IT Digest

Volume 1 No 3 (1 August 2004)
By R&D Strategy Development, NECTEC.
Email: digest@nectec.or.th


A biweekly newsletter from NECTEC to information technology leaders in Thailand.

 

แนวโน้มและการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของ TV ในตลาดโลก 

 

ในช่วงปลายปีที่แล้ว (2003) ตลาดโทรทัศน์แบบดิจิทัล (Digital TV: DTV) ในประเทศสหรัฐอเมริกาขยายตัวมากขึ้น โดยสถิติจาก U.S. Consumer Electronics Association พบว่าในเดือนพฤศจิกายน 2546 ผู้บริโภคในประเทศสหรัฐอเมริกาซื้อ DTV มากกว่า 500,000 เครื่อง หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 54 เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขในเดือนเดียวกันในปี 2545  และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2549 ประมาณร้อยละ 85 ของครัวเรือนในประเทศสหรัฐอเมริกา จะสามารถชมรายการโทรทัศน์ผ่านทางการส่งสัญญาณแบบดิจิทัล
            สถานการณ์การแข่งขันในตลาด DTV ในปัจจุบันมีการขับเคี่ยวกันอย่างมาก  โดยการเข้ามามีบทบาทที่สำคัญของบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของโลกอาทิเช่น บริษัท Dell คอมพิวเตอร์, บริษัท Gateway และบริษัท Hewlett-Packard ซึ่งหันมาผลิต DTV เพิ่มขึ้นอีกด้วย และส่งผลให้มีการแข่งขันเพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด ทำให้ราคาขายของเครื่อง DTV มีแนวโน้มลดลงอีกด้วย 
            สำหรับสถานภาพการแข่งขันเกี่ยวกับเครื่องรับโทรทัศน์แบบ Projection (Projection Television) นั้น  ส่วนใหญ่ผู้ผลิตทุกรายในโลกจะใช้เทคโนโลยี Digital Light Processing (DLP) โดยเทคโนโลยีนี้มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ไมโครชิบ (Chip) ที่ประกอบด้วยกระจกมากกว่า 1 ล้านชิ้นมีการเคลื่อนไหวประมาณ 5,000 ครั้งต่อวินาที ซึ่งทำให้เกิดการสะท้อนของแสง และความคมชัดของภาพ  เทคโนโลยี DLP นี้ คิดค้นและพัฒนาโดย นักวิจัยชื่อ Larry Hornbeck ของบริษัท Texas Instruments (TI) ซึ่งได้เริ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนี้มีตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1977 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันทาง TI สามารถขายระบบ DLP ได้มากกว่า 2 ล้านชิ้น  สำหรับเครื่อง Projection TV จอขนาดใหญ่ และกล้องถ่ายรูปแบบดิจิทัล
            ตัวอย่างราคาขายปลีกของผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ Projection ในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกา อาทิ บริษัท Samsung ซึ่งตั้งราคาขาย Rear Projection Sets จอภาพขนาด 56 นิ้วอยู่ที่ราคา 3,500 เหรียญสหรัฐ  และบริษัท Gateway ตั้งราคาขาย Projection TV ขนาด 56 นิ้ว อยู่ที่ราคา 2,500 เหรียญสหรัฐ
            ในส่วนสถานภาพตลาด LCD TV ของโลกนั้นเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านเครื่องเมื่อปลายไตรมาสที่ 4 ของปี 2003 เป็น 1.6 ล้านเครื่องในต้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2004 การขยายตัวทางด้านการตลาดส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากราคาของเครื่อง LCD TV ที่มีราคาลดลง อีกทั้งยังมีผู้ผลิตหลายรายเริ่มผลิตสินค้า OEM มากขึ้น  พร้อมทั้งมีการขายตัดราคากัน  ในปัจจุบันบริษัท Philips Electronics, บริษัท Samsung Electronics และบริษัท LG Electronics มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 45 ของตลาด LCD TV ของโลก
            สำหรับราคาขาย
LCD TV ในปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 600 เหรียญสหรัฐ สำหรับเครื่อง LCD TV ขนาดจอภาพ 17 นิ้ว ถึงประมาณ 3,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับขนาดจอภาพประมาณ 30 นิ้ว หากจะเปรียบเทียบราคาของเครื่องรับโทรทัศน์ทั้งสองประเภทแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าเครื่องรับโทรทัศน์แบบ Projection จะมีราคาถูกกว่าเครื่องรับโทรทัศน์แบบ LCD และแบบพลาสมา มากกว่าครึ่งหนึ่ง
            หากจะหันกลับมาดูสถานภาพในประเทศไทย ซึ่งมูลค่าส่งออกสินค้าด้านเครื่องรับโทรทัศน์มีมูลค่าสูงเป็นอันดับสอง รองจากชิ้นส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น  มีแนวโน้มที่จะส่งออกเครื่องรับโทรทัศน์ลดลง โดยบริษัทผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ที่เป็นแบรนด์ของคนไทย ดังตัวอย่างเช่น บริษัท แฟมิลี่ ซึ่งยุติการผลิต รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาทางด้านเครื่องรับโทรทัศน์ แต่ได้หันมามุ่งเน้นการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้พิการแทน

 

ที่มา:  IEEE Spectrum ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2004
       Small Times Vol.4 No.2 เดือนมีนาคม-เมษายน 2004
       EE Times UK  https://eetuk.com/mr/news/showArticle.jhtml?articleID=22101631

 

เกมสร้างสรรค์สำหรับวันนี้

 

ในขณะที่เด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลกกำลังเพลิดเพลินกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือวีดีโอเกมเพื่อความสนุกสนานอยู่นั่น   ยังคงมีจินตนาการและความมุ่งหวังของผู้พัฒนาเกมบางส่วนที่มีคุณค่า  เพียงแต่เราต้องเลือกสรรและนำมาใช้เพื่อประโยชน์ที่แท้จริง
            เบน ดัสกิน  เด็กชายวัย 9 ขวบ  คงจะเป็นตัวแทนของเด็กทั่วไปของโลกในวันนี้  หากแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว  เขาได้ล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย)  และด้วยวัยที่น้อยนิดเขาไม่เข้าใจว่าทำไมตนต้องเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำสั่งของคุณหมอ  แม้คุณแม่ของเบนจะพยายามอธิบายว่า  การรักษาของหมอนั่นมันไม่ต่างกับจากการเล่นเกมแพคแมน (
Pac Man) ซึ่งสามารถทำลายเชื้อโรคมะเร็งได้  แต่เบนไม่สามารถเข้าใจได้  เพราะเขาไม่เคยเล่นเกมแพคแมน  ดังนั้น  คุณแม่ของเบนได้ขอความช่วยเหลือไปยังองค์กรสาธารณกุศล “Wish charity” ในซานฟรานซิสโก  เพื่อให้ช่วยพัฒนาเกมให้แก่เด็กที่ป่วยด้วยโรคลูคีเมีย  เพื่อให้พวกเขาสามารถทำความเข้าใจกับการต่อสู้กับโรคร้ายได้ดียิ่งขึ้น  ซึ่งหลายๆ คนมองว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะลงทุนในเรื่องนี้  โดยเฉพาะเงินที่ต้องลงทุนนับล้านดอลล่าร์  และต้องใช้เวลานานหลายปีในการพัฒนาเกมขึ้นมา
            แต่แล้วเรื่องทีไม่คาดฝันได้เกิดขึ้น เมื่อ
Eric Johnston  โปรแกรมเมอร์ซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัท วีดีโอเกมลูคัสอาร์ท ได้อาสาที่จะพัฒนาเกมให้   โดยเขาใช้เวลาอยู่กับเบนนานหลายเดือนเพื่อพัฒนาเกมที่เหมาะสมมากที่สุด  และจากการเล่นเกมนี้   เบนได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขา  เช่น  รู้ว่าจะต้องมีทัศนคติที่ดีในการดำรงชีวิต  รู้ว่าการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงหากได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล  รู้ว่าจะเพิ่มพลังในร่างกายหากได้รับยาตรงเวลา ฯลฯ 
            รูปแบบของเกมที่พัฒนาขึ้นนี้มีตัวเอกเป็นเด็กชายขี่สเก็ตบอร์ดวิ่งฝ่าด่านต่างๆ  โดยมีสัตว์ประหลาดเป็นตัวแทนของมะเร็งเม็ดเลือดขาว  มีอาวุธเป็นลูกบอลไฟ ฝี และน้ำมูก  ซึ่งในการต่อสู้นั้น  ผู้เล่นจะได้รับพลังที่เกิดจากสุขภาพที่ดีเป็นตัวทำลายสัตว์ประหลาด   และหากร่างกายไม่พร้อม ก็จะสูญเสียแต้มคะแนนได้   ซึ่งนั่นคือการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กที่ป่วยพยายามปฏิบัติตัวและรักษาสุขภาพให้ดีขึ้นเรื่อยๆ   โดยเกมนี้ได้เปิดให้ผู้สนใจดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซด์
www.makewish.org  ซึ่งมีผู้เข้ามาดาวน์โหลดไปแล้วมากกว่า 35,000 ครั้ง  
           นับเป็นตัวอย่างเกมน้ำดีในท่ามกลางเกมประเภทสงคราม  ผจญภัย  เกมพ่วงหนัง และเกมรักซึ่งนับเป็นเกมน้องใหม่ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน   ทุกวันนี้วีดีโอเกมยังคงได้รับการตอบรับจากนักเล่นเกมทั่วโลกอยู่อย่างต่อเนื่อง  อีกทั้งผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างสหรัฐอเมริกายังเปิดสอนหลักสูตรการออกแบบวีดีโอเกมแล้วในระดับมหาวิทยาลัย  ด้วยเหตุผลที่วีดีโอเกมสามารถสร้างรายได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาพยนตร์ในระดับบ๊อกซ์ ออฟฟิศของฮอลลีวู้ด  พร้อมกับมีความเชื่อมั่นว่า  นักศึกษาที่เรียนจะสามารถพัฒนาเกมรูปแบบใหม่ๆ ที่หลุดพ้นจากเกม (ไร้สาระหรือรุนแรง) แบบเดิมๆ  แต่สำหรับความนิยมในเล่นเกมของคนเอเซียแล้ว  เกมออนไลน์กำลังเป็นที่ชื่นชอบอย่างสูงซึ่งจากรายงานการศึกษาของ IDC พบว่า  5 ประเทศในเอเซียที่มีการเล่นเกมออนไลน์สูงสุด คือ เกาหลี  จีน  ฮ่องกง  สิงคโปร์ และไต้หวัน  โดยในส่วนประเทศไทยนั้น  พบว่าตลาดเกมออนไลน์ในปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 500-600 ล้านบาท  ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา

ที่มา : https://news.bbc.co.uk/1/hi/technology/3839091.stm

 

การใช้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย

 

หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) เป็นหนังสือเดินทางแบบใหม่ที่มีชิปบรรจุข้อมูลทางชีวภาพ (Biometric Data)  ซึ่งประกอบด้วยลายพิมพ์นิ้วมือ (Fingerprint) หรือ/และ ข้อมูลม่านตา (Iris) ของเจ้าของหนังสือเดินทางฝังอยู่ในชิป   ข้อมูลชีวภาพที่อยู่ในชิปนี้มีคุณสมบัติเด่น คือ สร้างความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าสนามบินและสถานกงสุลในการตรวจสอบ  รวมทั้งยังเป็นข้อมูลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และมีความถูกต้องแม่นยำสูง
            หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ และถูกพัฒนาขึ้นใช้อย่างจริงจังนับตั้งแต่ประเทศสหรัฐอเมริกามีการตื่นตัวในเรื่องของการก่อการร้ายในเดือนกันยายน 2544 เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นว่าหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยให้สามารถระบุตัวของผู้เดินทางระหว่างประเทศได้อย่างถูกต้อง  ทั้งนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป  ชาวต่างชาติ 27 ประเทศ (ขณะนี้ยังไม่รวมประเทศไทย) ต้องใช้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ในการผ่านเข้า-ออกประเทศ นอกจากประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศที่กำลังดำเนินการในเรื่องหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
            สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2546 ให้กระทรวงต่างประเทศพิจารณาใช้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์  ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องการให้ข้อมูลข่าวสาร  และเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นไปอย่างก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด  สืบเนื่องจากมติดังกล่าวกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้มีแนวทางดำเนินการให้หนังสือเดินทางที่ออกใหม่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 เป็นหนังสือเดินทางที่สามารถอ่านด้วยเครื่อง (
Machine Readable Travel Document: MRTD)  โดยบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล ลายมือชื่อ และข้อมูลชีวภาพไว้่ในชิป
           ชิปที่จะบรรจุในหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ถูกกำหนดให้เป็นแบบวงจรรวมไร้สัมผัส
(Contactless IC) และต้องเป็นไปตามมาตรฐานใน ICAO Doc 9303 ซึ่งอ้างถึงมาตรฐานขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานหรือไอโซ (ISO) หนึ่งในสองมาตรฐานต่อไปนี้ (1) ISO/IEC 14443 (proximity) Type A หรือ Type B พิสัยการอ่าน 10 cm และ (2) ISO/IEC 15693 (vicinity) พิสัยการอ่าน 1 m มาตรฐานทั้งสองใช้ความถี่พาหะที่ 13.56 MHz (
±7 kHz) ซึ่งความถี่ดังกล่าวอยู่ในย่านความถี่ ISM (Industrial, Scientific, and Medical) ที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก  อย่างไรก็ตามขณะนี้แนวโน้มของประเทศต่างๆ ได้ให้ความสนใจกับมาตรฐานแบบ ISO/IEC 14443 มากกว่า
            วงจรรวมตามมาตรฐานทั้งสองเป็นแบบ
passive คือไม่มีแหล่งจ่ายไฟในตัวเองเพราะใช้การเหนี่ยวนำทางแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านคลื่นวิทยุ Passive IC นี้สามารถเก็บประจุไฟฟ้า (ข้อมูล) ในหน่วยความจำได้นานอย่างน้อย 10 ปีที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส จึงสอดคล้องกับข้อกำหนดในเรื่องความคงทนของหนังสือเดินทาง (การใช้ active IC มีปัญหาในเรื่องอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่ไม่สามารถยืนยาวถึง 10 ปี)
            การที่ประเทศไทยจะเริ่มหันมาใช้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น นับว่าเป็นประเด็นที่นักวิจัยควรให้ความสนใจ เนื่องจากในอนาคตความต้องการของตลาดไม่ว่าจะเป็นส่วนของไมโครชิป เครื่องอ่าน และระบบซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการข้อมูลจะมีความต้องการมากขึ้น  ดังนั้นจึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะหันมาสนใจพัฒนาในเรื่องดังกล่าว

 

ที่มา: เอกสารสรุปเกี่ยวกับโครงการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์  ของกองหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศ
https://travel.state.gov/visa/tempvisitors_novisa_waiver.html
Use of Contactless Integrated Circuits in Machine Readable travel Document, Technical Report.

 

ผลการสำรวจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส

 

Forrester Research: 

จากการสำรวจบริษัทที่มีรายได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ พบว่าร้อยละ 72 ของกลุ่มตัวอย่างมีแผนจะใช้ลีนุุกส์เพิ่มขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า  และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20 แสดงให้เห็นว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาเดียวกัน

IDC:

- ปี 2002 ยอดจำหน่ายลีนุกซ์เซิร์ฟเวอร์เท่ากับ 2.05 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2001 ราวร้อยละ 63
- ปี 2002 ลีนุกส์มีส่วนแบ่งตลาดซอฟต์แวร์ลูกข่ายในสหรัฐอเมริการ้อยละ 2 ในขณะที่ระบบปฏิบัติการของแมคอินทอชมีส่วนแบ่งร้อยละ 3 และ ไมโครซอฟต์วินโดว์มีส่วนแบ่งร้อยละ 94
- ไตรมาสที่ 2 ของปี 2002 เครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ีใช้ลีนุกส์เป็นระบบปฏิบัติการนั้น  เป็นเครื่องของ Hewlett-Packard ร้อยละ 29  เครื่องของ Dell ร้อยละ 20.5 และ เครื่องของ IBM ร้อยละ 19.4

IBM:

ศูนย์เทคโนโลยีลีนุกส์ของ IBM มีโปรแกรมเมอร์ถึง 3,000 คน

EVANS Data:

อุปสรรคสำคัญของโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ คือ ไมโครซอฟต์  รองลงมาคือ การออกแบบระบบ  การขาดการสนับสนุน  ภาพพจน์ของโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ เป็นต้น

 

ที่มา: CNET News.Com https://news.com.com

IT Digest เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำขึ้นเผยแพร่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หากท่านสนใจเป็นสมาชิก หรืออ่านบทความย้อนหลัง โปรดติดต่อเราได้ที่เว็บไซต์  https://digest.nectec.or.th/ (อยู่ระหว่างจัดทำ)
ที่ปรึกษา: ทวีศักดิ์ กออนันตกูล และ ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล   บรรณาธิการบริหาร: กัลยา อุดมวิทิต
กองบรรณาธิการ: ถวิดา มิตรพันธ์, รัชราพร นีรนาทรังสรรค์, จิราภรณ์  แจ่มชัดใจ, พรรณี  พนิตประชา, อภิญญา  กมลสุข  และ จินตนา พัฒนาธรชัย 
สงวนลิขสิทธิ์ (c) 2547 โดยเนคเทค