ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน

http://www.rdpb.go.th/thai/important/Projects/pj201.htm
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
บ้านนานกเค้า อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

1. พระราชดำริ / ความเป็นมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 ให้พิจารณาจัดทำโครงการ
จัดหาน้ำสนับสนุนโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน โดยมุ่งเน้นให้เป็นสถานศึกษา ทดลองการเกษตรในด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเผยแพร่สู่ราษฎรให้สามารถปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองได้

2. ผลการดำเนินงาน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีผลการดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ 1. การศึกษา ทดลอง ค้นคว้า ศึกษาค้นคว้าวิธีการที่เหมาะสม เป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งในการเกษตรกรรม การประมง การปศุสัตว์ การพัฒนาป่าไม้และการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งมีผลการศึกษาในปี 2542 ดังนี้
1.1 งานศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรม
กิจกรรมข้าว จัดทำแปลงแนะนำพันธุ์ (ข้าวนาสวน,ข้าวไร่) 16 พันธุ์ ศึกษาข้าวเหนียวพันธุ์ดีที่เกษตรกรนิยมปลูกในเขตหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ (นาปี+นาปรัง) ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ศึกษาเทคโนโลยีการปลูกข้าวไว้ทำพันธุ์และการปลูกข้าวยาคู ศึกษาเทคโนโลยีการผลิตข้าวโดยลดการไถพรวน ศึกษาอัตราเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมในการหว่านข้าวงอกในดินทราย และศึกษาพืชไร่เศรษฐกิจก่อนนา - หลังนา และพืชบำรุงดิน

กิจกรรมพืชไร่ ผลิตเมล็ดพันธุ์หลัก พัฒนาพันธุ์เพื่อให้ผลผลิตสูงและเหมาะสมในการปลูก พัฒนาพันธุ์ให้มีการตอบสนองต่อปุ๋ย เพื่อให้ผลผลิตคุ้มค่ากับการใช้ปุ๋ยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้เหมาะสมกับท้องที่ศูนย์ฯ พัฒนาวิธีการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชด้วยทางชีววิธีเพื่อลดการใช้สารเคมี พัฒนาการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน และรักษาสภาพแวดล้อม ศึกษาระบบปลูกพืชร่วมกัน เพื่อเพิ่มรายได้และปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นใน 2 ฤดูปลูก พัฒนาผลิตผลทางการเกษตรจากวัตถุดิบ (Raw Material) ไปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่ราคาแพง ในพื้นที่ 2 ไร่ และพัฒนาวิธีการป้องกันการสูญเสียระหว่างการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้มีการพัฒนาการเก็บรักษาเพื่อชะลอคุณภาพของผลผลิตพืชไร่เป็นการรักษาคุณค่าและราคาผลผลิต

กิจกรรมพืชสวน ดูแลและรักษาพันธุ์ ไม้ผลพันธุ์ดี จำนวน 50,000 ต้น

กิจกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ประเมินผลการเลี้ยงไหมสายพันธุ์ SP1xSB3 เกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ทดสอบระบบการปลูกพืชแซมหม่อน เพื่อพัฒนาสมรรถนะการใช้พื้นที่ดินต่อผลผลิตและรายได้ และบำรุงรักษาสวนหม่อนเดิม จำนวน 12 สายพันธุ์

กิจกรรมยางพารา ศึกษาผลิตยางพาราพันธุ์ดี การปลูกพืชสมุนไพรและหวายในสวนยางพารา ศึกษาแนวทางลดความเสี่ยงของเกษตรกรสวนยางขนาดเล็กในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และศึกษาการปลูกยางพาราเอนกประสงค์สำหรับสวนยางขนาดเล็ก

กิจกรรมเพาะเห็ด ศึกษาปรับปรุงเพาะเห็ดเศรษฐกิจ 5 ครั้ง 6,500 ถุง ปรับปรุงวัสดุเพาะเห็ดสมุนไพร 4,000 ถุง ทดสอบและแนะนำการเพาะเห็ดพื้นเมือง 2,000 ถุง สำรวจ และรวบรวมพันธุ์เห็ดธรรมชาติบริเวณพื้นที่ศูนย์ฯ 2 ไร่ และศึกษาการปลูกไม้ก่อเพื่อพัฒนาเป็นวัสดุเพาะเห็ดหอม 2 ไร่

กิจกรรมเกษตรแบบยั่งยืน ศึกษาและพัฒนาระบบการเกษตรที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืช เพื่อควบคุมศัตรูพืช และรักษาระดับการผลิตพื้นที่ 3 ไร่ รวมทั้งศึกษาและพัฒนาวิธีการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมพื้นที่ 2 ไร่

กิจกรรมแปรรูปผลิตผลการเกษตร ศึกษาและพัฒนาการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเพื่อเพิ่มคุณภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจ 300 กิโลกรัม

1.2 งานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์ ศึกษาทดสอบการเลี้ยงสัตว์เพื่อการผลิตลูก พบว่า สุกรพันธุ์เหมยซาน ไก่พื้นเมือง และเป็ดเทศ เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น การเลี้ยงโคเนื้อ และโคนมที่ถูกวิธี ตลอดจนการศึกษาการผลิตอาหารสัตว์ เพื่อสามารถเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรนำไปพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ของตนเอง

1.3 งานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ มีหลายกิจกรรม ดังนี้
กิจกรรมวนเกษตร ศึกษาการเจริญเติบโตของพืชในลักษณะการอยู่ร่วมกัน โดยใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดูแลและติดตามผล

กิจกรรมอนุรักษ์ต้นน้ำ งานศึกษาด้านอุทกวิทยาป่าไม้ ศึกษาและเก็บข้อมูลในด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น ปริมาณฝนที่ตกในแต่ละวัน ปริมาณความชื้นในดินในแต่ละสัปดาห์ ปริมาณการไหลของน้ำในแต่ละครั้งที่ฝนตก ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูล

งานศึกษาด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ ศึกษา 2 เรื่อง คือ
1) บทบาทของการทดแทนตามธรรมชาติ กับการสูญเสียดินและน้ำ ผลการดำเนินงาน ได้ดำเนินการทำแปลงทดลองในบริเวณพื้นที่ไร่ร้าง ป่าเต็งรังและป่าดินแล้ง และทำการเก็บข้อมูลปริมาณตะกอนและน้ำไหลบ่าหน้าดิน เพื่อหาปริมาณการสูญเสียดินและน้ำในแต่ละพื้นที่ดังกล่าว โดยทำการเก็บทุกครั้งที่ฝนตก สำหรับข้อมูลการทดแทนตามธรรมชาติ และข้อมูลมวลชีวภาพของไม้พื้นล่างจะทำการเก็บเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน
2) การเปลี่ยนแปลงสังคมพืชหลังการสร้างฝาย ผลการดำเนินงาน ได้ทำแปลงทดลองขึ้นในบริเวณป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง แปลงละ 1 ไร่ จำนวน 5 แปลง เพื่อเป็นตัวแทนของป่าเต็งรัง 3 แปลง และป่าดิบแล้ง 2 แปลง โดยอยู่ติดกับฝายน้ำล้นที่ชลประทานได้สร้างไว้ ปล่อยน้ำให้ไหลเข้าฝายเพื่อให้มีน้ำขังตลอดปี และได้สร้างแปลงควบคุม 2 แปลงๆ ละ 1 ไร่ ซึ่งอยู่นอกบริเวณการสร้างฝายโดย ให้เป็นป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง เพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบทำการเก็บข้อมูล ศึกษาโครงสร้างป่าของทั้ง 7 แปลง ทุกๆ ปี โดยเก็บช่วงต้นฤดูฝน คือ เดือนพฤษภาคม ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลเป็นปีที่ 3

งานเก็บข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านอุตุนิยมวิทยาทุกวัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบในการศึกษา วิจัยในงานวิจัยด้านต่างๆ ประกอบไปด้วยข้อมูลของอุณหภูมิสูงสุด - ต่ำสุด ปริมาณน้ำฝน การระเหยของน้ำ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม เป็นต้น รวมทั้งดูแลบำรุงรักษาครุภัณฑ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา

งานบำรุงรักษาแปลงสาธิตการปลูกพืชระบบเกษตร-ป่าไม้ กิจกรรมอนุรักษ์ต้นน้ำ ได้ทำแปลงสาธิตการปลูกพืชระบบเกษตร-ป่าไม้ ในพื้นที่ประมาณ 7.5 ไร่ โดยได้ทำการปลูกไม้ป่ายืนต้น 5 ชนิด คือยูคาลิปตัส ขี้เหล็ก สะเดา สัก และยางพารา ระยะปลูก 4 x 4 ระหว่างแถวปลูกไม้ป่าจะปลูกพืชหวาย เพื่อเป็นตัวอย่างในการใช้พื้นที่ทั้งในด้าน การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และการได้ ผลตอบแทนในด้านเศรษฐกิจ

กิจกรรมสาธิตและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงครั่ง มี 2 การทดลอง คือ
1) ศึกษาผลผลิตของหวายตัดหน่อที่ปลูกควบกับไม้เลี้ยงครั่งก้ามปู
2) ศึกษาผลผลิตของสมุนไพรบางชนิด (ขมิ้นชัน) ที่ปลูกควบกับไม้เลี้ยงครั่ง ซึ่งผลการทดลองทั้ง 2 อยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูล

1.4 งานสาธิตส่งเสริมและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการประมง เริ่มทดลองเลี้ยงปลาช่อนด้วยอาหารเม็ดลอยน้ำในบ่อดินขนาด 72 ตารางเมตร จำนวน 2 บ่อ และทดลองเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ขนาด 14 ตารางเมตร จำนวน 2 บ่อ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดูการเจริญเติบโต และเก็บข้อมูล

1.5 งานศึกษาและพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน ดำเนินการปรับรูปแปลงนาเพื่อควบคุมการใช้น้ำให้แก่เกษตรกรจำนวน 18 ราย ดำเนินการจัดแปลงสาธิตการทำปุ๋ยหมัก การใช้ปุ๋ยพืชสด การใช้ปุ๋ยคอก การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกไม้ผลบนดินลูกรัง เพื่อการปรับปรุงบำรุงดินให้ อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก การปลูกหญ้าแฝก เพื่อรักษาหน้าดินไม่ให้พังทลาย

2. การขยายผลการศึกษา
ในการขยายผลการศึกษาได้นำรูปแบบ วิธีการที่เหมาะสมหรือประสบผลสำเร็จ ดังกล่าว ไปเผยแพร่ สาธิต ส่งเสริมและสนับสนุนแก่ราษฎร เพื่อให้ราษฎรนำตัวอย่างที่ดีเหล่านี้ไปใช้ปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง โดยมีพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ พื้นที่แปลงสาธิตในศูนย์ศึกษา พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ พื้นที่ศูนย์สาขา 3 แห่ง พื้นที่หมู่บ้านอื่นๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
2.1 พื้นที่แปลงสาธิตในศูนย์ศึกษา ดำเนินการจัดทำแปลงสาธิตเพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรได้มาศึกษา ดูงาน และนำรูปแบบที่เหมาะสมไปดำเนินการในพื้นที่ของตนเอง ดังนี้
1) งานศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรม ได้แก่ กิจกรรมข้าว สาธิตการปลูกข้าวพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในศูนย์ศึกษา จำนวน 16 พันธุ์ เช่น ข้าวขาวดอกมะลิ หอมภูพาน กข 6 ซิวแม่จัน รวมทั้งสาธิตการใช้เทคโนโลยีการปลูกข้าวไว้ทำพันธุ์ และเทคโนโลยีการปลูกข้าวโดยการ ลดการไถพรวน เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรได้ศึกษา ดูงาน และนำวิธีการปลูกที่เหมาะสมไปปฏิบัติในพื้นที่เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น กิจกรรมพืชไร่ สาธิตและแนะนำพันธุ์มาตรฐานพืชไร่ต่างๆ ตลอดปี เช่น ถั่วเขียว ถั่วพุ่ม ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ข้าวโพด เป็นต้น รวมทั้งสาธิตการใช้เทคโนโลยีการผลิต ให้เหมาะสมกับพื้นที่ การควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชด้วยทางชีววิธีเพื่อลดการใช้สารเคมี กิจกรรมพืชสวน สาธิตและแนะนำไม้ผลพันธุ์ดี เช่น ลิ้นจี่ มะม่วง เงาะ ลำไย ซึ่งเจริญเติบโตได้ดี เหมาะสมที่จะนำไปปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสาธิตการปลูกไม้ผลเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน มังคุด เป็นต้น กิจกรรมหม่อนไหม สาธิตปลูกหม่อนที่เหมาะสมทั้งในเขตน้ำฝนและเขตชลประทาน คือ พันธุ์หม่อนน้อยขึ้นได้ดีในเขตน้ำฝน และต้านทานความแล้งได้ดี ส่วนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ให้ผลผลิตดีในเขตชลประทาน รวมทั้ง สาธิตการเลี้ยงไหมในห้องโดยอาศัยเทคนิควิธีการง่ายๆ ที่ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง กิจกรรมเพาะเห็ด สาธิตการเลี้ยงเห็ดที่สามารถใช้วัสดุหาง่ายในท้องถิ่น เช่น เห็ดนางฟ้า นางรม นางนวล รวมทั้งสาธิตการเพาะเห็ดพื้นเมือง เช่น เห็ดบด เห็ดขอนขาว และวิธีการเพาะเห็ดสมุนไพร เช่น เห็ดหลินจือ เห็ดหัวลิง เป็นต้น กิจกรรมยางพารา สาธิตการปลูกยางพันธุ์ดี ที่ให้ผลผลิตได้ดีในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ พันธุ์ PR 225 พันธุ์ RRIM 600 และพันธุ์ GT1 กิจกรรมระบบเกษตรผสมผสาน สาธิตการปลูกพืชแบบผสมผสานทั้งในเขตชลประทาน และเขตเกษตรน้ำฝน
2) งานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์ สาธิตการเลี้ยงโคนม และกึ่งเนื้อกึ่งนม 6 ตัว สาธิตการเลี้ยงโคเนื้อ 15 ตัว สาธิตการเลี้ยงสุกรเหมยซานทั้งพ่อ - แม่พันธุ์ เพื่อคัดเลือกลักษณะพันธุ์แท้ให้ลูกดก 15 ตัว สาธิตการเลี้ยงไก่ลูกผสมพื้นเมืองทั้งพ่อ - แม่พันธุ์ เพื่อศึกษาหาสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง 150 ตัว สาธิตการเลี้ยงเป็ดเทศทั้งพ่อ - แม่พันธุ์ เพื่อศึกษาหาสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง 80 ตัว
3) งานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ สาธิตการปลูกไม้ไผ่ชนิดต่างๆ และแปลงปลูกหวายดง สามารถนำมาใช้ขยายพันธุ์ โดยใช้ลำ เหง้า และเมล็ด เพื่อผลิตกล้าสำหรับส่งเสริมให้แก่เกษตรกร และผู้สนใจนำไปปลูกเพื่อเป็นอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว สาธิตการเพาะเลี้ยงครั่งที่เหมาะสม ที่ราษฎรสามารถนำไปดำเนินการแล้วได้ผลผลิตสูง สาธิตกิจกรรมวนเกษตร พื้นที่ดำเนินการ 18 แปลง เพื่อแสดงการปลูกพืชเกษตรควบคู่กับการปลูกต้นไม้แบบผสมผสานให้ได้ผลดี
4) งานสาธิตและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการประมง สาธิตการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน การเลี้ยงปลาในนาข้าวและในกระชัง สาธิตการเลี้ยงปลาร่วมกับไก่สามสายเลือดในบ่อครัวเรือน และสาธิตการอนุบาลลูกปลาวัยอ่อนในบ่อดินร่วมกับเกษตรกร ตลอดจนสาธิตการบริหารอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำในหมู่บ้าน
5) งานศึกษาและพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน ได้ดำเนินการสาธิตวิธีการปรับปรุงบำรุงดิน โดยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด การปลูกพืชหมุนเวียน การควบคุมการใช้น้ำ การจัดการเศษพืชหลังเก็บเกี่ยว การเพิ่มผลผลิตข้าวในพื้นที่ดินเค็ม การปลูกพืชตามแนวระดับ การปลูกพืชคลุมดิน
6) งานส่งเสริมการเกษตร สาธิตสวนสมุนไพร พื้นที่ 2 ไร่ เพื่อสามารถใช้พืชสมุนไพรได้อย่างถูกวิธีและเหมาะสม

2.2 พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ ดำเนินการขยายผลสู่ราษฎรหมู่บ้านรอบศูนย์ จำนวน 15 หมู่บ้าน ดังนี้
1) การนำรูปแบบทฤษฎีใหม่ไปขยายผล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้ขยายผลการพัฒนา โดยสนับสนุนการขุดสระน้ำตาม ทฤษฎีใหม่จำนวนปีละ 25 สระ ปัจจุบันมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 100 ครัวเรือน ซึ่งในปี 2542 แปลงเกษตรกรที่เข้าร่วม โครงการฯ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งจัดโดยสำนักงาน กปร. คือแปลง นายอำนวย สมยาภักดิ์ อยู่ที่ บ้านเหล่า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีพื้นที่ 20 ไร่ แบ่งเป็น นา 10.5 ไร่ ไม้ผล 4 ไร่ ผักสวนครัว 1 ไร่ สระน้ำ 1 ไร่ คอกสัตว์และที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวเป็นเงิน 10,800 บาท พืชผัก 7,000 บาท ไม้ผล 3,300 บาท เลี้ยงสัตว์และปลา 30,500 บาท รวมรายได้ 51,600 บาท นับเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2) การนำกิจกรรมที่ได้ศึกษา ทดสอบจนได้ผลสำเร็จแล้วไปขยายผล งานศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรม
กิจกรรมข้าว ส่งเสริมการผลิต ข้าวขาวดอกมะลิปลอดสารอันตราย ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีของชาวนา ปีละ 3 หมู่บ้านๆ ละ 5 ราย สนับสนุนเมล็ดข้าวพันธุ์ดีแก่เกษตรกรตาม แนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ 10 กิโลกรัมต่อราย รวม 500 กิโลกรัม และผลิตข้าวพันธุ์ดี โดยการลดการไถพรวนในนาเกษตรกร
กิจกรรมพืชไร ่ จัดทำเอกสารวิชาการ แผ่นพับ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี จำนวน 10,000 ฉบับ
กิจกรรมพืชสวน ผลิตกิ่งพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี จำนวน 50,000 ต้น และทดสอบพันธุ์ไม้ผล จำนวน 50,000 ต้น
กิจกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีการบริการวิชาการเกษตรการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแผนใหม่แก่เกษตรกร และสร้างสวนหม่อนไหมให้เกษตรกรในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ
กิจกรรมพัฒนาการเพาะเห็ด ผลิตเชื้อเห็ดเพื่อบริการเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมจากศูนย์ฯ 1,000 ขวด งานติดตามให้คำปรึกษาการเพาะเห็ดของเกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และที่ผ่านการอบรม งานแนะนำสาธิตการเพาะเห็ดให้เกษตรกร หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ งานติดตามให้คำปรึกษาการเพาะเห็ดให้เกษตรกรหมู่บ้านตามพระราชเสาวนีย์ 5 ราย งานแนะนำสาธิตการทำหัวเชื้อเห็ด แก่เกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์ งานแนะนำสาธิตการทำหัวเชื้อเห็ดแก่เกษตรกรหมู่บ้านตามพระราชเสาวนีย์ และงานติดตามให้คำปรึกษาการทำ หัวเชื้อเห็ดแก่เกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และหมู่บ้านตามพระราชเสาวนีย์ กิจกรรมระบบเกษตรกรรม
มีการพัฒนาการเกษตรของเกษตรกรที่มี แหล่งน้ำ 2 รายต่อ 30 ไร่ การพัฒนาการเกษตรของเกษตรกรอาศัยน้ำฝน 2 รายต่อ 30 ไร่ โดยทดสอบระบบการปลูกพืชแซมหม่อนพืชผัก การบำรุง รักษาสวนหม่อนเดิม 12 สายพันธุ์ บริการวิชาการเกษตรกรปลูกหม่อนไหมแผนใหม่ และการสร้างสวนหม่อนไหมของเกษตรกรในหมู่บ้านรอบศูนย์ กิจกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร โดยขยายผลการศึกษาและพัฒนาการ แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรสู่ราษฎร
งานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์ ส่งเสริมปศุสัตว์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ สนับสนุนการผสมเทียมโค - กระบือ 300 ตัว ส่งเสริมการเลี้ยงสุกรพันธุ์เหมยซาน 5 กลุ่มต่อสุกร 100 ตัว ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ลูกผสมพื้นเมือง 5 กลุ่มต่อไก่ 1,000 ตัว ส่งเสริมการเลี้ยงเป็ดเทศ โดยแบ่งเป็นกลุ่มกระจายพันธุ์เป็ดเทศ พันธุ์ดี 5 กลุ่ม ต่อเป็ด 750 ตัว และกลุ่มพัฒนาการเลี้ยงเป็ดเทศจำนวน 10 กลุ่ม ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ โดยแบ่งเป็นแปลงสาธิตปลูกหญ้า พันธุ์ดี จำนวน 5 แปลง ต่อ 5 ไร่ และแปลงหญ้าส่วนตัว จำนวน 300 ราย การป้องกันโรคระบาดสัตว์ โดยสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคระบาดสัตว์ 15 หมู่บ้าน และโครงการหมู่บ้านปลอดโรคสัตว์ปีก 5 หมู่บ้าน

งานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ กิจกรรมป้องกันรักษาป่าไม้ในเขตปริมณฑลศูนย์ฯ ได้จัดกำลังลาดตระเวนป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และบุกรุกพื้นที่ป่า 120 วันต่อปี ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจของจังหวัดและอุทยานแห่งชาติ ตรวจปราบปรามการกระทำความผิดและตั้งจุดตรวจการ ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า กิจกรรมชำกล้าไม้ ได้ดำเนินการเพาะชำกล้าไม้ ได้แก่ หวายดง ไม้ใช้สอย จำนวน 500,000 ต้น
งานก่อสร้างและบำรุงรักษาฝายต้นน้ำลำธาร ได้ดำเนินการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารขนาดเล็ก มีจำนวนทั้งหมด 31 แห่ง ลักษณะเป็นฝายดินอัดแน่นในลำธารที่เป็น พื้นที่ต้นน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเก็บตะกอนที่ไหลมาตามลำน้ำและการกักเก็บน้ำ เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดินให้กับป่าธรรมชาติที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูสภาพป่าธรรมชาติอีกทางหนึ่ง กิจกรรมบำรุงป่าธรรมชาติเดิม อนุรักษ์พันธุ์ไม้มีค่า และลูกไม้ชนิดต่างๆ โดยการกำจัดวัชพืชซึ่งแย่งน้ำ ธาตุอาหาร และเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่ 1,500 ไร่ และปลูกซ่อมแซมต้นไม้ จำนวน 15,000 ต้น
งานส่งเสริมและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการประมง ดำเนินการส่งเสริมให้ราษฎรในหมู่บ้าน รอบศูนย์ฯ เลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาหารโปรตีนของ ครอบครัว โดยสนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 724,900 ตัว การให้บริการและเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน 65 ราย โดยส่งเสริมการเลี้ยงปลาในบ่อ เลี้ยงปลาในนาข้าวและเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน
งานศึกษาและพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมการทำและการใªé ปุ๋ยหมัก สำหรับการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อการปลูกพืชจำนวน 117 ราย ได้ปุ๋ยหมักจำนวน 232 ตัน ส่งเสริมทดสอบการปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อปรับปรุง บำรุงดินในนาข้าว และพืชไร่ ดำเนินการในท้องที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ จำนวน 28 ราย รวมพื้นที่ 235 ไร่ ส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียน จำนวน 28 ราย พื้นที่ 232 ไร่ ส่งเสริมการจัดการเศษพืชหลังเก็บเกี่ยว จำนวนพื้นที่ 100 ไร่ ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตข้าวในพื้นที่ดินเค็ม จำนวน 5 ราย พื้นที่ 50 ไร่ ส่งเสริมการปลูกพืชตามแนวระดับ จำนวน 50 ราย พื้นที่ 406 ไร่ ส่งเสริมการปลูกพืชคลุมดิน แนะนำให้ความรู้เกษตรกรในการปลูกพืชและ ปรับปรุงบำรุงดิน จำนวน 75 ราย แนะนำเกษตรกรจัดทำปุ๋ยหมักโดย ใช้สารเร่งไบโอนิค เพื่อใช้ปรับปรุงบำรุงดินรายละ 2 ตัน จำนวน 75 ราย แนะนำเกษตรกรจัดทำปุ๋ยหมักในสระน้ำเพื่อเป็นอาหารของปลา สระละ 4 จุด จำนวน 75 ราย ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ จำนวน 216,000 กล้า
งานส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมด้านเคหกิจเกษตร โดยให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจัดทำในด้านการแปรรูปและถนอมอาหาร จำนวน 3 กลุ่ม ส่งเสริมการจัดไร่นาสวนผสม จำนวน 40 แปลง เป็นพื้นที่ 80 ไร่ โดยปลูกพืชหลายชนิด เช่น มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ขนุนพันธุ์จำปากรอบ เป็นต้น ส่งเสริมการปลูกพืชแบบผสมผสาน 2 ครั้ง มีพื้นที่ 40 แปลง เป็นพื้นที่ 80 ไร่ และ 60 แปลง เป็นพื้นที่ 120 ไร่
งานพัฒนาหมู่บ้านตัวอย่าง ส่งเสริมการจัดระเบียบชุมชน การจัดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรสตรีและเยาวชน ส่งเสริม สาธารณสุข ส่งเสริมกิจกรรมด้านสุขาภิบาลอนามัยสิ่งแวดล้อม และการจัดหาน้ำสะอาดให้แก่ราษฎรหมู่บ้านรอบศูนย์ การจัดสร้างเรือนอบสมุนไพร 1 แห่ง และการอบรมเพิ่มพูนให้ความรู้เรื่องการพึ่งตนเองทางสาธารณสุขในหมู่บ้านรอบศูนย์ จำนวน 15 หมู่บ้านๆ ละ 5 คน รวม 70 คน รวมทั้งขยาย พันธุ์กล้าไม้สมุนไพร จำนวน 20 ชนิด 9,000 ต้น ส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน ฝึกอบรมให้แก่ราษฎรจำนวน 8 ครั้ง 117 คน ตลอดจน ติดตามให้คำแนะนำสนับสนุนแก่กลุ่มอาชีพ จำนวน 15 ครั้ง รวมทั้งการประสานงานทางด้านการตลาดให้แก่กลุ่มอาชีพ เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพ และรายได้เสริมมากขึ้น

2.3 การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมให้แก่เกษตรกร จำนวน 34 หลักสูตร แบ่งเป็นด้านพัฒนาเกษตร กรรม 6 หลักสูตร ด้านปศุสัตว์ 4 หลักสูตร ด้านป่าไม้ 2 หลักสูตร สาธารณสุข 5 หลักสูตร ประมง 3 หลักสูตร ปรบปรุงบำรุงดิน 1 หลักสูตร งานอุตสาหกรรมในครัวเรือน 11 หลักสูตร เกษตรทฤษฎีใหม่ 1 หลักสูตร การจัดทำบัญชีขั้นพื้นฐาน 1 หลักสูตร ซึ่งมีราษฎรในเขตหมู่บ้านรอบศูนย์ àข้ารับการฝึกอบรมในปี 2542 จำนวนกว่า 250 คน


3. การขยายผลไปสู่พื้นที่ศูนย์สาขาฯ 3 แห่ง ศูนย์สาขาที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนฯ จังหวัดมุกดาหาร ศูนย์สาขาที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำฯ จังหวัดสกลนคร - นครพนม ศูนย์สาขาที่โครงการขุดสระเก็บกักน้ำตามทฤษฎีใหม่ จังหวัดกาฬสินธุ์ การขยายผลไปสู่ราษฎรมีการดำเนินงาน ดังนี้

3.1 การสนับสนุนทางวิชาการและเทคโนโลยี
1) ดำเนินการจัดทำคู่มือการประกอบอาชีพทางการเกษตรในแต่ละด้าน ทั้งการเพาะปลูกพืช การประมง การเลี้ยงสัตว์ การพัฒนาดิน จำนวน 14 เรื่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการนำไปเผยแพร่สู่ราษฎรในเขตโครงการของศูนย์สาขาฯ ทั้ง 3 แห่ง
2) การจัดศึกษาดูงานภายในศูนย์ เปิดโอกาสให้เกษตรกรในหมู่บ้านของโครงการศูนย์สาขาเข้าชมการดำเนินงานของกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรได้เห็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ
3) การจัดฝึกอบรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จัดให้มีการสาธิต ส่งเสริมกิจกรรมที่ได้ผลดี โดยมีหลักสูตรการฝึกอบรมเฉพาะด้าน จำนวนกว่า 34 หลักสูตร ให้แก่ราษฎรที่จะศึกษาเพิ่มเติม โดยจัดที่พัก อาหาร และวิทยากรที่จะสามารถให้ความรู้ได้ตลอดเวลา

3.2 การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ สามารถผลิตพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริม สนับสนุนแก่เกษตรกรที่มีความต้องการ สามารถให้การสนับสนุนพื้นที่โครงการศูนย์สาขาฯ อาทิ กล้าไม้ผล กล้าหวายดง เมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว เพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกว่า 7 ชนิด และหัวเชื้อเห็ดฟาง นอกจากนี้สนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำได้แก่ ปลานิลและปลาตะเพียนขาว รวมทั้งพันธุ์สุกร และไก่พื้นเมืองอีกด้วย

3.3 การส่งเสริมโครงการระบบเกษตรตามรูปแบบทฤษฎีใหม่ ศูนย์ฯได้จัดแปลงสาธิตในการประกอบกิจกรรมตามรูปแบบทฤษฎีใหม่ เพื่อเผยแพร่และเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองได้

4. พื้นที่หมู่บ้านอื่นๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราษฎรในหมู่บ้านอื่นๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถที่จะเข้ามา ศึกษาหาความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานได้ตลอดเวลา โดย
4.1 การศึกษา ดูงานในพื้นที่ ราษฎรสามารถเดินทางมาศึกษา ดูงาน แปลงศึกษาทดลอง หรือแปลงสาธิตต่างๆ ในศูนย์ศึกษาฯ ได้ตลอดเวลา เพื่อดูว่ามีเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ อย่างไรบ้าง มีพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่ดี ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง และตนเองมีความชอบ ความถนัด และความต้องการก็สามารถแสดงความประสงค์ที่จะหาความรู้เพิ่มเติมได้ ในปี 2542 มีราษฎรได้เข้ามาศึกษาดูงานกว่า 10,000 คน
4.2 การฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ เมื่อราษฎรศึกษาเห็นแล้วว่า ตนเองต้องการหาความรู้เพิ่มเติมก็สามารถติดต่อขอเข้าฝึกอบรมในสาขา วิชาชีพต่างๆ ได้ ปัจจุบัน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานมีหลักสูตร 34 หลักสูตร ครอบคลุมทุกสาขา มีการอบรมตั้งแต่ระยะสั้น ระยะยาว ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรสามารถเรียนรู้ และนำไปใช้ปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ในปี 2542 ราษฎรจากหมู่บ้านอื่นๆ ทั้งในจังหวัดสกลนคร และจังหวัดใกล้เคียงเข้ารับการฝึกอบรมกว่า 1,300 คน
4.3. การบริหารและการประสานงาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้ดำเนินการประสานงานกับหน่วยราชการต่างๆ กว่า 40 หน่วยงาน ที่ได้เข้ามาร่วมดำเนินงาน มีครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ มีทั้งส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับภาค และจากส่วนกลาง ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการสมบูรณ์ ครบถ้วน การจัดประชุม การจัดทำแผนแม่บท แผนปฏิบัติการประจำปี ติดตามการดำเนินงาน รวมทั้งจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่การ ดำเนินงานด้วย กล่าวโดยสรุปแล้ว การดำเนินงานมากว่า 14 ปี ได้ก่อประโยชน์ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะ การศึกษา ค้นคว้า ทดลอง ทดสอบ สามารถสรุปได้ว่ามีผลการศึกษา ทดลองกว่า 100 การทดลอง ที่สามารถเผยแพร่ ขยายผลไปสู่เกษตรกรได้ การขยายผลก็สามารถดำเนินการได้ทั้ง 4 กลุ่มพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาฯ พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ พื้นที่ศูนย์สาขาทั้ง 3 แห่ง พื้นที่หมู่บ้านอื่นๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และต่อจากนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน ก็จะดำเนินงานให้ก้าวหน้า ครอบคลุมทุกสาขา และขยายผลไปสู่ราษฎรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้มากขึ้น สมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะให้ศูนย์แห่งนี้เป็น "แม่แบบการพัฒนาของภาคอีสาน"




โดย : เด็กชาย รุ่งโรจน์ ดาพรม, ราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545