โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพ

http://www.rdpb.go.th/thai/important/Projects/pj108.htm

โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธì

1.สรุปพระราชดำÃÔ
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้รูปแบบในการฟื้นฟูเช่นเดียวกับการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมให้ดำเนินการจัดทำ Check dam และการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้ง จัดหาแหล่งน้ำเพื่อ นำน้ำมาเติมใน Check dam และเพื่อการเกษตร นอกจากนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริให้ปลูกพืชอาหารสัตว์ในพื้นที่ป่าลึก เพื่อเป็นแหล่งอาหารของ สัตว์ป่า จะได้ไม่ออกมารบกวนพื้นที่ทำกินของเกษตรกรอีกต่อไป

2.การดำเนินงานสนองพระราชดำริ
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานโครงการในพื้นที่ 18,675 ไร่ ดังนี้
1) แผนงานอำนวยการและแก้ไขปัญหาป้องกันการบุกรุกที่ดินทำกิน
2) แผนงานอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริ
3) แผนงานอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์
4) แผนงานอนุรักษ์สัตว์ป่า


3.ผลการดำเนินงานสนองพระราชดำÃÔ
ผลการดำเนินงานตามแผนงานในปีงบประมาณ 2541 มีผลการดำเนินงานดังนี้
1) แผนงานอำนวยการประสานงานโครงการและแก้ไขปัญหาป้องกันการบุกรุกที่ดินทำกิน ประสานองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อบจ.) ให้ดำเนินการยกเลิกการเช่าที่ดินแก่ราษฎรผู้เช่าแล้ว และราษฎรส่วนใหญ่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีโดยได้ลงนามออกจากพื้นที่ ภายในปี 2541 แต่มีราษฎรจำนวน 5 ราย ได้ขอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในที่ดินอีกครั้ง โดยจะออกจากพื้นที่ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2542 จัดฝึกอบรมอาสาสมัคร พิทักษ์ป่าจำนวน 2 รุ่น รวม 117 ราย เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการและบุคคลทั่วไป โดยเผยแพร่ผ่านทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เอกสาร และสื่อบุคคล ก่อสร้างถนนลูกรังขนาด F6 กว้าง 5 เมตร ยาว 3,000 เมตร และจัดทำป้ายโครงการเสร็จเรียบร้อย

2) แผนงานจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริ จัดทำแผนที่ทางกายภาพระวาง 1: 4000 เพื่อกำหนดขอบเขตของ โครงการให้ชัดเจน และจัดทำ Contour map เพื่อดำเนินการกำหนดรูปแบบ Check dam ในการอนุรักษ์ดินและน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดำเนินการขยายพันธุ์หญ้าแฝกและปลูกหญ้าแฝก 100,000 ต้น และจัดทำฝายเก็บกักน้ำขนาดเล็ก (Check dam) จำนวน 50 แห่ง กระจายตามพื้นที่ สำรวจและออกแบบอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 7 แห่ง และฝายน้ำล้น จำนวน 1 แห่ง เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูรักษาป่า เป็นแหล่งน้ำให้แก่สัตว์ป่า รวมทั้งนำน้ำมาเติมให้แก่ Check dam

3) แผนงานฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ ปลูกป่าในพื้นที่เร่งด่วน 175 ไร่ โดยใช้กล้าไม้ขนาด 1 เมตร พันธุ์ไม้ 30 ชนิด และปลูกป่าในพื้นที่ 1,500 ไร่ โดยใช้กล้าไม้ขนาด 50 ซม. พันธุ์ไม้ 20 ชนิด เสร็จเรียบร้อยแล้ว ดำเนินการควบคุมไฟป่า และฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกัน ไฟป่า จำนวน 2 รุ่น และสำรวจข้อมูลไฟป่าในพื้นที่ 1,876 ไร่

4) แผนงานอนุรักษ์และป้องกันสัตว์ป่า ดำเนินกิจกรรมดังนี้ ปลูกพืชอาหารช้างป่า จำพวก อ้อย กล้วย และไผ่ ในพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ พืชที่ปลูกมีอัตราการรอดประมาณ 60% งานป้องกันคุ้มครองสัตว์ป่า ได้จัดจ้างเจ้าหน้าที่ดูแล พร้อมจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการดูแลรักษาช้างป่า ซึ่งในขณะนี้ไม่พบปัญหาเรื่องผลกระทบระหว่างคนกับช้าง นอกจากนี้ยังพบว่า ช้างได้เพิ่มปริมาณมากขึ้นจาก 107 เชือก เป็น 109 เชือก งานอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้วางแผนสำรวจข้อมูลในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับช้างใน พื้นที่ 15 ลุ่มน้ำ อาทิ โป่ง น้ำ เส้นทางเดินของช้าง ความหลากหลายทาง
ชีวภาพและพืชอาหารช้าง ขณะนี้ได้ดำเนินการสำรวจแล้ว 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ หุบมะกรูด พุบอนและคลองสาน โดยสำรวจใน 2 ด้าน คือ 1. เชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เพื่อขอข้อมูลจากชาวบ้าน 2. เชิงปริมาณ โดยการเก็บสถิติการออกมาหากินของช้างนอกพื้นที่ป่า จากการสำรวจพบว่าช้างมีแนวโน้ม เดินทางออกนอกพื้นที่ป่ามากขึ้น เดิมเมื่อ 3 ปีก่อน ช้างออกมานอกพื้นที่ครั้งละ 2 ชั่วโมง ต่อมาค่อย ๆ เพิ่มเป็น 6 ชั่วโมง และ 12 ชั่วโมงตามลำดับ และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยพบว่าเดิมช้างเคยออกมาบริเวณหุบมะกรูด แต่ในปัจจุบันไม่ออกมาหากินในบริเวณนี้อีก จึงจะต้องมีการสำรวจและ หาเหตุผลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของช้างต่อไป

4. แนวทางดำเนินงานในระยะต่อไป
1) จัดทำแผนแม่บทปี 2542 - 2544 คาดว่าแล้วเสร็จ ในเดือนเมษายน 2542 โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ของโครงการให้ครอบคลุมลุ่มน้ำกุยบุรี 107,703 ไร่ และกำหนดพื้นที่การปฏิบัติงานในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ 18,675 ไร่ โดยมี 2 แผนงาน คือ
1. แผนงานคุ้มครองป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. แผนงานฟื้นฟูบูรณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีองค์ประกอบของคณะทำงาน 3 คณะ คือ
- คณะทำงานด้านการประสานงานโครงการ
- คณะทำงานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
- คณะทำงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ

2) ในเรื่องของแหล่งน้ำกรมชลประทาน จะดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 7 แห่ง ฝายหินก่อ จำนวน 1 แห่ง และกรมการทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ก่อสร้างฝายน้ำล้น จำนวน 1 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่โครงการ

3) กำหนดรูปแบบของ Check dam ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การจัดทำเขื่อนดินเพื่อเก็บกักน้ำตามแนว Contour ในบริเวณพื้นที่ที่มีอ่างเก็บน้ำรองรับน้ำจำนวนน้อย และการจัดทำฝายแม้ว ในบริเวณพื้นที่มีศักยภาพ โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นในการดำเนินการเป็นหลัก

4)สำหรับในบริเวณที่มีศักยภาพเพียงพอสำหรับฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ "ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก"

5) การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จะเข้าร่วมดำเนินการโครงการ โดยการดำเนินงานจะเป็นไปตามแนวพระราชดำริและ กรอบแผนแม่บท รวมทั้งดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่ได้กำหนดไว้ ทั้งในรูปแบบของการดำเนินงานเอง และสนับสนุนงบประมาณ ในบางกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายพื้นที่ 9,972 ไร่ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมายุ 72 พรรษา




โดย : นาย โสภน หงษ์วิจิตร, ripw, วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545