นวดแผนโบราณ

การนวดแผนโบราณไทยนั้น เป็นที่เลื่องลือถึงกลเม็ดเด็ดพราย ช่วยผ่อนคลายความเจ็บป่วยเมื่อยล้า จะเคล็ดขัดยอกตรงไหน จับนิดบิดหน่อยเป็นอันรู้เรื่อง
และปัจจุบันการนวดโด่งดังข้ามทวีปไปไกลทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกา และแถบเอเชีย ล่าสุดก็มีข่าวคราวว่าที่ฮังการีมีการเปิดธุรกิจนวดแผนโบราณขึ้นกลาดเกลื่อน ในชื่อ Thai Traditional Massage
การนวดแผนโบราณนั้นมีมานานมากแล้ว ไม่อาจระบุได้ว่าเริ่มต้นมาเมื่อใด เท่าที่พบหลักฐานบันทึกจดหมายเหตุของราชทูตฝรั่งเศส ไซมอนเดอลูแบร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2204 กล่าวถึงการนวดเพื่อรักษาโรคของไทยสมัยนั้น
“ การนวดสืบทอดมารุ่นต่อรุ่น ครูบาอาจารย์ก็ได้ถ่ายทอดให้ลูกศิษย์จำกันต่อๆมา ส่วนไหนที่จำไม่ได้ไม่เข้าใจหรือใช้ไม่ได้ผลก็ถูกลืมและตัดทิ้งไป จนมาในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) เมื่อ พ.ศ.2374 โปรดเกล้าฯให้ประชุมรวบรวมตำราหมอนวด 60 ภาพ จารึกไว้ ณ ศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ด้านเหนือเขียนเป็นแผนรูปคนบอกตำแหน่งเส้น และจุดสำคัญ สำหรับแก้โรคแต่ละโรคให้คนศึกษาและปรับปรุง รูปปั้นฤาษีดัดตนใหม่จากที่ทำด้วยดินในสมัย ร.1 ให้เป็นเนื้อชิน ”
ในปี 2449 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้แพทย์หลวงจัดสังคายนา และแปลตำราแพทย์จากภาษาบาลิ สันสกฤตเป็นภาษาไทย จัดหมวดหมู่และทำเล่มเรียกว่า ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ (ฉบับหลวง) ซึ่งมีภาควิชาหัตถศาสตร์ เรียกว่า “ ตำราแบบนวดฉบับหลวง ” รวมอยู่ด้วย



30 พฤษภาคม 2505 หมอผล ถมยานิ่ม และคณะ ตั้งโรงเรียนสมาคมแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) เริ่มเปิดสอนโดยยึดหลักวิธีครูบอกต่อ ตามความชำนาญพิเศษเฉพาะตัว
หลังจากนั้นในปี 2534 นายกำธร ตั้งตรงจิตร อดีตนายกสมาคมแพทย์แผนโบราณฯ คิดจัดทำตำราการนวดให้เป็นมาตรฐานการสอน,การนวด จึงได้เชิญอาจารย์สอนนวดในวัดโพธิ์ทั้ง 18 ท่าน มาประชุม วางแนวทางทำตำราการนวดฉบับมาตรฐาน ได้ข้อสรุปให้ยึดถือเส้นประธานทั้ง 10 เส้น คือ เส้นอิทธา ปิงคลา สุมานา กาละทารี หัศรังศี ทวารี จันทภสิง รุทัง สุขุมัง สิกขินี แต่ละเส้นจะควบคุมระบบในร่างกายต่าง ๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ การเคลื่อนไหว สายตาและการมองเห็น ฯลฯ เป็นที่มาของคำว่า "นวดจับเส้น" ส่วนท่าดัดก็ให้ดัดเฉพาะท่าที่ปลอดภัยและให้ผลดี


โดย : นางสาว สาวิตรี จงรักจิตต์, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 14 พฤศจิกายน 2544