เภสัชวัตถุ

เภสัชวัตถุ หมายถึง วัตถุธาตุนานาชนิดที่นำมาใช้เป็นยาบำบัดโรค ซึ่งอาจจะจำแนกได้ตามแหล่งที่มาของวัตถุที่นำมาใช้เป็นยานั้นได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆคือ
1. พฤกษวัตถุ ได้แก่ พรรณพฤกษชาตินานาชนิด ทั้งประเภทต้น ประเภทเถาหรือเครือ ประเภทหัว ประเภทผัก ประเภทหญ้า ประเภทพืชพิเศษ (เห็ดและพืชชั้นต่ำอื่นๆ )
2. สัตว์วัตถุ ได้แก่ สัตว์นานาชนิดที่ทั้งตัวหรือเพียงบางส่วน นำมาใช้เป็นเครื่องยา
3. ธาตุวัตถุ ได้แก่ แร่ธาตุต่างๆที่นำมาใช้เป็นเครื่องยา ทั้งที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติหรือที่ประสมขึ้น





โบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า สรรพวัตถุซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ล้วนเกิดแต่ธาตุทั้ง4 ย่อมใช้เป็นยาบำบัดโรคได้ทั้ง
สิ้น แต่จะมีสรรพคุณมากน้อยกว่ากันอย่างไร ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุนั้นๆ แพทย์ผู้ปรุงยาจึงต้องรู้จักตัวยาใน 5 ประการคือ
1. รู้จักรูปยา คือ รู้ว่าเครื่องยาที่ใช้เป็นอะไร เป็นส่วนใดจากพืช เช่น เป็นใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เปลือกไม้ กระพี้ไม้ แก่นไม้ รากไม้ หรือเป็นส่วนใดของตัวสัตว์ เช่น ขน หนัง เขา กระดูก กีบ นอ งา เขี้ยว ฟัน กราม ดี หรือเป็นของทีเกิดแต่ธรรมชาติ เช่น เกลือ มวกผา ศิลายอน
2. รู้จักสียา คือ รู้จักสีของเครื่องยา เช่น รู้ว่าการบูรมีสีขาว รงทองมีสีเหลือง จุนสีมีสีเขียว ฝางเสนมีสีแสดแดงหรือสีแดงแสด ยาดำมีสีดำ เป็นต้น



3. รู้จักกลิ่นยา คือ รู้จักกลิ่นของเครื่องยา เช่น พิมเสน อำพันทอง ชะมดเชียง กฤษณา กระลำพัก ชะลูด อบเชย ขอนดอก เป็นของหอม ยาดำ มหาหิงคุ์ เป็นของเหม็น
4. รู้จักรสยา คือ รู้จักรสของเครื่องยา เช่น กำมะถันเหลืองรสจืด เบญกานรสฝาด ชะเอมรสหวาน เมล็ดสะบ้ารสเบื่อเมา บอระเพ็ดรสขม พริกไทยรสเผ็ดร้อน เมล็ดงารสมัน ดอกมะลิรสหอมเย็น เกลือรสเค็ม มะขามเปียกรสเปรี้ยว
5. รู้จักชื่อยา คือ รู้จักชื่อของเครื่องยา รู้ว่าชื่ออย่างนั้นอย่างนี้คืออะไร มีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นอย่างไร จึงจะจัดว่ารู้จักชื่อยา
แพทย์ปรุงยาที่รู้จักเภสัชวัตถุในรายละเอียดทั้ง 5 ประการนี้ จึงจะสามารถนำเอาเครื่องยาที่ถูกต้องที่ระบุไว้ในตำรับยามาปรุงเป็นยาที่สามารถแก้โรคที่ต้องการได้

เอื้อเฟื้อข้อมูล นิตยสารชีวจิต ฉบับ วันที่ 1 มีนาคม 2544



โดย : นางสาว จิตสุภา เมืองแมน, โรงเรียนภูเก้ตวิทยาลัย, วันที่ 15 พฤศจิกายน 2544