โครงการศูนย์ศึกษาอ่าวกระเบน

http://www.rdpb.go.th/thai/important/Projects/pj101.htm

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดจันทบุรี


1.พระราชดำริ

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก่นายบุญนาค สายสว่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในคราวเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดจันทบุรี สาระสำคัญโดยสรุปว่า “…ให้พิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาอาชีพ ด้านการประมงและการเกษตร ในพื้นที่ดินชายฝั่งทะเล จังหวัดจันทบุรี…” ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2524 พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กับนายเล็ก ¨ินดาสงวน และนายสุหะ ถนอมสิงห์ เกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่จะจัดขึ้นในเขตจังหวัดจันทบุรีสาระสำคัญโดยสรุปว่า “…ให้พิจารณาหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเช่นเดียวกับโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา ในเขตที่ดินชายทะเล…”

2.แผนการดำเนินงานสนองพระราชดำริ

2.1) วัตถุประสงค์การดำเนินงานของศูนย์ฯ ประกอบด้วย

เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง
เพื่อพัฒนาด้านการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพื่อเป็นเพิ่มผลผลิตของประเทศ และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านการประมง ตลอดจนพัฒนากิจกรรมทางด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย
เพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมและดุลยภาพทางธรรมชาติให้คงลักษณะพิเศษของพื้นที่เอาไว้
เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่อาชีพของราษฎรบริเวณรอบอ่าวคุ้งกระเบน และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมุ่งเน้นพัฒนาช่วยเหลือราษฎรที่มีฐานะยากจน
เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอบรมและเผยแพร่ผลการศึกษาการจัดการทรัพยากรชายฝั่งให้แก่ส่วนราชการและประชาชนทั่วไป

2.2) แผนแม่บท ปี 2542 - 2546

สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ร่วมกันพิจารณาจัดทำแผนแม่บทประจำปี 2542-2546 ขึ้น มีความครอบคลุมในสาระสำคัญของพระราชดำริและมีความชัดเจนใน
แนวทางยิ่งขึ้น การพิจารณาจัดทำแผนแม่บทครั้งนี้ได้ใช้ภาพถ่ายทางอากาศและข้อมูล GIS ประกอบการพิจารณาวางแผนการใช้พื้นที่ และกำหนดโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งประกอบด้วยแผนหลัก 6 แผน คือแผนศึกษาและพัฒนา การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง/แผนศึกษาและพัฒนาการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม/ แผนศึกษาและ พัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์/ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิต/ แผนบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี และแผนการ
บริหารและการจัดการ

ในปี 2531 – 2533 รัฐบาลแคนาดาโดยสำนักงาน CIDA ได้ตกลงกับรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
เครื่องมืออุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญและการพัฒนาบุคลากรของศูนย์ฯ รวมมูลค่าความช่วยเหลือทั้งสิ้น
101,929,335 บาท

3.ผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริ

นับตั้งแต่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เริ่มดำเนินการในปี 2525 เป็นต้นมานั้น ได้ดำเนินการศึกษาพัฒนาและช่วยเหลือราษฎร ดังนี้

- ดำเนินการศึกษา ทดลอง สาธิตและเผยแพร่ความรู้ด้านการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล โดยเน้นการมีส่วนร่วมของ ชุมชนในกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลแบบยั่งยืน เช่น การปลูกป่าชายเลน การดูแลรักษาสภาพแวดล้อมโดยชุมชน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงอนุรักษ์ การเลี้ยงกุ้งโดยระบบปิดแบบก้าวหน้า เป็นต้น

- พัฒนาและส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกร เพื่อการเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนแถบชายฝั่งทะเล ซึ่งประกอบด้วยงานสำคัญ ๆ คือ งานวิชาการเกษตร งานส่งเสริมการเกษตร งานป่าไม้ งานปศุสัตว์ งานพัฒนาที่ดิน งานพัฒนาชุมชน งานชลประทาน งานการศึกษาและ สาธารณสุข งานส่งเสริมอาชีพและงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

3.1) โครงการชลประทานน้ำเค็มเพื่อการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล

ศูนย์ฯ อ่าวคุ้งกระเบนได้ดำเนินการก่อสร้างระบบชลประทานน้ำเค็มเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลจัดระบบน้ำเข้าและออกให้แยกจากกัน
อย่างเด็ดขาด น้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งทะเลจะสูบจากทะเลเปิดแล้วจ่ายเข้าไปในพื้นที่ที่เลี้ยง ส่วนน้ำที่ผ่านการเลี้ยงจะถูกรวบรวมแล้วผ่านการบำบัด โดยการเติมอากาศและวิธีชีวภาพ แล้วระบายลงสู่อ่าวคุ้งกระเบน ตามแผนงานระบบดังกล่าวจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในเดือนเมษายน 2542 โดยมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์น้ำอ่าวคุ้งกระเบนด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม ซึ่งในเบื้องต้นนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 181 ราย

3.2 ) งานเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีทางการพัฒนาที่เหมาะสมสู่ชุมชนในพื้นที่รอบศูนย์ฯ ซึ่งได้แก่

การฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล การพัฒนาและ ส่งเสริมอาชีพการรวมกลุ่มและการมีส่วนร่วม
ในการพัฒนาชุมชนของประชาชน ทั้งนี้เพื่อการเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพขีวิตของประชาชนในพื้นที่รอบศูนย์ฯ และพื้นที่ใกล้เคียง



โดย : เด็กชาย รุ่งโรจน์ ดาพรม, ราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545