โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุล

http://www.rdpb.go.th/thai/important/Projects/pj402.htm

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดนราธิวาส


เรื่องเดิม

ในปี พ.ศ. 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำริให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการและพัฒนาพื้นที่ พรุในลักษณะผสมผสานเพื่อแก้ปัญหาดินเป็นกรดจัด เกษตรกรไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ โดยจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจาก พระราชดำริและนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างเพื่อพัฒนาพื้นที่พรุ ศูนย์ฯพิกุลทองฯ เป็นโครงการที่ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง ทั้งในด้าน การวิจัยและนำผลการวิจัยที่ได้ผลดีไปขยายผล ซึ่งกิจกรรมมีความหลากหลายมากขึ้นตามระยะเวลาที่ดำเนินโครงการมา ปัจจุบันครอบคลุมทั้งด้าน การเกษตร การพัฒนาอาชีพ เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการสังคม


วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. เพื่อศึกษาค้นคว้าวิจัย ทดลองและพัฒนาดินอินทรีย์ และดินที่มีปัญหาอื่น ๆ ในพื้นที่พรุ และพื้นที่ที่มีพระราชดำริเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ด้านการเกษตรและด้านอื่น ๆ ตามข้อกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่พรุ
2. ศึกษา ค้นคว้า ทดลองวิจัย เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาทั้งทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการเกษตรอุตสาหกรรมที่มี ความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ในภาคใต้ เพื่อให้เป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จให้กับพื้นที่อื่น ๆ
3. เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จที่มีการศึกษาทดลองและสาธิตให้เห็นถึงความสำเร็จของการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในลักษณะผสมผสานที่เป็น สหวิทยาการ เสมือนหนึ่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตสำหรับเกษตรกรและประชาชนที่มีความสนใจทั่วไปได้นำไปใช้เป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต
4. เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสื่อสารทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติให้แก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางข้อมูลการพัฒนาต่างๆ
5. พัฒนาและยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และศูนย์สาขา ให้มีการดำรงชีวิตที่พออยู่พอกินและ สามารถพึ่งตนเองได้ เพื่อนำไปสู่การเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาประเทศโดยรวม
6. เพื่อพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในพื้นที่พรุ ให้มีความสมบูรณ์ รวมทั้งฟื้นฟูพื้นที่พรุเสื่อมโทรมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม


เป้าหมายการดำเนินงาน

1. ทำการศึกษาวิจัย ทดลอง และสำรวจเกี่ยวกับดิน น้ำ ป่าไม้ ที่มีปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่พรุ และเกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรม การเกษตรในพื้นที่พรุและพื้นที่ที่มีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อการแก้ไขปัญหาและใช้ขยายผลในพื้นที่เกษตร อื่น ๆ
2. เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ให้เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในลักษณะพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ที่มีชีวิต โดยมีการศึกษา ทดลอง และสาธิตให้เห็นความสำเร็จของการพัฒนาต่าง ๆ พร้อมทั้งขยายผลไปสู่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้นำไป ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต และพึ่งตนเองได้
3. จัดตั้งศูนย์บริการด้านวิชาการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เพื่อเป็นศูนย์กลาง ในการแลกเปลี่ยนสื่อสารด้านวิชาการ และการปฏิบัติ และเป็นศูนย์บริการข้อมูลการพัฒนาสาขาต่าง ๆ รวมทั้งศึกษา ค้นคว้า และกำหนดดัชนีชี้วิวัฒนาการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ให้แล้วเสร็จในปี 2542
4. ยกระดับรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาฯ เพิ่มขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 10 ในปี 2544 และมีการกระจายรายได้ที่เหมาะสม โดยทุกครัวเรือนในหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาฯ มีรายได้ประมาณ 20,000 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2542
5. ขยายผลการพัฒนาโดยการสาธิตและส่งเสริมการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่พรุ อย่างน้อยร้อยละ 10 ของพื้นที่พรุเขตพัฒนา หรือประมาณ 9,000 ไร่ ให้แล้วเสร็จในปี 2544
6. จัดทำแนวเขตแสดงขอบเขตพื้นที่พรุให้ชัดเจนโดยรอบ ให้แล้วเสร็จในปี 2544
7. พัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่พรุ โดยเฉพาะการฟื้นฟูสภาพป่าพรุที่เสื่อมโทรม โดยการปลูกป่าทดแทนในพื้นที่พรุ จำนวนปีละประมาณ 500 ไร่ 3 ปี เป็นเนื้อที่ 1,500 ไร่
8. จัดและกระจายบริการพื้นฐานทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมาย และหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ตามความจำเป็นและ เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
9. พัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและประชาชนในหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาฯ ให้ได้ตามเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน โดยมีดัชนีคุณภาพชีวิตของคนอย่างน้อยในระดับกลาง ในปี 2544
10. ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ทั้งในด้านกระบวนการวางแผน การบริหารงานและบริหารทรัพยากร ดำเนินการประสานงานและติดตามประเมินผล


สถานที่ดำเนินการ

- ศูนย์ฯพิกุลทองฯ หมู่ 6 ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
- หมู่บ้านรอบศูนย์ 9 หมู่บ้าน และศูนย์สาขา 4 แห่ง
- บ้านยูโย ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
- พื้นที่พรุแฆแฆ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
- ศูนย์ฯพัฒนาเด็กเล็กฯ 17 แห่ง


หน่วยงานรับผิดชอบ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


การดำเนินงานสนองพระราชดำริ ในปี พ.ศ. 2542

แผนงานศึกษาวิจัย
1. ศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกรดกำมะถัน (โครงการแกล้งดิน)
2. ศึกษาดินและน้ำในพื้นที่พรุ จังหวัดนราธิวาส
3. ทดสอบการปรับปรุงดินและการปลูกพืช จำนวน 15 โครงการ
4. ศึกษาการเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ จัดทำแปลง 43 ไร่
5. ศึกษาการปลูกสาคูในพื้นที่พรุ
6. ศึกษาการผลิตผักปลอดสารพิษและการควบคุมคุณภาพ
7. การขยายพันธุ์ดอกดาหลาขาว
8. ศึกษาและแก้ไขปัญหาสุขภาพแพะในหมู่บ้าน บริเวณศูนย์ฯพิกุลทองฯ
9. เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตน้ำนมแพะ

แผนงานขยายผล
1. จัดระบบการพัฒนาที่ดินและการปลูกพืช
- จัดระบบการพัฒนาที่ดินบริเวณหมู่บ้านรอบศูนย์ และศูนย์สาขา จำนวน 200 ไร่
- จัดระบบการพัฒนาที่ดินเพื่อการปลูกข้าวพื้นที่พรุแฆแฆ จำนวน 150 ไร่
2. สาธิตการพัฒนาที่ดินและการปลูกพืช
- สาธิตการพัฒนาที่ดินและการปลูกข้าวบ้านโคกกระท่อม จำนวน 100 ไร่
- สาธิตการพัฒนาที่ดินและการปลูกข้าวบ้านโคกอิฐ โคกใน จำนวน 200 ไร่
3. งานศูนย์ฯสาขาที่ 3 โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ
- สาธิตการพัฒนาที่ดินและปลูกพืชไร่ พื้นที่ 50 ไร่
- สาธิตการเลี้ยงไก่เบตง จำนวน 35 ตัว

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- จัดหานมผงสำหรับเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 17 แห่ง
- สาธิตการทำอาหารในศูนย์ฯเด็กเล็กฯ 17 แห่ง ๆ ละ 2 ครั้ง
- จัดซื้อสื่อการเรียนการสอน และซ่อมแซมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ 17 แห่ง

งานปรับปรุงภาวะโภชนาการของเด็กอายุ 0-60 เดือน
- จัดหานมผงสำหรับเด็กขาดสารอาหารที่มีฐานะยากจน จำนวน 50 คน ๆ ละ 1,250 กรัม
- เยี่ยมเด็กขาดสารอาหารระดับ 2-3 จำนวน 300 ราย ๆ ละ 12 ครั้ง/ปี
- สาธิตการให้โภชนศึกษาเฉพาะราย ในผู้ปกครองเด็กขาดสารอาหารระดับ 2-3 ที่รุนแรง จำนวน 150 ครอบครัว สาธิตเฉลี่ยเดือนละ 4 ครั้ง
- สาธิตการเลี้ยงสัตว์แก่ผู้ปกครองเด็กขาดสารอาหาร จำนวน 30 ครอบครัว

โครงการสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์ม
- ปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ชำรุด เนื่องจากหมดสภาพใช้งานและเพิ่มอุปกรณ์ให้มีความเหมาะสม

โครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตตามแนวพระราชดำริ
- ปรับปรุงสะพานทางเดินศึกษาพรรณไม้ป่าพรุ ยาว 290 เมตร
- ศาลาแปดเหลี่ยม 2 หลัง
- ซุ้มสื่อความหมาย 6 ซุ้ม
- สะพานแขวน ยาว 18 เมตร

สถานะปัจจุบันของโครงการ
ผลการดำเนินงานปรากฏตามเอกสารแนบท้าย


ประโยชน์ที่ได้รับ

งานศึกษาวิจัย
1. ได้ทราบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกรดกำมะถัน และคุณสมบัติดินที่ได้จากการศึกษา รวบรวมและนำไป ปรับปรุงดินเปรี้ยวให้เหมาะสมกับการปลูกพืช ทั้งในด้านคุณภาพ และปริมาณผลผลิตáละนำผลการวิจัยที่ได้ไป ขยายผลต่อไป
2. ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติของน้ำในพื้นที่พรุ และเป็นข้อมูลพื้นฐานในการควบคุม ปรับปรุงคุณภาพของน้ำในพรุ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อการชลประทาน เกษตรกรรมต่อไป
3. ทราบข้อมูลการทำเกษตรยั่งยืนตามแนวทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ดินเปรี้ยว และนำไปใช้ในการวางแผนการปลูกพืชทดแทน ในพื้นที่พรุเขตพัฒนา
4. ทราบข้อมูลการปลูกต้นปาล์มสาคูในพื้นที่พรุ และเป็นแนวทางส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจในการค้าเชิงอุตสาหกรรม
5. ทราบข้อมูลการผลิตผักปลอดสารพิษในเขตพื้นที่พรุ
6. ได้ข้อมูลขยายพันธุ์ดาหลาขาว และเพิ่มปริมาณต้นดาหลาขาว
7. เครื่องจักรและอุปกรณ์ของโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์ม อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้เหมาะสมáรงงานมีศักยภาพ ในการรองรับผลผลิตปาล์มจากในศูนย์ฯพิกุลทองฯ และพื้นที่พรุบาเจาะ เพื่อดำเนินการสกัดน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร
8. ทราบข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะการเลี้ยงแพะในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และสามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพแพะให้มีความ แข็งแรงสมบูรณ์

งานขยายผล
9. สามารถขยายผลการพัฒนาที่ดินระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ดินเปรี้ยวไปสู่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ศูนย์สาขา พื้นที่พรุเขตพัฒนา พรุแฆแฆ บ้านโคกกระท่อม บ้านโคกอิฐโคกใน หมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ และพื้นที่ที่มีพระราชดำริให้ดำเนินการ


ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
10. เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ 17 แห่ง ในเขตจังหวัดนราธิวาส ได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีความพร้อมในการเข้าเรียนชั้นประถมต่อไป ตลอดจนแบ่งเบาภาระจาก ผู้ปกครองให้มีเวลาประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ สามารถเผยแพร่วิทยาการเลี้ยงดูเด็กในแบบแผนใหม่

งานปรับปรุงภาวะโภชนาการ
11. เด็กอายุ 0-60 เดือน ในจังหวัดนราธิวาส มีสุขภาพอนามัยและภาวะโภชนาการดีขึ้น ¼ู้ปกครองได้รับความรู้ทาง โภชนาการที่ถูกต้อง

โรงงานสกัดน้ำมันและแปรรูปน้ำมัน
12. สามารถนำผลผลิตปาล์มน้ำมันจากแปลงสาธิตในศูนย์ฯ พิกุลทอง สหกรณ์นิคมปิเหล็ง และพื้นที่พรุบาเจาะ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถบริโภคได้ ในลักษณะการผลิตแบบครบวงจร และได้ข้อมูลจากการดำเนินงานของโรงงานมา วิเคราะห์หาต้นทุนการผลิต ประสิทธิภาพการแปรรูป เพื่อหาความเป็นไปได้ในการดำเนินการเชิงพาณิชย์

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต
13. สามารถจำลองสภาพป่าพรุมาแสดงเป็นกิจกรรมเผยแพร่ เป็นสถานที่ค้นคว้าหาความรู้ในลักษณะห้องสมุดธรรมชาติ แก่ผู้ที่สนใจและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้ที่มาเยี่ยมชม เพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่าของป่าพรุ และเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าพรุ


แผนงานศึกษาวิจัย 9 โครงการ


1. การศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกรดกำมะถัน (โครงการแกล้งดิน)

พระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเมื่อปีพ.ศ.2527 ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยระบายน้ำให้แห้ง แล้วศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว โดยวิธีการที่เรียกว่า “แกล้งดิน” เพื่อ นำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ในเขตจังหวัดนราธิวาส

ผลการดำเนินงาน
จากการศึกษาทดลองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา พบว่า การใช้น้ำล้างความเป็นกรดและสารพิษ การใส่หินปูนฝุ่นและ ปรับปรุงดินโดยใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน ข้าวที่ปลูกให้ผลผลิตถึง 40-50 ถัง/ไร่ ซึ่งวิธีการใช้น้ำล้างนั้นเหมาะสำหรับ พื้นที่ที่น้ำเพียงพอ ถึงแม้ว่าในปีแรกจะให้ผลผลิตไม่ดีนัก แต่ในปีต่อๆ มา ให้ผลผลิตสูงในระดับที่น่าพอใจ สำหรับวิธีการ ใส่หินปูนฝุ่นลงไปในนาข้าวนั้น ข้าวให้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะวิธีการให้หินปูนฝุ่นสะเทินกรด และใช้น้ำล้างสารพิษออกไปเป็น วิธีที่ดีที่สุด

สถานะปัจจุบันของโครงการ
การศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกรดกำมะถัน ในปี พ.ศ.2542 เป็นการศึกษาต่อเนื่อง โดยแบ่งแปลงทดลอง ออกเป็น 6 แปลง แปลงที่ 1, 2, 3 ศึกษาวิธีปรับปรุงดินโดยใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด ใช้หินปูนฝุ่นในอัตราต่ำ และใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน แล้วเริ่มทดลองปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง เมื่อเดือนสิงหาคม 2542 เพื่อเปรียบเทียบวิธีการปรับปรุงดิน ในแต่ละแปลงว่าวิธีใดจะให้ผลผลิตข้าวได้ดีที่สุด โดยข้าวทั้ง 3 แปลง จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ภายในเดือนตุลาคม 2542 นี้

สำหรับแปลงที่ 4 จะเป็นแปลงทดลองที่ทำการปรับปรุงดินแล้ว แต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ปรากฏว่าดินได้กลับมาเป็น กรดจัดอีก แปลงที่ 5 ได้ทำการทดลองปรับปรุงดินเพื่อปลูกพืชไร่จำพวก ข้าวโพด ถั่วฝักยาว พืชผัก

แปลงที่ 6 เป็นแปลงที่ปล่อยทิ้งไว้ตามสภาพธรรมชาติ เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เปรี้ยวจัดกับแปลงอื่น ๆ ปรากฏว่ามีพืชที่ทนทานต่อสภาพดินเปรี้ยวขึ้นปกคลุมทั่วไป และจากการสำรวจพบพืชจำนวนทั้งสิ้น 15 ชนิด เช่น กากอ หญ้าปล้องหิน หญ้าหวาย หญ้าชั้นมาศ เสม็ด ลิเภายุ่ง หญ้าคา ฯลฯ

2. การศึกษาดินและน้ำในพื้นที่พรุ จังหวัดนราธิวาส

พระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริเมื่อปี พ.ศ.2526 ให้มีการศึกษาคุณสมบัติของดินและน้ำในพื้นที่พรุ โดยให้มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการและพัฒนาพื้นที่พรุร่วมกันแบบผสมผสานและนำผลสำเร็จของโครงการ ไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่พรุในโอกาสต่อไป

ผลการดำเนินงาน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ดำเนินการศึกษาดินและน้ำในพื้นที่พรุ โดยเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำ และวัดระดับน้ำพื้นที่รอบพรุโต๊ะแดง รวมทั้งสิ้น 20 จุด และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติและระดับของน้ำในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการควบคุม ปรับปรุงคุณภาพน้ำ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อการชลประทาน การเกษตรและ ป้องกันปัญหาไฟไหม้พื้นที่พรุโต๊ะแดงในช่วงฤดูแล้ง




โดย : เด็กชาย รุ่งโรจน์ ดาพรม, ราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545