โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านแม่ต๋ำ

http://www.rdpb.go.th/thai/important/0019/0019.html

โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านแม่ต๋ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง


สถานที่ดำเนินการ บ้านแม่ต๋ำ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง
พระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2536
ทรงมีพระราชดำริที่ โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านแม่ต๋ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง
ทรงมีพระราชดำริกับ ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ และนายสุพจน์ รุจิรกุล
เนื่องในโอกาส เสด็จเยี่ยมราษฎรโครงการพัฒนาบ้านแม่ต๋ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สรุปพระราชดำริ 1. ให้พัฒนาพื้นที่และอาชีพของราษฎรและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ บ้านแม่ต๋ำ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง
2. จัดหาน้ำเพิ่มเติมให้กับสระเก็บน้ำต่าง ๆ โดยพิจารณาก่อสร้างระบบส่งน้ำเพิ่มเติมเชื่อมต่อกับระบบส่งน้ำ และระบบผันน้ำเดิมของโครงการชลประทานที่ได้ก่อสร้างไว้แล้วตามความเหมาะสมต่อไป
3. จัดหาน้ำสนับสนุนกิจกรรมของศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ รวมทั้งกิจกรรมการเกษตรบริเวณ แปลงสาธิตการเกษตรเนื้อที่ประมาณ 125 ไร่ ปัจจุบันยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยพิจารณาก่อสร้างสระเก็บน้ำขนาดเล็กพร้อมระบบส่งน้ำเชื่อมต่ำกับระบบท่อผันน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยจวง - อ่างเก็บน้ำ
บ้านแม่ต๋ำ เพื่อให้สามารถรับน้ำเพิ่มเติมลงสระเก็บน้ำดังกล่าวได้
4. เร่งพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ห้วยแม่ต๋ำตอนบน ที่เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองในฤดูฝนไว้ส่งเพิ่มเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำห้วยจวง, อ่างเก็บน้ำ ห้วยโป่งแต้ว และอ่างเก็บน้ำบ้านแม่ต๋ำ
ซึ่งมีความจุน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการใช้งานในช่วงฤดูแล้งโดยสมควรตรวจสอบความเหมาะสม
ของสภาพป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ต๋ำตอนบนที่จะต้องถูกน้ำท่วมเสียก่อน
วัตถุประสงค์ของโครงการ 1. เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาราษฎรที่ไม่มีที่ทำกิน และไม่มีหลักประกันในการดำรงชีพให้มีที่ดินทำกินและมีหลักประกันในการ ดำรงชีพ
2. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม ให้แก่ ราษฎร
3. เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่า รักษาป่าให้มีสภาพอุดมสมบูรณ์และดำเนินการพัฒนาอนุรักษ์สภาพนิเวศวิทยาป่าไม้ด้วย
4. เพื่อพัฒนาเป็นหมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติ องค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ปี 2535
5. เพื่อนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งแต้วมาใช้ประโยชน์ให้กับราษฎรที่เดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ
6. เพื่อนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งแต้วส่งเข้าพื้นที่แปลงเกษตร เพื่อช่วยเหลือราษฎร จำนวน 100 ไร่ และเพื่อใช้ในการอุปโภค - บริโภค ของราษฎรที่เดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ
หน่วยงานรับผิดชอบ 1 กองศิลปาชีพ สำนักราชเลขาธิการ
2 กรมชลประทาน
3 กรมป่าไม้
4 สำนักพระราชวัง
ประโยชน์ของโครงการ 1. จะทำให้รักษาสภาพป่าไม้เศรษฐกิจ ไม้บำรุงดิน และไม้อาหาร สัตว์ป่า ในพื้นที่ 32,000 ไร่ ขึ้นปกคลุมพื้นที่เพื่อรักษาความชุ่มชื้น ของธรรมชาติและเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร
2. จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่ราษฎร 4 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่ต๋ำ บ้านนาล่าม บ้านดงไม้ฮ่าง และบ้านตีนดอย ตำบลเสริมซ้าย อำเภอ เสริมงาม มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
3. ลดการบุกรุก และลักลอบตัดไม้ทำลายป่าให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
4. เพื่อป้องกันและลดความเสียหายไฟป่าในบริเวณโครงการปลูกป่าฯ
5. ทำให้ราษฎรได้รับความรู้ และประสบการณ์ในการปลูกป่าและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
6. เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากจนบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียงให้มีรายได้มากขึ้น โดยจะทำการจ้างมาปลูกป่าและเป็นการสร้างความเข้าใจให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการปลูกป่า เกิดความรู้สึกหวงแหน เพราะเป็นผู้ปลูกป่าด้วยตนเอง
7. ทำให้เกิดแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น
8. จะได้ประโยชน์แก่หมู่บ้านจำนวน 1 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่ต๋ำใต้ หมู่ 1ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง มีประชากร จำนวน 190 คน 47 ครัวเรือน
9. จะช่วยให้ราษฎรมีผลผลิตเพิ่มจากการเพาะปลูกพันธุ์พืชไม้ผล สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวจากเดิม ที่ผลิตได้ จำนวน 30 - 40 ถัง/ไร่ เป็นจำนวน 60 ถัง/ไร่ สามารถเพิ่มผลิตถั่วลิสงจากเดิม ที่ผลิตได้ จำนวน 25 ถัง/ไร่ เป็นจำนวน 50 ถัง/ไร่
10. จะก่อประโยชน์โดยตรงแก่พื้นที่ จำนวน 100 ไร่ 47 ครัวเรือน ประชากร 190 คน
ผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2535
ดำเนินการปลูกป่าและเพาะเลี้ยงกล้าไม้จำนวน 200,000 ต้น บำรุงรักษาสวนเดิมและทำแนวกันไฟป่าจากพื้นที่โครงการทั้งหมด 30,000 กว่าไร่ และได้มีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้กับราษฎร ในเขตพื้นที่ข้างเคียง ได้รู้สึกรักและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติด้วย

ปีงบประมาณ 2536
1. เพาะชำกล้าไม้ที่ใช้ปลูกในโครงการฯ และอนุเคราะห์กล้า จำนวน 201,700 ต้น
2. งานปลูกป่าเสริมธรรมชาติ ปลูกกล้าไม้ จำนวน 163,500 ต้น
3. อนุเคราะห์กล้าไม้ให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 5,234 ต้น
4. งานปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งแต้ว
5. งานป้องกันไฟป่า ทำแนวป้องกันไฟป่าทั้งแนวป้องกันไฟหลักและ แนวกันไฟซอย
6. งามส่งเสริม และพัฒนากิจกรรมการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ โดยทำหน่อไม้อัดปิ๊บ รวมทั้งหมด 580 ปิ๊บ
7. งานประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า
8. ปล่อยสัตว์ป่าเพิ่มในพื้นที่ของโครงการฯ คือ ไก่ป่า จำนวน 7 คู่ ไก่ฟ้า 2 คู่
9. ส่งเสริมความรู้ด้านวิชาการ จัดสมาชิกโครงการฯ เข้าฝึกการป้องกันและควบคุมไฟป่า โดยร่วมกับศูนย์ควบคุมไฟป่า จังหวัดเชียงใหม่

ปีงบประมาณ 2537
ดำเนินการสำรวจรังวัดพื้นที่ที่จะดำเนินการพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ เพาะชำกล้าไม้ เช่น สัก ประดู่ แดง ไทร ตะแบก ขี้เหล็ก ตะขบ หว้า จำนวน 300,000 ต้น ทำแนวป้องกันไฟป่าหลัก และแนวป้องกันไฟป่ารอง แบ่งตามสภาพพื้นที่คือ พื้นที่ลาดเอียง แนวป้องกันไฟป่า
กว้าง 10 - 12 เมตร พื้นที่ราบแนวป้องกันไฟป่ากว้าง 8-10 เมตร ปลูกป่าเสริมธรรมชาติ จำนวน 3,000 ไร่ ปลูกป่าคุมรอบบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 40 ไร่ ส่งเสริมและพัฒนากิจกรรม เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ เช่น ทำหน่อไม้ปิ๊บ การเกษตรป่าไม้ (Agro-Forestry) ปล่อยสัตว์ป่าบางชนิด เช่น ไก่ป่า ไก่ฟ้า กระต่าย และประชาสัมพันธ์ให้เห็นความสำคัญของการปลูกป่า ภัยจากไฟป่า การอนุรักษ์ป่าไม้

ปีงบประมาณ 2538
1. งานเพาะชำกล้าไม้ ดำเนินการเพาะชำกล้าไม้ สำหรับใช้ปลูกในพื้นที่ของโครงการ และแจกจ่ายให้แก่หน่วยงานทั้งราชการและเอกชน จำนวน 262,000 ต้น แยกเป็น ไม้สักทอง จำนวน 98,320 ต้น ไม้เบญจพรรณ จำนวน 158,280 ต้น และไม้ดอกไม้ประดับ จำนวน 5,400 ต้น
2. งานปลูกป่าเสริมธรรมชาติและบำรุงรักษา ดำเนินการกำจัดวัชพืชให้กับต้นไม้ที่ปลูกพร้อมทำเครื่องหมายโดยการใช้หลักหมายทาสีแดง ปลูกกล้าไม้ต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการปลูกป่า เสริมธรรมชาติบ้านแม่ต๋ำ จำนวนกล้าไม้ทั้งหมดประมาณ 250,000 ต้น และได้แจกกล้าไม้
แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานราชการและเอกชนที่ขอรับการสนับสนุนจำนวน ทั้งหมด 12,000 ต้น
3. งานป้องกันไฟป่า ดำเนินการทำแนวป้องกันไฟป่า ทั้งแนวป้องกันไฟป่าหลักและแนวป้องกันไฟป่ารองโดยยึดตามแนวป้องกันไฟป่าเดิมจากที่ทำในปีก่อนและได้เสริมแนวป้องกันไฟป่าซอย
เป็นบางจุดในพื้นที่ ที่ล่อแหลมต่อการเกิดไฟป่าและยากต่อการสกัดไฟป่าเป็นระยะทาง ประมาณ 48 กิโลเมตร รวมทั้ง ได้จัดชุดลาดตระเวณตรวจตรา และจัดยามประจำหอดูไฟป่า เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการเข้าควบคุมไฟ
4. งานส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ได้ส่งเสริมการผลิตหน่อไม้ปี๊บ จากไผ่ไร่ ให้แก่ราษฎรและสมาชิกที่สนใจ จำนวน 243 ปี๊บ หน่อไม้อัดขวด การทำเห็ดป่า และเห็ดเผาะดองเค็ม บรรจุขวด เป็นต้น
5. งานร้านค้าสวัสดิการบ้านแม่ต๋ำ บริการจำหน่ายสินค้าอุปโภค - บริโภค และเป็นตลาดกลาง ในการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร และผลผลิต จากป่าไม้ แก่สมาชิกของโครงการฯ ในราคาที่ยุติธรรม
6. งานธนาคารข้าว ได้รับเงินพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ. 2537 เป็นเงิน 50,000 บาท ดำเนินการจัดซื้อข้าวเปลือกและสีจำหน่ายให้ราษฎร ในราคาถูก โดยผ่านร้านสวัสดิการบ้านแม่ต๋ำ
7. งานป้องกันและปราบปราม ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพัฒนาฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อำเภอเสริมงามผู้นำหมู่บ้าน และสมาชิกของโครงการฯ จัดชุดลาดตระเวณพื้นที่บริเวณพื้นที่ปลูกป่า รอบ ๆโครงการ เดือนละประมาณ 3 ครั้ง

ปีงบประมาณ 2539
1. งานเพาะชำกล้าไม้
- ได้เพาะชำกล้าไม้สำหรับไว้ให้ปลูกในโครงการฯ และแจกจ่ายให้แก่หน่วยงานราชการและเอกชน รวม 247,700 ต้น
2. งานปลูกป่าเสริมธรรมชาติและบำรุงรักษา
- กำจัดวัชพืช และปลูกกล้าไม้ในพื้นที่โครงการฯ จำนวนประมาณ 222,700 ต้น
และได้อนุเคราะห์กล้าไม้ให้แก่หน่วยงานราชการและเอกชนที่ขอรับการสนับสนุน จำนวน 25,000 ต้น
3. งานป้องกันไฟป่า
- ทำแนวป้องกันไฟป่าในพื้นที่โครงการฯ และได้เสริมแนวป้องกันไฟป่า ระยะทาง
ประมาณ 48 กิโลเมตรจัดชุดลาดตระเวณพื้นที่เพื่อตรวจตรา และจัดยามประจำหอตรวจดูไฟป่า ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาสามารถป้องกันไฟป่าได้ประมาณ 75 %
4. งานประชาสัมพันธ์โครงการฯ
- ติดป้ายประชาสัมพันธ์การป้องกันไฟป่า การห้ามตัดไม้และล่าสัตว์ป่า และออกประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่ราษฎรให้ทราบถึงผลเสียหายที่ เกิดจากการทำลายป่า
- อบรมสมาชิกโครงการฯ และราษฎรบ้านแม่ต๋ำในเรื่องการป้องกันและดับไฟป่า เพื่อเป็นการ
เพิ่มความรู้ทางด้านวิชาการเกี่ยวกับไฟป่า การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
5. งานป้องกันและปราบปราม
- ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ผู้นำหมู่บ้านและสมาชิกโครงการฯ จัดชุดลาดตระเวณเพื่อป้องกันการตัดไม้และล่าสัตว์ป่าในพื้นที่โครงการฯ และบริเวณใกล้เคียง ยึดได้ของกลาง คือ เลื่อยยนต์ จำนวน 1 เครื่อง ไม้ท่อน จำนวน 72 ท่อน และไม้แปรรูป จำนวน 18 เล่ม ผู้กระทำความผิด
หลบหนีไปได้ ส่วนของกลางได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้รับผิดชอบดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
6. งานส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมการใช้ประโยชน์จากป่าไม้
- ส่งเสริมให้ราษฎรบ้านแม่ต๋ำปลูกไผ่ตง โดยทางโครงการฯสนับสนุนกล้าไผ่ตง ซึ่งดำเนินการปลูก ไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 5,000 ต้น เพื่อนำผลผลิตจากไผ่ตง คือ หน่อไม้ ไว้บริโภคและนำไปทำ ผลิตภัณฑ์หน่อไม้อัดปี๊บ และหน่อไม้อัดขวด จำหน่ายเป็นรายได้เสริมต่อไป และส่งเสริมสมาชิก และราษฎรบ้านแม่ต๋ำปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อปลูกไว้บริโภคในครัวเรือน เป็นต้น
7. งานร้านค้าสวัสดิการบ้านแม่ต๋ำ
- ดำเนินการจำหน่ายสินค้าอุปโภค - บริโภค และเป็นตลาดกลางในการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร และผลิตผลจากป่าไม้ให้แก่สมาชิกโครงการฯ และราษฎรบ้านแม่ต๋ำในราคายุติธรรม และได้จัดสีข้าว บริการให้แก่สมาชิกและราษฎรบ้านแม่ต๋ำ จำนวน 7,397 กิโลกรัม และสีข้าวให้กับธนาคารข้าว
จำนวน 4,080 กิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 11,477 กิโลกรัม
8. งานธนาคารข้าว
- ดำเนินการจัดซื้อข้าวเปลือกเหนียว จำนวน 4,080 กิโลกรัม เป็นเงิน 23,715 บาท จัดสีจำหน่ายทั้งหมด 4,080 กิโลกรัม เป็นเงิน 21,361 บาท เงินสดฝากธนาคาร 28,767.70 บาท รวมเป็นเงิน 50,128.70 บาท ขาดทุนอยู่เป็นเงิน 2,355 บาท สาเหตุที่ขาดทุนเนื่องจากคุณภาพข้าวดังกล่าว
ไม่ดีเท่าที่ควร จึงจำหน่ายข้าวสารให้แก่สมาชิก ในราคาที่ต่ำกว่าทุน






โดย : นาง บุศรา รัชตะนาวิน, ripw klonglung prathumthanee 13180, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545