ทัพฟ้ากับการบรรเทาสาธารณภัย: กิจการพลเรือน

 

 

๑. ความสำคัญและความเป็นมา
ปัจจุบันสถานการณ์โลกในยุคสงครามเย็นได้ยุติลงแล้ว ภัยคุกคามด้วยกำลังทหารจากภายนอกประเทศมีแนวโน้มลดลง การรุกรานด้วยกำลังทหารขนาดใหญ่จากภายนอกประเทศไม่น่าจะเกิดขึ้นใน ๑๐ ปีข้างหน้า ในขณะที่ได้เกิดภัยคุกคามต่อชาติขึ้นในรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นการต่อสู้ด้านผลประโยชน์ของชาติ ในเรื่องทางเศรษฐกิจ ประเทศต่างๆ ได้ให้ความสนใจผลประโยชน์ของชาติทางด้านนี้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องยาเสพติด แรงงาน/อาชญากรรมต่างชาติ และสาธารณภัย เป็นต้น บทบาทของกองทัพในการป้องกันประเทศ และการรักษาความสงบเรียบร้อยจากการก่อความไม่สงบลดน้อยลง กองทัพจึงต้องปรับนโยบายและเปลี่ยนแปลงแนวความคิดทั้งด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และการช่วยเหลือประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันและรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นที่พึ่งของประชาชน สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีความสมัครสมานสามัคคี และร่วมกันพัฒนาประเทศ ซึ่งทุกอย่างจะสำเร็จได้โดยการดำเนินงานด้านกิจการพลเรือนเป็นหลัก งานกิจการพลเรือนนั้น เป็นงานที่ละเอียดอ่อน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคน พัฒนาสังคม และการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องมีวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม โดยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถนำพาสังคมไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ ดังนั้นงานด้านกิจการพลเรือน จึงเป็นงานหลักที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุภารกิจของกองทัพ ในการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ กองทัพอากาศเป็นหน่วยงานหนึ่งของกองทัพ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กองทัพอากาศจะต้องดำเนินงานกิจการพลเรือน เพื่อสนับสนุนการป้องกันภัยอันอาจจะเกิดจากปัญหาที่จะกระทบต่อความมั่นคงของชาติที่ได้กล่าวในข้างต้น หรือเมื่อเกิดแล้วก็ต้องสนับสนุนการบรรเทา แก้ไข และฟื้นฟูให้สู่สภาพปกติโดยเร็ว โดยใช้กำลังพล เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และยุทโธปกรณ์ รวมทั้งงบประมาณที่มีอยู่ดำเนินการทั้งปวง ตามขีดความสามารถ



๒. ความหมายของกิจการพลเรือน
กิจการพลเรือน หมายถึง การดำเนินงานของทหารในเรื่องที่เกี่ยวกับปัจจัยทางด้านการเมือง การเศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มุ่งเพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนและประชาชนร่วมให้การสนับสนุนกิจการทหาร ทั้งในยามสงครามและในยามปกติได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ (ยามสงครามไม่กีดขวาง,ยามปกติร่วมพัฒนา)



๓. วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ของงานกิจการพลเรือน คือ การดำเนินงานที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนเพื่อให้บรรลุภารกิจของหน่วย (ทั้งในด้านความมั่นคง และพัฒนาประเทศ) ดังนี้

๓.๑ ส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของส่วนราชการพลเรือน เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน
๓.๒ ดำเนินการต่อประชาชนและทรัพยากรในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อการป้องกันหรือ ลดการกีดขวางการปฏิบัติการทางทหาร และเพื่อลดความเสียหายอันอาจเกิดจากการสู้รบ
๓.๓ ดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ประชาชน และทรัพยากรในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อการพัฒนาประเทศและรักษาสิ่งแวดล้อม
๓.๔ ดำเนินการเพื่อเป็นหลักประกันว่า การปฏิบัติงานทั้งปวงของหน่วยสอดคล้องกับนโยบายทางการเมืองของประเทศ และเป็นไปตามพันธะข้อผูกพันต่าง ๆ ทั้งตามกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ

 

๔. ขอบเขตการดำเนินการ
ขอบเขตการดำเนินการด้านกิจการพลเรือน ประกอบด้วยกลุ่มงานหลัก ๘ ประการ
๔.๑ การปฏิบัติการด้านพลเรือน การปฏิบัติการด้านพลเรือน หมายถึง การดำเนินงานของทหารในลักษณะเดียวกัน หรือลักษณะที่เกี่ยวข้องกับงานในความรับผิดชอบของฝ่ายพลเรือน เพื่อประสานให้การปฏิบัติงานของทหารและการปฏิบัติงานของฝ่ายพลเรือน มีความสอดคล้องและเกื้อกูลซึ่งกันและกันในขอบเขตตามนโยบายของประเทศ และพันธะข้อผูกพันต่าง ๆ ทั้งตามกฎหมายในประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง/ปกครอง การเศรษฐกิจ การสังคมจิตวิทยา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
๔.๒ การปฏิบัติการจิตวิทยา  การปฏิบัติการจิตวิทยา หมายถึง การดำเนินงานทางจิตวิทยาในรูปแบบต่าง ๆ ที่ได้วางแผนไว้และใช้กระทำโดยตรง หรือทางอ้อมต่อกลุ่มชนเป้าหมาย ซึ่งอาจเป็นฝ่ายเดียวกัน ฝ่ายเป็นกลาง หรือฝ่ายตรงข้าม เพื่อปรับปรุงพัฒนาความคิด อารมณ์ ทัศนคติและพฤติกรรม ให้เป็นไปในทางที่เกื้อกูลต่อการบรรลุตามเป้าหมายของชาติ โดยแยกออกเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ และการต่อต้างการโฆษณาชวนเชื่อ กระทำโดยการปฏิบัติการจิตวิทยา ซึ่งหมายรวมถึงการใช้สื่อและกิจกรรมสนับสนุน
๔.๓ การประชาสัมพันธ์  การประชาสัมพันธ์ หมายถึง การใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทั้งปวง เพื่อเผยแพร่ข่าวสารที่สำคัญและเป็นประโยชน์ไปสู่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อเสิรมสร้างความสัมพันธ์และความ เข้าใจอันดีระหว่างหน่วยงาน องค์การ สถาบัน กับกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหวังผล ในความร่วมมือและการสนับสนุนจากประชาชนพลเรือน
๔.๔ การเสริ
มสร้างอุดมการณ์ในหน่วยทหา   หมายถึง การดำเนินการในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบและต่อเนื่อง เพื่อให้บุคคล/กลุ่มชนยอมรับและเชื่อมั่นในความคิดที่ถูกต้องและชอบธรรม อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม และมีปณิธานมั่นคง ที่จะปฏิบัติให้บรรลุในความคิดนั้น
๔.๕ การสนับสนุนการพัฒนาประเทศ  การสนับสนุนการพัฒนาประเทศ หมายถึง การดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการต่าง ๆ ที่ทหารรับผิดชอบ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการของส่วนราชการและภาคเอกชน โดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์ และกำลังพลที่มีอยู่ภายในขอบเขตที่สามารถจะกระทำได้ เพื่อพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
๔.๖ การดำเนินงานด้านกิจการพลเรือนในภาวะไม่ปกติ  หมายถึง การดำเนินงานด้านพลเรือนเกี่ยวกับการพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลัง การอพยพประชาชน การปกครองดินแดนที่ได้จากการยึดครองโดยประสานการปฏิบัติกับส่วนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน
๔.๗ การบรรเทาสาธารณภัย  หมายถึง การป้องกัน บรรเทา และลดอันตราย ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแะของรัฐ อันเนื่องมาจากสาธารณภัย ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น(ไม่รวมถึงภัยอันเกิดจากการสู้รบ หรือภัยสงคราม) รวมทั้งการดำเนินการฟื้นฟูบูรณะให้คืนสู่สภาพปกติภายหลังที่เกิดภัย
๔.๘ การฝึกศึกษาด้านกิจการพลเรือน การฝึกศึกษาด้านกิจการพลเรือน หมายถึง การส่งเสริมให้บุคลากรของหน่วยได้มีทักษะงานด้านกิจการพลเรือนเพิ่มมากขึ้น สามารถนำความรู้ไปดำเนินการเผยแพร่ให้แก่กำลังพล และประชาชนได้นำไปปฏิบัติเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้



๕. การดำเนินการ
เนื่องด้วยสถานการณ์ของโลกยุคหลังสงครามเย็น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดุลย์อำนาจของโลกเสียใหม่ การล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์ และการปรับตัวของประเทศในกลุ่มดังกล่าวไปสู่แนวทางการพัฒนาประเทศในทิศทางระบบทุนนิยม อุดมการณ์ประชาธิปไตย ก่อให้เกิดผลกระทบกับสังคมไทยหลายด้าน เช่น กรณีการรวมกลุ่มทางการค้าของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ย่อมทำให้เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ลดความได้เปรียบเชิงเทียบลง เช่น มีข้อกำหนดกฏเกณฑ์ทางการค้าเพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้ผลิตสินค้ามากรายขึ้น เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจจะไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับสังคมไทย ถ้าหากไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำขึ้นมาอีกปัจจัยหนึ่ง ดังนั้น มายสุดท้ายไว้ให้ได้ รัฐบาลไทยจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ทั้งยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ และทบทวนปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารการพัฒนาเสียใหม่ ให้สามารถรองรับและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ กองทัพไทย ในฐานะกลไกหนึ่งของรัฐบาลที่จะต้องรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ จึงต้องปรับเปลี่ยนทั้งแนวคิด ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ให้สามารถดำรงจุดมุ่งหมายสุดท้ายไว้ให้ได้

แมว่าจะมีผลกระทบดังกล่าวขึ้นต้นเป็นข้อจำกัดก็ตาม แต่กองทัพไทยก็จะต้องดำรงสถานภาพในฐานะองค์กรประกันความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นที่พึ่งของประชาชนและสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนมีความสมัครสมานสามัคคีร่วมกันพัฒนาประเทศภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ซึ่งทุกอย่างสำเร็จโดยการดำเนินงานในด้านกิจการพลเรือนเป็นหลัก ทั้งนี้ กองทัพได้กำหนดนโยบายการดำเนินงานด้านกิจการพลเรือนให้ทุกส่วนราชการยึดถือ เป็นนโยบายสำคัญประการหนึ่ง งานด้านกิจการพลเรือนของกองทัพไทย มีลักษณะเฉพาะและเป็นงานที่ถือว่าถูกสังเคราะห์มาจากการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยเอง ซึ่งกิจการทหารของชาติอื่น ๆ จะมีปรัชญาแนวคิดและวิธีการที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ งาในด้านกิจการพลเรือนของไทย เริ่มต้นในสมัยการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ที่ทำให้ฝ่ายทหารเปลี่ยนวิธีการวิเคราะห์สาเหตุแห่งปัญหาว่าภัยคุกคามนั้นมิใช่มีสาเหตุมาจากภายนอกแต่ประการเดียว แต่มี พื้นฐานของปัญหามาจากภายในด้วย คือ เป็นผลพวงความไม่เท่าเทียมของการพัฒนาประเทศ ความเหลื่อมล้ำในสังคม ความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาต้องจัดการพัฒนาภายในสังคม ให้มีทิศทางพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่ก่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน เป็นต้น หมายถึงในงานด้านกิจการพลเรือนของทหารไทย มองเป้าหมายที่การดำเนินกิจกรรมการพัฒนาที่หวังผลสัมฤทธิ์ในระยะยาวมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น ดังเช่น ทหารประเทศอื่น ๆ นิยมทำกันที่เรียกว่า การช่วยเหลือประชาชนซึ่งมักลงเอยด้วยการสงเคราะห์ หรือหยิบยื่นความช่วยเหลือระยะสั้นด้านวัตถุ โดยละเลยการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนช่วยตนเองได้พัฒนาคุณภาพชีวิตในระยะยาว งานกิจการพลเรือนของทหารไทยจึงเป็นงานที่ละเอียดอ่อนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาคนและการพัฒนาประเทศ จำเป็นจะต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถ มีคุณภาพ มีความรู้พอที่จะสามารถนำพาสังคมไปสู่จุดหมายที่ต้องการ