ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้

http://www.rdpb.go.th/thai/important/Projects/pj301.htm

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่


พระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นในบริเวณป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525 ซึ่งมีขอบเขตพื้นที่โครงการประมาณ 8,500 ไร่ ทั้งนี้ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองต่อไป โดยให้ทำการศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง 3 วิธี เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง คือ มีไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนความชุ่มชื้นเอาไว้เป็นประโยชน์อย่างที่ 4 และอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร ให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก ต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร และปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ผสมกับการศึกษาด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไปดังมีพระราชดำริว่า "ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" หรืออีกนัยหนึ่งเป็น "สรุปผลของการพัฒนา" ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติด้วยตนเองได้



สถานที่ดำเนินการ
อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหมè


ผลการดำเนินงานปี 2542
1. งานศึกษาและพัฒนาแหล่งน้ำ
ดำเนินงานจัดหาน้ำสนับสนุนงานศึกษาและพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยพยายามใช้ประโยชน์จากน้ำที่ไหลมาจากยอดเขาลงสู่พื้นที่ข้างล่างให้ได้ประโยชน์สูงสุด ในปีงบประมาณ 2542 ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการซ่อมแซมท่อผันน้ำจากห้วยแม่ลาย จำนวน 1 แห่ง พร้อมซ่อมแซมระบบท่อส่งน้ำในแปลงเกษตร ป่าไม้ และปศุสัตว์ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี ในส่วนงานบริหารกลุ่มผู้ใช้น้ำได้มีการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการ เพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมงในพื้นที่ศูนย์ฯ รวมทั้งเพื่อการอุปโภค - บริโภค ตลอดจนการเกษตรของราษฎรหมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์ฯ และโครงการสาขา จำนวน 22 แห่ง
นอกจากนั้นได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมถนนลาดยางภายในศูนย์ฯ จำนวน 8 + 600 กม. ซ่อมแซมถนนลูกรังตามแนวท่อผันน้ำห้วยแม่ลาย - ห้วยฮ่องไคร้ (ทางลำเลียงใหญ่) จำนวน 12 + 300 กม. และบูรณะซ่อมแซมถนนลูกรังในเขตโครงการฯ (ทางลำเลียงย่อย) จำนวน 7 + 050 กม. เพื่อให้สามารถใช้เป็นเส้นทางเข้าไปดำเนินการดูแลอ่างเก็บน้ำระบบส่งน้ำควบคุมการส่งน้ำได้


2. งานศึกษาและพัฒนาป่าไม้
ดำเนินการพัฒนาป่าไม้โดยวิธีบำรุงป่าธรรมชาติ ปลูกสร้างสวนป่าใหม่ ปลูกเสริมป่า ช่วยเหลือในการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้ การสร้างแนวป้องกันไฟป่าเปียกในพื้นที่รองรับระบบวนเกษตร ระบบอุทกวิทยา นิเวศวิทยา ตลอดจนการศึกษาการอนุรักษ์ และเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
ในปี 2542 ได้ดำเนินการบำรุงรักษาแปลงบำรุงป่าธรรมชาติ 4,000 ไร่ งานสาธิตระบบวนเกษตรใหม่ 10 ไร่ งานสาธิตจัดการทุ่งหญ้าป่าไม้ 15 ไร่ งานสาธิตการปลูกไม้ไผ่ 10 ไร่ งานเพาะชำกล้าไม้ได้ดำเนินการเพาะกล้าไม้ดอก - ไม้ประดับ 100,000 กล้า เพาะกล้าไม้โตเร็ว 100,000 กล้า เพาะกล้าไม้ไผ่ - สมุนไพร 50,000 กล้า เพื่อแจกจ่ายหน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไป
ส่วนงานควบคุมและป้องกันไฟป่าได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ป้องกันไฟป่าใน 2 อำเภอ 7 ตำบล 46 หมู่บ้าน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ได้จัดฝึกอบรม หลักสูตรอาสาสมัครป้องกันไฟป่า และหลักสูตรเยาวชนอาสาสู้ไฟป่าจำนวน 5 รุ่น ในปีที่ผ่านมาได้เกิดไฟป่าขึ้นจำนวน 337 ครั้ง พื้นที่ได้รับความเสียหายจากไฟป่าทั้งสิ้น 1,455 ไร่ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการหาของป่ามากที่สุด
การดำเนินงานส่งเสริมราษฎรเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าได้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าสู่ประชาชนรุ่นที่ 1 ให้แก่ราษฎร 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลป่าเมี่ยง ตำบลเทพเสด็จ ตำบลลวงเหนือ และการจัดทำฟาร์ม ไก่ป่าตุ้มหูขาว จัดหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่ป่าตุ้มหูขาว การขยายพันธุ์สัตว์ป่า เช่น กวางป่า เก้ง เนื้อทราย และนกยูงไท


3. งานศึกษาและพัฒนาที่ดิน
ดำเนินการขยายพันธุ์หญ้าแฝก ปลูกหญ้าแฝกพันธุ์แม่แฮจำนวน 2 งาน สำหรับพันธุ์สุราษฎร์ธานีได้แยกหน่อจากกะบะจำนวน 6 กะบะ พันธุ์แม่ลาน้อย 4,500 หน่อ ทำการกำจัดวัชพืชเพื่อไปทำปุ๋ยหมัก รวมทั้งตัดใบแฝกเพื่อลดการคายน้ำให้มีการแตกกอเพิ่มขึ้น
โครงการทดลองค้นคว้าวิจัยทางวิชาการที่ได้ทดลองไปทั้ง 5 โครงการ ได้แก่ การทดสอบระบบการปลูกพืชเชิงอนุรักษ์บนพื้นที่ลาดชัน การจัดการพื้นที่ลาดชันเพื่อการเกษตรแบบยั่งยืน การศึกษาและสาธิตชนิดของพืชเพื่อใช้ทำแนวอนุรักษ์ การศึกษาการสูญเสียดินโดยใช้มาตรการ อนุรักษ์ดินและน้ำแบบต่าง ๆ ในการปลูกพืชไร่บนพื้นที่ลาดเขา และการทดสอบสาธิตระบบการปลูกพืชเชิงอนุรักษ์ที่ลาดชันในพื้นที่เกษตร
ในปี 2542 ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดสุวรรณ 3 ถั่วลิสงไทนาน 9 ถั่วมะแฮะ เก็บตัวอย่างหาน้ำหนักแห้งหลังการเก็บเกี่ยวได้เก็บตัวอย่าง ดินระดับความลึก 0 - 15 , 15 - 30 ซม. จำนวน 48 ตัวอย่าง 12 ตัวอย่าง 10 ตัวอย่าง 16 ตัวอย่าง และ 12 ตัวอย่าง ตามลำดับทั้ง 5 โครงการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลดี


4. งานศึกษาและทดสอบการปลูกพืช
ได้ดำเนินการศึกษาและทดสอบการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ได้แก่ พืชสวน พืชไร่ ข้าว พืชผัก และเห็ด ในพื้นที่ 294 ไร่ ในปี 2542 มีการดำเนินงานโดยสรุปดังนี้
งานไม้ผล ในพื้นที่ 254 ไร่ ผลผลิตมะม่วงไม่แตกต่างจากปี 2541 พันธุ์น้ำดอกไม้ให้ผลผลิตมากที่สุด 1,700 กิโลกรัม รองลงมาคือพันธุ์ เขียวเสวย และหนังกลางวัน พันธุ์ลำไยได้ปลูกทดสอบ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ดอ แห้ว เบี้ยวเขียว ชมพู ซึ่งในปีนี้ลำไยติดผลน้อยประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่เนื่องจากสภาพอากาศไม่เหมาะสมทำให้ดอกร่วงติดผลน้อย เช่นเดียวกับมะขามหวานและลิ้นจี่ ส่วนขนุนทุกพันธุ์เจริญเติบโตดีให้ผลผลิต มากถึง 6,185 กิโลกรัม พืชตระกูลส้มให้รสชาติดีขยายกิ่งพันธุ์ 2,350 กิ่ง และเก็บผลผลิตส้มโอได้ 994 ลูก
งานพืชอุตสาหกรรม การปลูกมะคาเดเมียเติบโตค่อนข้างดี การติดดอกดี แต่เมื่อติดผลแล้วจะร่วง ทำให้มีผลผลิตน้อย เพราะอากาศร้อนจัด มะม่วงหิมพานต์ผลผลิตต่ำมีโรคแมลงทำลาย
งานพืชสมุนไพรและไม้หอม รวบรวมพันธุ์ได้ประมาณ 150 ชนิด อาทิ เช่น หางไหล บอระเพ็ด สลอด ตะไคร้หอม ฟ้าทะลายโจร เตยหอม สะเดา ไพล ฯลฯ และขยายพันธุ์พืชสมุนไพรและไม้หอมรวม 7,345 ต้น
งานขยายพันธุ์พืช ได้ขยายพันธุ์ไม้ผล 4,834 ต้น ไม้ดอกไม้ประดับ 1,243 ต้น ผักชะอม 1,000 ต้น ได้สนับสนุนกล้าพันธุ์ไม้แก่เกษตรกร จำนวน 63 ราย รวม 3,397 ต้น
งานพืชไร่ ได้ปลูกอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรีเพิ่ม 2 งาน ทดสอบสารอาหารหม่อนไหม ปลูกและขยายพันธุ์หม่อนไหม 5,000 ท่อน ข้าวโพดหวานพันธุ์ เอ - ที - เอส พื้นที่ 1 งาน 245 ตารางเมตร เก็บผลผลิตได้ 925 กิโลกรัมต่อพื้นที่ทดสอบ สำหรับงานศึกษาทดสอบปลูก ข้าวริมอ่างเก็บน้ำ ผลผลิตในปีนี้ได้ทดสอบปลูกข้าวนาปรัง 6 สายพันธุ์ คือ ข้าวเหนียว กข.10 ข้าวเหนียวแพร่ ข้าวจ้าวหอมสุพรรณ ข้าวจ้าวหอมคลองหลวง KKNUR 82003 - SKN - 69 - 1 - 1 , IR 43069 - UNB - 507 - 3 - 1 - 2 - 2 พบว่าข้าวพันธุ์ กข. 10 ได้ผลผลิตสูงสุด รองลงมาคือพันธุ์ข้าวเหนียวแพร่
งานปลูกพืชผัก ได้ปลูกพืชผักชนิดต่าง ๆ ตามฤดูกาล ผลผลิตที่ได้เป็นผักปลอดสารพิษ สนับสนุนโครงการอาหารกลางวันแก่ศูนย์ฯ เด็กเล็กสิรินธร และส่งพระตำหนักภูพิงค์ฯ ผักชนิดต่าง ๆ ที่ผลิตได้ 4,882 กิโลกรัม กับสลัดห่อ ตั้งโอ๋ ปวยเล้ง บล๊อคโคลี่ ฯลฯ
งานเพาะเห็ด ได้ดำเนินการศึกษาการเพาะเห็ดชนิดต่าง ๆ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดหอม เห็ดหลินจือ เห็ดลม เห็ดหูหนู ได้ผลิตเชื้อเห็ด ผลิตหัวเชื้อในเมล็ดธัญญพืช ผลิตก้อนเชื้อเห็ด ฝึกอบรมการเพาะเห็ดแก่เกษตรกร ผู้สนใจ ฯลฯ และขยายผลสู่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และโครงการหลว


5. งานศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรมแบบประณีต
ได้ดำเนินการดูแลรักษาแปลงสาธิตรูปแบบการปลูกพืช 5 รูปแบบ คือ
1) รูปแบบการปลูกพืชในพื้นที่ห่างไกลการคมนาคม
2) รูปแบบการปลูกพืชในพื้นที่ที่มีการคมนาคมสะดวก
3) รูปแบบการปลูกพืชในพื้นที่ที่ทำการเกษตรอุตสาหกรรม
4) รูปแบบการปลูกพืชในพื้นที่รับน้ำฝน
5) รูปแบบการปลูกพืชในลักษณะหน่วยขยายพันธุ์พืชประจำหมู่บ้าน
เพื่อให้พร้อมที่จะให้เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปเข้าชมได้ตลอดเวลา รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ประจำแปลงสาธิตในการนำชมและบรรยาย เพื่อถ่ายทอดแนวความคิดของรูปแบบการปลูกพืชรูปแบบต่าง ๆ
นอกจากนี้ได้รวบรวมพันธุ์พืชที่มีศักยภาพในการเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคตรวบรวมมาจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ ได้รวบรวมพันธุ์ผักพื้นเมือง การขยายผลให้กับเกษตรกรและผู้สนใจ ตลอดจนการรวบรวมพันธุ์และขยายพันธุ์สมุนไพร และไม้ดอกหอมที่หายา


6. งานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์และโคนม
งานโคนม ได้ผลผลิตน้ำนม 29,115 กิโลกรัม ซึ่งได้ส่งองค์การส่งเสริมกิจกรรมโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ใช้เลี้ยงลูกโค และส่งเสริมน้ำนมเพื่อบริโภคในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสิรินธรของศูนย์ฯ
งานสัตว์ปีก ได้ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ลูกผสมสามสายเลือดแก่เกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ เกษตรกรในพื้นที่ป่าขุนแม่กวง 220 ราย สนับสนุนการเลี้ยงเป็ดเทศให้กับโรงเรียน ตชด. ในจังหวัดเชียงใหม่ 2 โรงเรียน
งานสัตว์เล็ก ส่งเสริมการเลี้ยงสุกรให้กับเกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และพื้นที่ป่าขุนแม่กวง 50 ราย
งานพืชอาหารสัตว์ ทดสอบการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ เช่น หญ้ารูซี่ กินนี เนเปียร์ 95 ไร่ ในพื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่เกษตรกรรมอื่น ๆ ในเขตศูนย์ฯ ทดสอบพืชอาหารสัตว์เกี่ยวกับการใช้วัสดุบำรุงดินโดยการกำจัดวัชพืชใส่ปุ๋ยคอก การให้ผลผลิตโดยเก็บเกี่ยวหญ้าสดใช้เลี้ยงโค นอกจากนั้นยังส่งเจ้าหน้าที่ศูนย์ตรวจเยี่ยมติดตามผลความก้าวหน้าของโครงการ ให้คำแนะนำแก่ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ


7. งานศึกษาและพัฒนาการประมง
สามารถผลิตพันธุ์สัตว์น้ำได้ 11 ชนิด ได้แก่ ปลานิล ปลายี่สกเทศ ปลานวลจันทร์เทศ ปลาตะเพียนขาว ปลาดุกอุยเทศ ปลาทาดำ ปลาสวาย ปลาตะเพียนทอง ปลานิลแดง ปลาบ้า และกุ้งก้ามกราม 975,130 ตัว บริหารการประมงในอ่างเก็บน้ำ สาธิตการเลี้ยงปลาในกระชัง 4 กระชัง การวิจัยศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติในอ่าง 1, 2 , 3 , 7 และ ฝายห้วยแม่ลาย ศึกษาผลผลิตปลานิลที่เลี้ยงในกระชัง



8. งานศึกษาและพัฒนาอาชีพเพาะเลี้ยงกบ
ดำเนินการจัดเตรียมพ่อแม่พันธุ์กบนา 1,230 ตัว กบรุ่น 20 ตัว ลูกอ๊อด 8,500 ตัว พ่อแม่พันธุ์กบบูลฟร๊อค 1,170 ตัว กบรุ่น 660 ตัว ลูกกบ 6,000 ตัว ลูกอ๊อด 17,000 ตัว เพื่อการขยายผลในปี 2543

งานขยายผลได้สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรและโรงเรียน จำนวน 7 กลุ่ม
¡ลุ่มที่ 1 หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ จำนวน 11 หมู่บ้าน
กลุ่มที่ 2 โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง
กลุ่มที่ 3 เกษตรกรพื้นที่ดอยสะเก็ด 20 ราย
กลุ่มที่ 4 เกษตรกรพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ 60 ราย
กลุ่มที่ 5 กลุ่มผู้ติดเชื้อ 6 ราย
กลุ่มที่ 6 โรงเรียน 9 แห่ง
กลุ่มที่ 7 จังหวัดอื่น ๆ 27 ราย
และได้ดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้วิธีการเลี้ยงกบอีก 43 รุ่น รวมผู้เข้าฝึกอบรม 1,286 คน
งานอนุรักษ์ได้ปล่อยกบคืนสู่ธรรมชาติในแหล่งน้ำธรรมชาติของศูนย์ฯ จำนวน 48,520 ตัว


9. งานพัฒนาหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และถ่ายทอดเทคโนโลยี
ได้ดำเนินการพัฒนาในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ จำนวน 10 หมู่บ้าน ในเขตตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้

- งานส่งเสริมอาชีพการเกษตร ส่งเสริมการเลี้ยงกบ 118 ราย การเลี้ยงปลา 173 ราย การเลี้ยงสุกร 50 ราย การปลูกและขยายพันธุ์ไม้ผล 162 ราย การเลี้ยงสัตว์ปีก 220 ราย การเพาะเห็ด 14 ราย และการเลี้ยงโคนมเพศผู้ 1 ราย
- งานส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน ส่งเสริมการตัดเย็บเสื้อผ้า 75 ราย การตีเหล็ก 19 ราย การเชื่อมโลหะไฟฟ้า 26 ราย และการทำดินซีเมนต์บล๊อก 15 ราย
- งานฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้ทำการฝึกอบรมได้แก่ ราษฎร จำนวน 10 หลักสูตร ประกอบด้วย การอบรมอาสาสู่ไฟป่า 250 ราย การอบรมการขยายพันธุ์ไม้ผล 423 ราย การอบรมการเพาะเลี้ยงกบ 1,286 ราย การอบรมโครงการเกษตรกรรมทฤษฎีใหม่ 3 รุ่น 71 ราย การอบรมเยาวชนรักษ์ป่าเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา 100 ราย การอบรมการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าสู่ประชาชน 16 ราย การอบรมโครงการบริหารงานร้านค้าสหกรณ์ไฟฟ้า 30 ราย การอบรมการบริหารการจัดทรัพยากรน้ำทั้ง 20 ราย การอบรมการทำดินซีเมนต์บล๊อค 10 ราย และการอบรมการเพาะเห็ด 291 ราย
- ได้จัดทำแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ในบริเวณหมู่บ้านรอบศูนย์ ซึ่งได้รับความสนใจจากราษฎรในหมู่บ้านรอบศูนย์ และราษฎรทั่วไปที่ได้เข้ามาศึกษาดูงานแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยศูนย์ฯ ได้มีการอบรมให้ความรู้แก่ราษฎรที่สนใจ



10. งานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เกษตรกร หน่วยงานราชการ เอกชน ผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เข้ามาศึกษาดูงานศึกษา ทดลอง วิจัยในงานกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์ จำนวน 185 คณะ 7,422 ราย และได้เข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานต่างๆ ในวันสำคัญ เพื่อเผยแพร่การดำเนินงานของศูนย์ นอกจากนั้นในระหว่างวันที่ 25 - 29 ตุลาคม 2542 คณะเจ้าแขวงจากประเทศสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 24 คน ในฐานะอาคันตุกะส่วนพระองค์ของสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เดินทางมาศึกษาและดูงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ยังได้ขยายผลการศึกษา ทดลอง วิจัยไปยังพื้นที่ต่าง ๆ จนกระทั่งปัจจุบันมีศูนย์สาขา 5 แห่ง ได้แก่
1) ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
2) โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้าน โฮ่ง จังหวัดลำพูน
3) โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
4) โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
5) โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราดชำริ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งศูนย์สาขาดังกล่าวได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน



บทสรุป

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ดำเนินการมานับตั้งแต่ พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบันศูนย์ฯ ได้ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัยในด้านต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จและได้ขยายผลสู่ราษฎร ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และราษฎรในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันราษฎรบริเวณหมู่บ้านรอบศูนย์ได้ให้ความสนใจร่วมมือในกิจกรรมของศูนย์ฯ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การพัฒนาอาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์ฯ ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงตัวราษฎรโดยตรง ตลอดจนฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มุ่งเน้นที่กลุ่มเยาวชน นักเรียน เพื่อปลูกฝังให้รักและเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมาจากสภาพป่าเสื่อมโทรม พื้นดินแห้งแล้งขาดความอุดมสมบูรณ์ ได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์ได้รับการฟื้นฟูตามธรรมชาติ พรรณไม้เปลี่ยนจากป่าไม้เต็งรังเป็นป่าไม้เบญจพรรณ สภาพป่าไม้ ดิน น้ำ ความชุ่มชื้นของพื้นดิน และปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงนกป่านานา พันธุ์ที่กลับคืนสู่ธรรมชาติ สมดังที่พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในอันที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นเสมือน "พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต" ให้กับราษฎร




โดย : เด็กชาย รุ่งโรจน์ ดาพรม, ราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545