ประวัติชายสี่บะหมี่เกี๊ยว
คลิกเพื่อเพิ่มข้อความ

“พันธ์รบ กำลา” เจ้าตำรับ "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว" จากลูกอีสาน สู่เถ้าแก่ร้อยล้าน

ย้อนหลังกลับไปเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ณ จังหวัดร้อยเอ็ด “พันธ์รบ กำลา” กำเนิดในครอบครัวชาวนายากจน โดยเป็นพี่ชายคนโต มีน้องชายอีก 3 คน และน้องสาว 1 คน เขาเล่าย้อนเส้นทางชีวิตให้ฟังว่า ...

“ผมเป็นเหมือนลูกชาวนาจนๆ ทั่วไป ได้เรียนแค่ชั้น ป.4 หลังจากนั้น ต้องออกมาใช้ชีวิตเหมือนชาวนาทั่วไป ทำไร่ทำนาไปวันๆ จนกระทั่งอายุ 14 ปี ได้เข้าทำงานในกรุงเทพฯ ได้งานเป็นคนสวนในบ้านนายจ้าง ย่านปากเกร็ด นนทบุรี ค่าจ้างเดือนละ 300 บาท”

“นายจ้างผมเป็นคนมีเมตตา จึงเปิดโอกาสให้เรียนต่อ ระหว่างทำงานเป็นคนสวน จึงเข้าเรียน กศน. ไปด้วย จนกระทั่งจบชั้น ม.3 จากนั้น เข้าทำงานในโรงงานวัสดุเครื่องใช้ในครัวเรือนอยู่ 1 ปี จนเมื่ออายุ 21 ปี จึงกลับไปเกณฑ์ทหารที่บ้านเกิด หลังจากปลดประจำการ แต่งงานมีครอบครัว และยึดอาชีพทำงานนาเป็นหลัก พอหมดฤดูทำนาในแต่ละปี ก็จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ รับจ้างขายไอศครีม”

ชีวิตของเขาวนเวียนอยู่เช่นนี้หลายปี จน 2535 น้องชายคนที่ 2 ซึ่งรับจ้างวิ่งส่งลูกชิ้นในกรุงเทพฯ ได้แนะนำให้มาขายก๋วยเตี๋ยวดู เพราะเห็นร้านก๋วยเตี๋ยวลูกค้าที่เขาวิ่งส่งต่างขายดีทั้งนั้น พันธุ์รบ เกิดความสนใจ จึงชวนภรรยาเข้ากรุงเทพฯ ลงทุนหารถเข็น ขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใส แถวหน้าสนามธูปะเตมีย์ หลังจากนั้น จึงเปลี่ยนมาขายบะหมี่ด้วย

“ผมถือว่า นี่เป็นจุดพลิกผันของชีวิตเลยทีเดียว ธุรกิจขายก๋วยเตี๋ยว ประสบความสำเร็จมาก แค่ 2 ปี มีเงินเก็บถึง 6-7 แสนบาท”

“จนปี 2537 ผมเริ่มทดลองผลิตเส้นบะหมี่เพื่อขายเองในร้าน เพราะต้องการลดต้นทุน และในอีกประการ เพราะเส้นบะหมี่ที่รับมาคุณภาพไม่เป็นตามต้องการ แต่ช่วงแรกลำบากมาก เพราะเราไม่มีความรู้ใดๆ ในกระบวนการผลิต อีกทั้งยังไม่มีเครื่องมือ เราก็ต้องทุ่มเทเรียนรู้ด้วยตนเอง ใช้มือนวดแป้งเอง จนผ่านไป 1 ปีเต็มจึงได้สูตรลงตัวเป็นที่พอใจของลูกค้า”

เมื่อกิจการของตัวเองประสบความสำเร็จ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ คนอยากมาขายบะหมี่รถเข็นบ้าง พันธุ์รบจึงได้เริ่มผลิตเส้นส่งให้กับพ่อค้าหน้าใหม่เหล่านี้

“ชายสี่ บะหมีเกี๊ยว แตกสาขาออกไปทีละเล็กละน้อย และเพิ่มจำนวนขึ้นไม่ขาดสาย จนเลิกขายเอง หันมายึดอาชีพผู้ผลิตเส้นบะหมี่ขายพร้อมสูตรต่าง ๆ ในระบบแฟรนไชส์ เช่นในปัจจุบัน แม้ว่าเดี๋ยวนี้ จะมีคู่แข่งรายใหม่ๆ เข้ามา แต่ยอดลูกค้าของเรา ไม่เคยตก”

แม้จะมีความรู้เพียงแค่ ม.3 แต่พันธ์รบ เชื่อว่า ความเป็นคนรักการอ่าน และมุ่งมั่นศึกษาด้วยตัวเอง เป็นส่วนสำคัญให้เขามีวันนี้

“การเรียนในสถานการศึกษา คือการเรียนรู้จากนักวิชาการ และตำรา แต่ในความจริง มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผมเป็นอ่านหนังสือเยอะ และเป็นคนช่างสังเกต ผมจะมีสมุดโน้ตติดตัวตลอด เวลาดูทีวีเห็น หรืออ่านหนังสืออะไรก็ตาม ที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการบริหารงาน ธุรกิจ หรือวางตัว เพื่อปกครองลูกน้อง ผมจะโน้ตสรุปย่อไว้ แล้วก็พูดอัดเสียงเก็บไว้ เพื่อไม่ต้องอ่านอีก แล้วก็จะมาเปิดฟังอยู่เสมอๆ เพื่อเป็นการย้อนสมองตัวเอง“

เปิดอาณาจักร “ชายสี่” 10 ปี ทะลุ 2,000 สาขา

นับจากปี 2537 จากรถเข็นขายบะหมี่เกี๊ยวคันเดียว ระยะแค่ 10 ปี ปัจจุบัน “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” มีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 2,000 สาขา โดยแบ่งเป็นในกทม. 70% ตจว. 30% พนักงานประจำ 120 คน มีโรงงานผลิตและส่งสินค้า 5 แห่ง ทั้งใน กทม. และตามภาคต่างๆ

ยอดส่งเส้นบะหมี่ และแผ่นเกี๊ยว ประมาณ 5-6 ตันต่อวัน คิดอัตราขายรวมค่าขนส่ง 37 บาทต่อกิโลกรัม โดยโรงงานมีศักยภาพผลิตได้สูงสุดถึงวันละ 20 ตัน นอกจากนั้น ยังมีรายได้จากการขายแฟรนไชส์ พร้อมอุปกรณ์ 47 รายการ สำหรับลูกค้า ในราคา 33,000 บาท

“ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” ชื่อนี้ได้แต่ใดมา ?

ที่มา ของชื่อ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” พันธ์รบ บอกว่า ตั้งขึ้นมาเอง โดยไม่ได้ตั้งใจจะสื่อความหมายอะไรเลย เพราะตอนที่คิดแค่อยากได้ชื่อที่เห็นชัดๆ สะดุดตา เมื่อคำนวณจากขนาดป้ายแล้ว เห็นว่าไม่ควรเกิน 4 พยางค์ ตัวเองเป็นคนชอบอ่านนิยายจีน จึงอยากตั้งใจให้ชื่อออกเป็นแนวจีนๆ ตอนแรกคิดไว้หลายชื่อเช่น ปักกิ่ง ป๊ะป๋า ราชินี จนมาลงตัวที่ “ชายสี่” เพราะคล้องกับคำว่า “บะหมี่เกี๊ยว” ภายหลังเมื่อชื่อเริ่มติดหู ลูกค้าที่กินจึงให้คำอธิบายเสียเองว่า ชื่อ ชายสี่ เพราะมีพี่น้องที่เป็นผู้ชายด้วยกัน 4 คน

ที่มา : ผู้จัดการ วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2547



แหล่งอ้างอิง : ผู้จัดการ วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2547

โดย : นางสาว ปริณดา ณ ระนอง, โรงเรียนสตรีระนอง, วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2547