่อติดตามเด็กๆ  ผู้ป่วยที่เป็นโรคความจำเสื่อม (Alzheimer) และบุคคลที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้   นอกจากนั้นในส่วนของประเทศจีน ผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศจีน ต้องการให้มีการติดอุปกรณ์ RFID ในเสื้อผ้าที่สวมใส่ ในเดือนพฤษภาคม เพื่อที่เมื่อมีการเคลื่อนไหว ก็สามารถที่จะติดตามและบันทึกข้อมูลได้ ถ้าแนวคิดนี้ถูกนำไปปฏิบัติจริงก็นับว่าน่ากลัวอยู่ไม่น้อยเลยในประเด็นของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
            อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของ RFID ขณะนี้คือต้นทุนของการผลิตชิปยังสูงอยู่  ชิปที่ผลิตจากซิลิกอนขณะนี้มีราคาตกราว 20 เซนต์ต่อชิ้น ดังนั้นนักวิจัยของบริษัท 3M จึงพยายามพัฒนาให้ชิปมีราคาถูกลงโดยใช้ pentacene สำหรับเป็นวัสดุผลิตเซมิคอนดักเตอร์  นอกจากนั้นยังพยายามพัฒนาให้สามารถอ่านข้อมูลจากชิปได้ไกลขึ้นและพัฒนาผิวหน้าเป็นพลาสติกแทนแก้ว

 

ที่มา: https://securityfocus.com/columnists/169 (June 26,2003)
https://www.technologyreview.com/articles/print_version/talbot0604.asp (June 2004)
https://www.technologyreview.com/articles/print_version/prototype40704.asp   (July/August 2004)

 

IT Digest เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำขึ้นเผยแพร่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หากท่านสนใจเป็นสมาชิก หรืออ่านบทความย้อนหลัง โปรดติดต่อเราได้ที่เว็บไซต์  https://digest.nectec.or.th/ (อยู่ระหว่างจัดทำ)
ที่ปรึกษา: ทวีศักดิ์ กออนันตกูล และ ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล   บรรณาธิการบริหาร: กัลยา อุดมวิทิต
กองบรรณาธิการ: ถวิดา มิตรพันธ์, รัชราพร นีรนาทรังสรรค์, จิราภรณ์  แจ่มชัดใจ, พรรณี  พนิตประชา, อภิญญา  กมลสุข  และ จินตนา พัฒนาธรชัย 
สงวนลิขสิทธิ์ (c) 2547 โดยเนคเทค