จ.ภูเก็ต

จังซีลอน – บูกิ๊ต - ภูเก็ต

ภูเก็ตสมัยนั้นประชากรมีเพียงแสนคนเศษ แบ่งการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.กะทู้
อ.ถลาง เหมือนกันทุกวันนี้ ชื่อภูเก็ตว่ากันว่า มาจากคำว่า “บูกิ๊ต” ภาษามาลายู แปลว่า “ภูเขา” ตามลักษณะภูมิศาสตร์ที่มองจากทะเลเห็นเกาะที่เป็นเนินเขา หลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีกล่าวกันว่านักเดินเรือโบราณที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดีย ผ่านแหลมมาลายู (ซึ่งคงเป็นเส้นทางสายไหมที่สำคัญเส้นทางหนึ่ง)
มาจนถึงภูเก็ต เรียกภูเก็ตว่า “จังซีลอน” นักเดินทางเรือสมัยปัจจุบันอย่างเราเคยนั่งเรือครุยส์ หรือเรือสำราญแบบ “ไตตานิค” จากเมืองโคลัมโบของศรีลังกา หรือ “ซีลอน” 2 วัน 3 คืน มาถึงภูเก็ต เห็นแล้วก็ถึงบางอ้อ ว่าทำไมถึงเรียกภูเก็ตว่า “จังซีลอน” เพราะภูเก็ตมีลักษณะเหมือนซีลอนที่เป็นเกาะติ่งอยู่ปลายแผ่นดินอินเดีย หยิบแผ่นที่ไทยมาดู “ภูเก็ต” ก็เป็นติ่งอยู่ตรงด้ามขวานของแผ่นดินใหญ่เหมือนกัน ดูไปดูมาเปรียบเกาะเหมือนมุกเม็ดงามของแผ่นดิน ก็เลยให้สมญานามว่าเป็น “มุกแห่งอันดามัน” หรือ “Pearl of South” ในหมู่ผู้คนต่งถิ่นที่มาพบเห็นความสวยงามของเกาะนี้
ชาวภูเก็ตเดิมทีนั้นฐานะทางเศรษฐกิจดีมาก ทรัพย์ในดินสินในน้ำอุดมสมบูรณ์ บนดินมีแร่ (ดีบุก) ในน้ำก็มีแร่ แถมยังมียางพาราและธุรกิจค้าขายต่างๆ มากมายมหาศาล เรื่องท่องเที่ยวคืออะไรไม่รู้จัก
ฝรั่งที่เดินอยู่ในเมืองส่วนใหญ่มาติดต่อเรื่องธุรกิจ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาอาชีพต่างๆ หาดทรายชายทะเลมีแต่ต้นมะพร้าว ต้นสับปะรดที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ย่าหนัด” ขึ้นเป็นพืดทั้งเนินเขา แถมชายหาดบางเวลายังเป็นที่แช่น้ำเล่นของควายอีกต่างหาก ชาวภูเก็ตจะไปเที่ยวซีกทีก็นั่งรถสองแถว หรือขี่มอเตอร์ไซด์ไปที่หาดใกล้ๆเมือง เช่น หาดราไวย์ นั่งกินปลาเผา ดูชาวเลร้องเพลง เต้นรองเง็ง และขายเปลือกหอย ชีวิตเรียบง่ายสงบสุข มีโรงเต้นรำ บาร์รำวง พอให้ได้บรรยากาศในยามราตรี เทศกาลงานประเพณีไม่มีมากนัก ที่ขึ้นชื่อหน่อยคือ งานประเพณีกินผัก หรือกินเจ





โดย : นางสาว ณิชา โตวรรณเกษม, โรงเรียน ภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 16 มกราคม 2545