โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอัน

http://www.rdpb.go.th/thai/important/Projects/pj203.htm

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดสกลนคร - นครพนม

1. พระราชดำริ / ความเป็นมา
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้าง โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนคร – นครพนม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณสองฝั่งลำน้ำก่ำเกี่ยวกับ
เรื่องน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูฝน และขาดแคลนน้ำทำการเกษตรรวมทั้งอุปโภค บริโภค ในฤดูแล้ง

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม ให้พิจารณาดำเนินการก่อสร้าง ประตูระบายน้ำเล็กๆ เก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำไปก่อน ลดขนาดความสูงของประตูระบายน้ำลงมา แล้วค่อยเจรจากับราษฎรที่ถูกน้ำท่วม หากเจรจาได้ก็ให้ สร้างประตูระบายน้ำขนาดใหญ่ต่อไป พร้อมทั้งส่งเสริมให้ราษฎรสูบน้ำจากลำน้ำก่ำตอนล่างนำขึ้นไปใช้เอง



2. แนวทางการดำเนินการ
สำนักงาน กปร. ได้ประสานกับกรมชลประทาน พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนคร – นครพนม โดยมีองค์ประกอบสำคัญๆ ของโครงการประกอบด้วย
ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำและพนังกั้นน้ำในลำน้ำก่ำ จำนวน 3 แห่ง
1) การขุดลอกหนองบึงขนาดใหญ่ 20 แห่ง ขนาดเล็ก 116 แห่ง
2) ก่อสร้างคลองดักน้ำ ( Intercept Drains) ในลำน้ำย่อยที่จะไหลลงลำน้ำก่ำ จำนวน 4 แห่ง
3) ก่อสร้างประตูระบายน้ำเล็กๆ ตามความเหมาะสม เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำก่ำตอนล่าง

นอกจากนี้ยังได้ประสานกับกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างสถานที่สูบน้ำ พร้อมระบบส่งน้ำ มีพื้นที่การเกษตร จำนวน 40,000 ไร่

3. ผลการดำเนินงาน

3.1 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำตอนบน มีผลการดำเนินงาน และความก้าวหน้า ดังนี้

1) งานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำและพนังกั้นน้ำ
ได้ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ จำนวน 3 แห่ง ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำให้สามารถเก็บกักน้ำได้ตลอดลำน้ำก่ำ สำหรับใช้เพื่อการ ชลประทาน การอุปโภค บริโภค และในฤดูน้ำหลากจะทำหน้าที่ระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมด้านเหนือของอาคาร โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้ ประตูระบายน้ำบ้านนาขาม อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2538 ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำได้ จำนวน 3.1 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีพื้นที่ชลประทาน จำนวน 14,100 ไร่ ประตูระบายน้ำบ้านนาคู่ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2539 ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จ เรียบร้อยแล้ว สามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำได้ 8.75 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีพื้นที่ชลประทาน จำนวน 30,900 ไร่ ประตูระบายน้ำบ้านหนองบึง อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2540 ปัจจุบันได้ผลงานร้อยละ 80 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2543 หากดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำได้ 1.87 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีพื้นที่ชลประทาน จำนวน 11,010 ไร่
2) งานขุดลอกแหล่งน้ำ
การพัฒนาหนองน้ำขนาดเล็ก ได้ขุดลอกหนองน้ำขนาดเล็กเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2540 จำนวน 116 แห่ง และเก็บกักน้ำได้ประมาณ 3.05 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ ในฤดูแล้งได้เป็นอย่างดี การพัฒนาหนองน้ำขนาดใหญ่ ได้ดำเนินการไปแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ หนองคำฮุย หนองสังข์ บึงสะพาน และบึงไฮ ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 6.54 ล้านลูกบาศก์เมตร มีทางระบายน้ำเข้า – ออก เพื่อส่งน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่การ เกษตรได้ประมาณ 3,180 ไร่

3) งานก่อสร้างคลองดักน้ำ (Intercept Drains)
ได้ก่อสร้างฝายห้วยไร่ปิดกั้นลำน้ำย่อยของลำน้ำก่ำเหนือประตูระบายน้ำบ้านนาขาม และก่อสร้างคลองดักน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายน้ำของอาคาร ปัจจุบันได้ผลงานร้อยละ 65.22 คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2543

4) งานก่อสร้างระบบชลประทาน
หลังจากการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำก่ำ จำนวน 3 แห่ง จะทำให้เกิดการกักเก็บน้ำในลำน้ำเหนืออาคารบังคับน้ำแต่ละแห่ง มีปริมาณน้ำที่กักเก็บ จำนวน 13.72 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถนำไปใช้ในการชลประทานในพื้นที่สองฝั่งลำน้ำ ปัจจุบันมีการจัดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอยู่แล้ว จำนวน 9 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ส่งน้ำ จำนวน 9,550 ไร่ และมีแผนงานที่จะ ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีก จำนวน 16 สถานี โดยมีพื้นที่ส่งน้ำครอบคลุมอีก 40,000 ไร่

5) การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ

จากการที่ได้จัดตั้งให้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เพื่อให้ขยายผลการพัฒนา ซึ่งเน้นไปสู่พื้นที่ของเกษตรกรโดยตรง ทำให้มีการพัฒนาในด้านอาชีพ และรายได้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ให้พิจารณาการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้วให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณที่ได้มีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำแล้ว จำนวน 9 สถานี ก็สามารถใช้น้ำสนับสนุนการเกษตรได้ตลอดปี

3.2 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำตอนล่าง การดำเนินการโครงการฯ มีปัญหาเรื่องชั้นเกลือหิน บริเวณใต้อ่างเก็บน้ำ เกรงว่าชั้นเกลือหินจะขึ้นสู่ ผิวดิน ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำกร่อย ไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้ ประกอบกับในพื้นที่โครงการฯ มีกลุ่มราษฎรบุกรุกเข้าทำประโยชน์และปลูกต้น ยูคาลิปตัส เพื่อหวังเงินค่าชดเชยจากทางราชการ ทำให้ราคาค่าชดเชยทรัพย์สิน ค่าที่ดิน และต้นไม้ มีมูลค่าเป็นเงินจำนวนมาก








โดย : นาย โสภน หงษ์วิจิตร, ripw, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545