ยักษ์


เรื่องราวที่เกี่ยวกับความเป็นมาและกำเนิดของยักษ์นั้น ตรวจสอบจากเอกสารต่าง ๆ ดูแล้วไม่แน่ชัด และไม่มีบันทึกเขียนไว้ชัดเจนนัก แต่เรื่องราวเกี่ยวกับยักษ์ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ยักษ์ไทย จะมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทั้งที่เป็นพุทธและพราหมณ์ ได้พรรณนาให้ทราบว่า ยักษ์นั้นเป็นพวกอมนุษย์ คือไม่ใช่ทั้งมนุษย์และเทวดา บางทีก็เรียกว่าอสูร หรือ รากษส การที่เป็นพวกอมนุษย์ทำให้ยักษ์ถูกมองว่าเป็นพวกที่ใจดำอำมหิต ดุร้าย ซึ่งจริงๆ แล้วยักษ์นั้นมีทั้งยักษ์ดีและยักษ์ที่ดุร้าย ยักษ์ดีที่อยู่ข้างฝ่ายธรรมะจะมีท้าวกุเวร หนึ่งในสี่จตุโลกบาลเป็นหัวหน้า ส่วนยักษ์ร้ายหรือฝ่ายอธรรม จะมีทศกัณฐ์เป็นหัวหน้า
เดิมประติมากรรมรูปยักษ์นั้นได้ปรากฏมานานแล้ว แต่สันนิษฐานว่าเพิ่งจะมาแพร่หลายเด่นชัดเป็นศิลปะอยู่ตามวัดวาอารามในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้อาจจะด้วยอิทธิพลของพระราชนิพนธ์เรื่อง รามเกียรติ์ และภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นส่วนให้เกิดจินตนาการในการสร้างศิลปกรรมขึ้นมา
การที่ยักษ์ถือกระบองเฝ้าประตูนั้น กล่าวกันว่า ยักษ์จะทำหน้าที่ช่วยปกป้องรักษา ขับไล่ภูติผี ความชั่วร้ายต่างๆ และปกป้องพระพุทธศาสนา ทั้งนี้มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ มียักษ์สองตนชื่อ สาตาเศียร กับ เหมวัตสิง ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในกลุ่มภูเขาตอนเหนือแม่น้ำคงคา ได้นำบริวารยักษ์มาเข้าเฝ้า และสนทนาข้อปัญหาธรรมต่าง ๆ ในที่สุดได้เกิดศรัทธายอมนอบน้อมเป็นข้าช่วงใช้พระทุทธองค์ ดังนั้นจึงมีคติการสร้างรูปยักษ์เฝ้าวัด ขณะเดียวกันอีกความหมายหนึ่ง รูปปั้นยักษ์ยังอาจหมายถึงท้าวกุเวร ผู้เป็นหัวหน้าของยักษ์ ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในสี่ของจตุโลกบาลผู้ปกป้องดูแลโลกและทิศทั้งสี่อีกด้วย



ศิลปกรรมรูปปั้นยักษ์ที่เด่น ๆ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ ยักษ์วัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ยักษ์วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) และยักษ์วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) สำหรับช่างที่มีฝีมือในการปั้นรูปยักษ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ หลวงเทพรจนา (กัน) ซึ่งเป็นผู้ปั้นรูปยักษ์สองตัวบริเวณซุ้มประตู หน้าพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม
ภาพพจน์ของยักษ์ในความรู้สึกของคนทั่วไปดูเป็นสิ่งที่ดุร้าย น่ากลัว แต่เมื่อนำมาจัดสร้างขึ้นด้วยจินตนาการของช่างไทย และศิลปกรรมแบบไทยกลับมีความงดงามเด่นเป็นสง่าน่าเกรงขาม ประทับตาประทับใจ เมื่อได้เข้าไปในวัด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเรียกว่า วิญญาณในศิลปกรรมไทย 




โดย : นาง จันทร์จิรา พงษ์ชู, รร.ปทุมวิไล, วันที่ 20 พฤษภาคม 2545