โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา

http://www.rdpb.go.th/thai/important/0029/0029.html

โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์


ชื่อโครงการ โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สถานที่ดำเนินการ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
พระราชดำริ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระราชดำริที่จะพระราชทานป่าไม้ให้
กับปวงชนชาวไทยเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ได้ 50 ปี
ทั้งนี้เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ จึงมีพระราชดำริกับ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมกันดำเนินการปลูกป่าเพื่อพระราชทาน
ให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยให้มีหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมป่าไม้ กรมชลประทาน
และกรมพัฒนาที่ดิน เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย ส่วนการดำเนินงานโครงการนั้นอย่าให้มีผลกระทบ
กับปัญหาที่ดิน ทำกินของชาวบ้าน และในพื้นที่โครงการปลูกป่าให้ปลูกแฝกเสริมไปด้วย
แผนการดำเนินงาน 1) ระยะที่ 1 พ.ศ.2537-2540 : กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ และกรมชลประทานร่วมกัน
ดำเนินการฟื้นฟูสภาพระบบนิเวศดิน น้ำ ป่าไม้ และระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ 4,794 ไร่
เพื่อฟื้นฟูสภาพดินที่เคยเสื่อมโทรมให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม โดยได้รับการ
สนับสนุนงบประมาณจากบริษัท ลิเวอร์บราเธอร์ที่บริจาคให้มูลนิธิชัยพัฒนา ในวงเงิน 20 ล้านบาท
2) ระยะที่ 2 พ.ศ.2540 เป็นต้นไป : ดำเนินการบำรุงดูแลรักษาพื้นที่โครงการ และขยายพื้นที่
การปลูกป่าบริเวณภูเขาโดยรอบพื้นที่โครงการในระยะที่
ผลการดำเนินงาน 1) ปลูกป่าควบคู่ไปกับการปลูกหญ้าแฝก เนื้อที่ 3,200 ไร่ : ดำเนินการฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรม
โดยใช้หญ้าแฝกและพืชบำรุงดิน เพื่อการอนุรักษ์ดินผสมผสานไปกับการจัดระบบปลูกไม้โตเร็ว
เอนกประสงค์ เช่น ประดู่ นนทรี และไม้โตเร็วที่มีคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจน เช่น กระถินณรงค์
สะเดา รวมทั้งพันธุ์ไม้เศรษฐกิจต่างๆ ในพื้นที่โครงการ
2) ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์หญ้าแฝก เนื้อที่ 310 ไร่ : ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ
สายพันธุ์หญ้าแฝก การขยายพันธุ์หญ้าแฝก รวมทั้งการรวบรวมพันธุ์ไม้สมุนไพร และพันธุ์ไม้หายาก
เป็นต้น
3) สวนพฤษศาสตร์ เนื้อที่ 300 ไร่ : ดำเนินการรวบรวมปลูกพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่าต่อการศึกษา
จำแนกไว้เป็นวงศ์ จำนวน 26 วงศ์ 120 ชนิด
4) อ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย เนื้อที่ 1,000 ไร่ : ความจุ 3.7 ล้านลูกบาศก์เมตร สนับสนุนน้ำ
เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่โครงการ รวมทั้งใช้ในกิจกรรมของสถานีเพาะเลี้ยงม้าสภากาชาดไทย
5) บ่อเก็บกักความชุ่มชื้น (บ่อดักตะกอน) : ขนาดความจุ 3,000-5,000 ลูกบาศก์เมตร
จำนวน 23 แห่ง เพื่อเก็บกักตะกอนที่เกิดจากการชะล้างพังทลายของดินและเก็บกักน้ำ
เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่
6) เตรียมกล้าไม้สนับสนุนโครงการ : ดำเนินการสร้างเรือนเพาะชำ เพื่อรวบรวมพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ
สนับสนุนในพื้นที่โครงการ และสถานีเพาะเลี้ยงม้าสภากาชาดไทย



โดย : นาย โสภน หงษ์วิจิตร, ripw, วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545