คลองสำโรง


คลองสำโรงเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง มีความยาวประมาณ 55.650 กิโลเมตร ขุดในสมัยขอมเรืองอำนาจ ระหว่างพ.ศ.978 ถึง1700 หลักฐานที่พบคือ คำดั้งเดิมซึ่งเป็นภาษาขอม เช่น ทับนาง หนามแดง บางโฉลง ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาขอมชี้แจงว่า "โฉลง" เพี้ยนมาจากคำว่า จรรโลง แปลว่า ยก (ยกในที่นี้ อาจบ่งถึงสภาพท้องถิ่น มีการยกยออยู่ตามลำคลองหรือมีการยกเรือ ลากเรือในช่วงหน้าแล้ง)
พ.ศ. 2041 ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้โปรดเกล้าฯให้ขุดคลองสำโรงขึ้น เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์
พ.ศ. 2136 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปตีเขมร ได้ใช้คลองสำโรงเป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงทางน้ำโดยจัดตั้งตำบลขนส่งไว้ที่บางพลี
พ.ศ.2350 สุนทรภู่กวีเอกของไทยได้เดินทางมาตามคลองสำโรงไปหาบิดาที่เมืองแกลง ผ่านบางพลี ทับนาง บางโฉลง บ้านไร่ บางกระเทียม หัวตะเข้ คลองบางเหี้ย บางบ่อ
พ.ศ. 2485 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่บางปู สมัยสงครามโลกครั้งที่2(พ.ศ.2484-2488)ตั้งค่ายอยู่ที่ปากน้ำพื้นที่บริเวณค่ายห่างจากถนนเทพารักษ์ประมาณ 500 เมตร ตรงกิโลเมตร 1 ญี่ปุ่นได้ขุดคลองเชื่อมคลองสำโรงเรียกว่า คลองญี่ปุ่น เพื่อเป็นการขนส่งเสบียงอาหารอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันถูกรุกล้ำคลองเชื่อมไปหมดแล้ว แต่ยังพอมีส่วนหนึ่งของคลองที่ตื้นเขิน
คลองสำโรงถือว่าเป็นคลองประวัติศาสตร์คลองหนึ่ง มีอายุประมาณ 800 ปีเปรียบเสมือนเส้นเลือกใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอำเภอบางพลี เป็นเส้นทางคมนาคมการเกษตรกรรม อุปโภค บริโภค และเป็นเส้นทาง ยุทธศาสตร์ในอดีต ฉะนั้นชาวอำเภอบางพลีควรจะอนุรักษ์และฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ คงอยู่คู่กับอำเภอบางพลีตลอดไป สภาวัฒนธรรมอำเภอบางพลีได้ฟื้นฟูย้อนรอยอดีตสุนทรภู่จากบางพลีบางโฉลง โดยมีเรือพาชมทิวทัศน์สองฝั่งคลองสำโรง มีเรือพายจำหน่ายสินค้าในคลองสำโรง และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ


โดย : นางสาว สุกัญญา อ่อนสำลี, โรงเรียนบางพลีราษฎร์บำรุง, วันที่ 27 มกราคม 2545