กินเจ…..ถือศีลกินผัก…..จังหวัดภูเก็ต


เสียงประทัดดังก้อง กลิ่นธูปคละคุ้งไปทั่วเมือง เริ่มแล้วกับงานเทศกาลกินเจ ประเพณีดั้งเดิมปฏิบัติกันมานาน ประชาชนพร้อมใจกันสวมชุดขาว เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์
ดังที่เล่าขานกันมาช้านาน ว่าประเพณีถือศีลกินผัก (เจี๊ยะฉ่าย) จ.ภูเก็ตนั้นเริ่มแรกที่ อ.กะทู้ ในปี พ.ศ. 2368 พระยาถลาง (เจิม) ได้ย้ายเมืองถลางมาตั้งที่บ้านเก็ตโฮ่ ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ดีบุกแต่บริเวณนั้นเป็นป่าทึบและมี ไข้ป่าชุกชุม เมื่อคณะงิ้ว(ปั่วฮี่)จากเมืองจีนมาเปิดการแสดงเกิดล้มเจ็บลงจึงได้มีพิธีการกินผักขึ้น เพื่อบวงสรวงเทพเจ้า “กิ่วอ๋องไต่ไต่”(พระผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า) และ”ยกอ๋องส่องเต่”(พระอิศวร)



หลังจากนั้นโรคภัยไข้เจ็บได้หมดไป ชาวกะทู้เกิดศรัทธาจึงประกอบพิธีกินผักขึ้น เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวม 9 วัน 9 คืน ต่อมามีผู้อาสาไปอันเชิญ เหี่ยวเอี้ยว(ควันธูป) และเลื่อนตุ่ย(ป้ายชื่อ) พร้อมทั้งคัมภีร์ต่างๆที่ใช้ในพิธีกินผักที่มณฑล กังไส ประเทศจีน ได้กลับมาถึงในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 9 เมื่อชาวบ้านทราบข่าวได้จัดขบวนไปรับที่บ้านบางเหนียวอันเป็นกำเนิดพิธีรับพระ แต่บางศาลเจ้าจะไปรับพระที่ชายหาด เพราะเชื่อว่า เวลานั้นเป็นเวลาที่เรือสำเภาในอดีตได้เดินทางผ่านมาถึงจ.ภูเก็ต
ในพิธีกินผักนั้นช่วงบ่ายก่อนวันพิธีหนึ่งวันจะมีพิธียกเสาโกเต้ง และชาวบ้านก็จะมาช่วยกันปิดทองที่บริเวณเสา เพื่อเป็นศิริมงคล เสาจะถูกยกไว้ที่หน้าศาลเจ้าเพื่อประกอบพิธีอัญเชิญเทพเจ้า”ยกอ๋องส่องเต่”และ”กิ้วอ๋องไต่เต่”มาเป็นประธานในพิธีและจะนำตะเตียง 9 ดวง เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มพิธีไว้บนเสา ตลอด 9 วัน ของพิธีกินเจ




ทางศาลจะมีพิธีต่างๆที่จักขึ้นมา เช่น พิธีอัญเชิญ เทพลำเต้า-ปักเต้า (เทวดาผู้กำหนดเวลาเกิดและเวลาตาย) และมีพิธีอิ้วเก้ง(พิธีแห่พระ)ซึ่งพิธีนี้ คือ ม้าทรงทั้งหลายออกจากศาลเจ้าแล้วไปตามบ้านประชาชนที่ตั้งโต๊ะบูชา บนโต๊ะจะมีของไหว้ที่เป็นผลไม้ มาทำพิธีอวยพรและพิธีนี้ที่ม้าทรงที่ถูกเลือกโดยพระที่ตนนับถือให้เป็นร่างทรงก็จะเอาดาบหรือมีดแทงที่ปากและแก้ม เดินขบวนไปตามถนนต่างๆมีพิธีอาบน้ำมันที่ตั้งบนเตาไฟแล้วเอาราดตามร่างกาย และมีพิธีขึ้นบันไดมีดโดยมีมีดเป็นขั้นบันได หลังจากนั้นมีพิธีโก้ยโห้ย(พิธีลุยไฟ) ม้าทรงทั้งหลายก็จะลุยไฟเข้าไป จากนั้นจะมีพิธีโฏ้ยห่าน(สะเดาะเคราะห์) ประชาชนที่ได้ร่วมพิธีจะต้องเดินผ่านสะพานเล็กๆที่ศาลเจ้าได้จัดทำขึ้น ขณะข้ามก็โยนเหรียญบาทลงในถังไม้ที่รองรับอยู่ข้างล่างพร้อมด้วยตุ๊กตาที่ทางศาลเจ้าได้เตรียมไว้ให้ และในคืนเดียวกันก็มาถึงเวลาที่ต้องไปส่งพระที่ชายหาด ชาวบ้านทั้งหลายก็จะจุดประทัดกัน



โดย : นางสาว เกษรา แซ่ถัม, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 11 พฤศจิกายน 2544