โครงการฟื้นฟูสภาพป่า

http://www.rdpb.go.th/thai/important/0020/0020.html

โครงการฟื้นฟูสภาพป่าพื้นที่ อำเภอไชยปราการ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่


สถานที่ดำเนินการ - บ้านห้วยจะค่าน ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
- บ้านแข่ลีซอ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
พระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2536
ทรงมีพระราชดำริที่ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าพื้นที่ อำเภอไชยปราการ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ทรงมีพระราชดำริกับ พลโทสุรเชษฐ เดชาติวงศ์ แม่ทัพภาคที่ 3 นายสวัสดิ์ วัฒนายากร อธิบดีกรม ชลประทาน
นายผ่อง เล่งอี้ อธิบดีกรมป่าไม้ นายวีระชัย แนวบุญเนียร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
นายพิมลศักดิ์ สุวรรณทัต ผู้ช่วยเลขาธิการ กปร. เข้าเฝ้ารับเสด็จและถวายงาน
เนื่องในโอกาส ทรงเยี่ยมราษฎรโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าพื้นที่ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
สรุปพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้พระราชทานพระราชดำริ ให้พัฒนาพื้นที่ป่าไม้บริเวณรอยต่อกิ่งอำเภอไชยปราการและอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้
- รักษาสภาพป่ามิให้ถูกทำลายต่อไป ตลอดจนอนุรักษ์สัตว์ป่า
- ฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายให้คืนสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์ดังเดิม
- ฟื้นฟูและรักษาต้นน้ำลำธารให้มีน้ำตลอดปี
- พัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่ร่วมกับป่า ดูแลรักษาป่าในลักษณะ"บ้านเล็กในป่าใหญ่"
-ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาจัดหาพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรชาวเขาเผ่าลีซอโดยให้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการเกษตรและการอุปโภค
- บริโภค และสำหรับพื้นที่เดิมที่ไชยปราการนี้ ให้ดำเนินการปลูกป่าและฟื้นฟูสภาพป่าต่อไป และระหว่างดำเนินการหาพื้นที่ให้ใหม่ก็ให้พิจารณาส่ง เสริมอาชีพที่ใช้น้ำน้อยแก่เกษตรกรด้วย
เช่น การส่งเสริมการเลี้ยงไก่พื้นเมือง
วัตถุประสงค์ของโครงการ 1. เพื่อรักษาสภาพป่ามิให้ถูกทำลาย ตลอดจนรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์สัตว์ป่า
2. เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกบุกรุกทำลายจนเสื่อมสภาพให้คืนสู่สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ดังเดิม ให้มีป่าไม้ธรรมชาติและให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในป่าได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและ
ใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างเหมาะสม
3. เพื่อช่วยให้ราษฎรซึ่งขาดแคลนที่ดินทำกินได้มีที่ทำกิน เป็นหลักแหล่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น มีอาชีพและรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิตให้ "คน" และ "ป่า" อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนในลักษณะ "บ้านเล็กในป่าใหญ่" โดยให้ราษฎรเป็นผู้รักษาป่า
4. จัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค ช่วยเหลือราษฎรชาวเขาอพยพจากบ้านมูเซอร์หลังเมือง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เข้าอยู่ในโครงการอนุรักษ์
และฟื้นฟูสภาพป่าพื้นที่อำเภอไชยปราการ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 36 ครอบครัว
5. จัดหาแหล่งน้ำให้กับราษฎรบริเวณใกล้เคียง สามารถเพาะพันธุ์ปลา ทำการประมงหมู่บ้าน เป็นรายได้และอาหารโปรตีนเสริม
6. เพื่อเป็นการอนุรักษ์รักษาสภาพต้นน้ำลำธารธรรมชาติ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นแก่พื้นดิน และป่าไม้ในบริเวณต้นน้ำห้วยจะค่าน
หน่วยงานรับผิดชอบ - กรมชลประทาน
- กรมส่งเสริมการเกษตร
- กรมป่าไม้
- กรมปศุสัตว์
- กรป. กลาง
- กองทัพภาคที่ 3
- กองศิลปาชีพ สำนักราชเลขาธิการ
ประโยชน์ของโครงการ 1. ฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกบุกรุกทำลายให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติดังเดิม
2. เพิ่มความสมบูรณ์ให้กับป่าต้นน้ำลำธารให้มีน้ำตลอดปี
3. สามารถช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอที่อพยพมาจากบ้านลีซอหลังเมือง ซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ได้มีพื้นที่ทำกิน และอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ถูกต้องตามกฏหมาย มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
4. ช่วยส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและการอุปโภค - บริโภค ของราษฎรชาวเขา ที่อพยพมาจากบ้านมูเซอร์หลังเมือง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
ผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2537
1. งานอำนวยการและบริหาร
1.1 ปรับพื้นที่สร้างบ้าน จำนวน 36 ครอบครัว บริเวณบ้านแข่ลีซอ และร่วมกับราษฎร ดำเนินการสร้างบ้านของราษฎร จำนวน 36 หลัง
1.2 อพยพราษฎรลีซอบ้านหลังเมืองจากอำเภออมก๋อย มาเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 36 ครอบครัว 179 คน
1.3 ได้จัดทำทะเบียนราษฎรลีซอที่อพยพ โดยร่วมกับอำเภอไชยปราการ
1.4 ประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับราษฎรทั้งในพื้นที่โครงการฯ และรอบพื้นที่โครงการฯ ถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ได้แก่ บ้านใหม่หนองบัง, บ้านสินชัย,
บ้านอรุโณทัย, บ้านห้วยจะค่าน เป็นต้น
2. งานโครงสร้างพื้นฐาน
2.1 การจัดถังน้ำดื่มให้ราษฎร จำนวน 30 แห่ง
2.2 ดำเนินการปรับปรุงเส้นทางพื้นที่โครงการฯ รวมระยะทาง 8,250 เมตร
2.3 ปรับพื้นที่จัดตั้งหมู่บ้าน จำนวน 36 แห่ง
2.4 สร้างบ่อพักน้ำและฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมระบบส่งน้ำ 2 แห่ง
2.5 ก่อสร้างสระเก็บน้ำ ขนาดความจุ 50,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 แห่ง
2.6 สำรวจและออกแผนงานอนุรักษ์ดินและน้ำ 500 ไร่
3. งานพัฒนาคุณภาพชีวิต
3.1 ได้สร้างอาคารศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน ที่บ้านแข่ลีวอ ขนาด 4X6 เมตร
3.2 ได้สร้างอาคารเรียนที่บ้านแข่ลีซอ ขนาด 3X10 เมตร จำนวน 1 หลัง
3.3 จัดการสนับสนุนกองทุนธนาคารข้าวของราษฎร โดยการให้ยืม
4. งานพัฒนาป่าไม้
4.1 คัดเลือกและจัดส่งเจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชนป่าไม้ 1 คน
- จัดเจ้าหน้าที่สำรวจเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในพื้นที่
- อบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมและปลูกฝังอุดมการณ์ให้กับชุมชน จำนวน 3 ครั้ง
4.2 ฟื้นฟูสภาพป่าโดยวิธีธรรมชาติ เช่น ปลูกไม้ใช้สอยและป่าชุมชนทั้งหมู่บ้าน บริเวณรอบ ๆ
หมู่บ้าน จำนวน 100 ไร่ ได้แก่ กระถินยักษ์, มะขามเปรี้ยว, มะขามเทศ, มะม่วงป่า, มะม่วงหิมพานต์
4.3 สำรวจพื้นที่สภาพป่าต้นน้ำลำธารและกำหนดให้ชัดเจน จำนวน 2,500 ไร่
- กำจัดวัชพืชรอบป่าไม้เพื่อให้ลูกไม้เจริญเติบโต
- ปลูกป่าเสริมเพื่อลูกไม้ จำนวน 400 ไร่ ได้แก่ สนสามใบ, แอปเปิ้ลป่า, นางพญาเสือโคร่ง, เสี้ยวดอกขาว
4.4 เจ้าหน้าที่หน่วยงานร่วมกับราษฎรเลือกพื้นที่ปลูกป่าและพันธุ์ไม้
- ปลูกไม้โตเร็วโดยชุมชน จำนวน 100 ไร่ ได้แก่กระถินยักษ์ มะขามเปรี้ยว, มะขามเทศ, มะม่วงหิมพานต์, สะเดา, ขี้เหล็ก, ยูคาลิปตัส
4.5 ดำเนินการสร้างฝายเก็บกักน้ำในพื้นที่โครงการฯ รวม 25 แห่ง

ปีงบประมาณ 2538
1. ผลความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ณ บ้านแข่ลีซอ (พื้นที่เดิม) งานพัฒนาอาชีพ
- ประชุมชี้แจงราษฎรประจำสัปดาห์ ในทุกวันอาทิตย์ เพื่อประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจ ตลอดจนรับทราบปัญหา และแก้ไขตามขีดความสามารถ หรือประสานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ
มาดำเนินการ
- ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงเห็ด โดยสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เป็นผู้ให้การสนับสนุน ก้อนเชื้อเห็ดในราคาถูก และทำการฝึกอบรมกำลังพลให้มีความรู้ความสามารถ นำมาขยายผล
ให้แก่ราษฎร เห็ดที่นำมาส่งเสริม ได้แก่ เห็ดหอม เห็ดหลินจือ เห็ดนางรมฮังการี และเห็ดหูหนู
- ทำการฝึกอบรมการปักผ้า โดยวิทยากรพิเศษจากการศึกษานอกโรงเรียน หลักสูตรนอกโรงเรียน หลักสูตร 200 ชั่วโมง
- สนับสนุนพันธุ์ไก่เนื้อให้ราษฎรจำนวน 1 ราย ได้จำนวน 10 ตัว และไก่ไข่จำนวน 50 ตัว ให้แก่ครูและนักเรียนเป็นผู้ดูแล และทำการอบรมการเลี้ยงสัตว์ปีกให้แก่ ราษฎร
- ส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ ดำเนินการโดยจัดตั้งกลุ่ม จำนวน 6 กลุ่ม ๆ ละ 6 คน รวมสมาชิก 36 คน โดยทางการเกษตรอำเภอสนับสนุนวัสดุและพันธุ์ผัก ได้แก่ ผักกาดขาวปลี
ถั่วฝักยาว ผักคะน้า กระหล่ำดอก และผักกาดเขียวปลี รวมจำนวน 42 กระป๋อง
- ด้านการสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอไชยปราการ ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ให้บริการแก่ราษฎร และให้คำแนะนำเกี่ยวกับประโยชน์ของไอโอดีน การวางแผนครอบครัว
และการสนับสนุนยาเพิ่มเติม
- ดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงไก่พันธุ์เนื้อลูกผสม และการปลูกถั่วแดงให้กับราษฎร จำนวน 36 ครอบครัว
2. ผลความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ณ บ้านห้วยจะค่าน (พื้นที่แห่งใหม่) งานอำนวยการและบริหาร
กองทัพภาคที่ 3 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณาการดำเนินงานและเร่งรัด การดำเนินงานในพื้นที่รองรับแห่งใหม่ บ้านห้วยจะค่าน โดยได้กำหนดแผนงานหลักไว้ 5 แผนงาน
ได้แก่ แผนงานอำนวยการและบริหารงานแผนงานโครงสร้างพื้นฐาน แผนงานพัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิต แผนงานพัฒนาป่าไม้ และแผนงานติดตามประเมินผล
- สร้างอาคารโรงเพาะเลี้ยงเห็ด ประกอบด้วย โรงบ่มเห็ดพร้อมชั้นวางเห็ดและโรงเปิดเห็ดแล้วเสร็จ และได้รับก้อนเชื้อเห็ดหลินจือจากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ จำนวน 3,500 ก้อน ซึ่งจะสามารถรองรับและส่งเสริมรายได้ให้ราษฎรที่อพยพมาอยู่ในพื้นที่แห่งใหม่ได้
- สร้างอาคารที่พักของชุดปฏิบัติการ จำนวน 1 หลัง และสร้างบ้านราษฎรจำนวน 40 หลัง
- อพยพราษฎรจากบ้านแข่ลีซอ เข้าพื้นที่จัดตั้งหมู่บ้านแห่งใหม่ บ้านห้วยจะค่าน 40 ครอบครัว
- ดำเนินการสำรวจพื้นที่โครงการ ในขั้นต้นได้จัดแบ่งพื้นที่เป็น 3 แปลง คือ พื้นที่แปลง A เป็นที่ตั้งหมู่บ้านและที่ทำกิน พื้นที่ 178 ไร่ 3 งาน พื้นที่แปลง B เป็นพื้นที่ทำกิน มีพื้นที่ 71 ไร่
42.1 ตารางวา พื้นที่แปลง C เป็นพื้นที่ทำกิน มีพื้นที่ 98 ไร่ 2 งาน 42.8 ตารางวา
- ดำเนินการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ปลูกป่าสาธิต ด้วยการจัดทำร่องระบายน้ำ ตามแนวระดับพร้อมทั้งวางท่อซีเมนต์ช่วยระบายน้ำตามถนน เพื่อลดการชะล้างหน้าดิน
และทำการปลูกหญ้าแฝก
- ดำเนินการสำรวจข้อมูลพื้นที่และแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อนำไปออกแบบก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ห้วยจะค่าน อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และฝายน้ำล้น
- ปรับปรุงเส้นทางเข้าพื้นที่โครงการ ซึ่งประสบปัญหาสภาพถนนชำรุดในช่วงฤดูฝน
- สำรวจแนวเส้นทาง เพื่อจัดทำรายละเอียดแผนงานการก่อสร้าง และปรับปรุงเส้นทาง ภายในพื้นที่โครงการ และเส้นทางบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง
- ดำเนินการสำรวจและขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อจัดหาน้ำสำหรับอุปโภค
- บริโภค ภายในหมู่บ้าน
- สนับสนุนพันธุ์ไม้ ได้แก่ นางพญาเสือโคร่ง เสี้ยวดอกขาว และแอบเปิ้ลป่า ปลูกในแปลงป่าสาธิต
จำนวน 370 ไร่ โดยว่าจ้างแรงงานราษฎรในโครงการ จำนวน 40 คน เป็นคนงานป่าไม้

ปีงบประมาณ 2539
งานพัฒนาแหล่งน้ำ
- ปรับปรุงแหล่งน้ำตามธรรมชาติพร้อมก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ ได้ดำเนินการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ ด้วยท่อ PVC 6" ความยาว 3,000 เมตร พร้อมบ่อกักเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดความจุ 1,000 ลูกบาศก์เมตร และระบบจ่ายน้ำด้วยท่อ PVC ขนาด 4", 2" ความยาว 600 เมตร
เพื่อการอุปโภค-บริโภค แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการ จำนวน 36 ครัวเรือน
- ก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำฝายห้วยจะค่าน 2 ได้ดำเนินการ ก่อสร้างท่อส่งน้ำสายใหญ่ด้วท่อ PVC 6" ความยาว 8,708 เมตร ท่อสายแยกซอย 1 ขวา ขนาด 4" ความยาว 618 เมตร
พร้อมบ่อกักเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 2 แห่ง ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรแปลงที่ 2, ประมาณ 250 ไร่
- ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า ได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ความจุ 450,000 ลูกบาศก์เมตร ขนาดทำนบดินสูง 20 เมตร ยาว 158 เมตร พร้อมอาคารประกอบท่อส่งน้ำ ขนาด 0.05 เมตร ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรแปลงที่ 1 ประมาณ 100 ไร่
งานพัฒนาป่าไม้
- งานประสานงานชุมชนและประชาสัมพันธ์ด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ ดิน และต้นน้ำ ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกแก่พื้นที่เป้าหมาย จำนวน 7 หมู่บ้าน
- งานปลูกป่า ดำเนินการจัดเตรียมกล้าไม้ เตรียมพื้นที่ปลูกป่า โดยดำเนินการปลูกป่า พื้นที่ 1,000 ไร่
- งานปลูกป่าสาธิต ดำเนินการจัดเตรียมกล้าไม้ เตรียมพื้นที่ปลูกป่า ปลูกป่าพืชเกษตร โดยปลูกป่าสาธิต พื้นที่ 10 ไร่
- งานบำรุงป่าสาธิต ดำเนินการถางวัชพืช เตรียมกล้าไม้ ปลูกซ่อมพื้นที่
- งานบำรุงป่าอายุ 2-6 ปี ดำเนินการถางวัชพืช เตรียมกล้าไม้ ปลูกซ่อมพื้นที่ จำนวน 1,500 ไร่
- เพาะชำกล้าไม้ ดำเนินการเตรียมพื้นที่แปลงเพาะชำกล้าไม้ จำนวน 94,000 กล้า และทำแนวกันไฟ ระยะทาง 25 กิโลเมตร
- การสาธิตการเลี้ยงกบ นำพันธุ์กบไปเลี้ยงสาธิตในโรงเรือน โดยปล่อยในอัตรา 50 ตัว/ตารางเมตร รวมจำนวน 2,660 ตัว จากการทดสอบเลี้ยงกบในโรงเรือนสาธิตพบว่า กบเจริญเติบโตดีพอสมควร แต่เมื่อถึงฤดูหนาวอากาศเย็นลงทำให้กบกินอาหารได้น้อยลง และมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำลง
ส่งผลให้กบอ่อนแอ ทำให้เกิดการติดโรคได้ง่าย ทำให้ผลผลิตต่ำ
- การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยดำเนินการสร้างถังเก็บน้ำฝน สนับสนุนการเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 360 ตัว
- ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงเห็ด จากการที่สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ได้สนับสนุนก้อนเชื้อเห็ด และทำการฝึกอบรมกำลังพลให้มีความรู้ความสามารถนำมาขยายผลให้แก่ราษฎร
เห็ดที่ส่งเสริมได้แก่ เห็ดหลินจือ เห็ดหอม เห็ดนางรมฮังการี และเห็ดหูหนู มีสมาชิก จำนวน 9 ราย



โดย : นาย โสภน หงษ์วิจิตร, ripw, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545