อีคอมเมิร์ซ ดาวรุ่งหรือดาวร่วง

บทความไอที
อีคอมเมิร์ซ ดาวรุ่งหรือดาวร่วง มีคนพูดอยู่เสมอว่า ตัวเลขโดยเฉพาะข้อมูลทางสถิติมักจะบอกถึงข้อเท็จจริงหรือแนวทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ต้องเป็นการเก็บข้อมูลสถิติที่มีหลักทางวิชาการจริงๆ

ประเด็นหลังนี้แหละที่ถกเถียงกันตลอดในระหว่างนักวิชาการ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ โพลการเมืองที่จัดอันดับคะแนนนักการเมืองยอดนิยม ใครที่ได้รับคะแนนนิยมน้อยมักจะออกมาแก้ตัวต่างๆ นานา และข้อหนึ่งในการแก้ตัว ก็หนีไม่พ้นเรื่องการต่อว่าโพลที่จัดทำไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการในโลกดิจิตอล

ข้อมูลสถิติที่เถียงกันมากที่สุด หนีไม่พ้นการจัดลำดับเว็บไซต์ยอดนิยม หรือข้อมูลสถิติอีคอมเมิร์ซของสำนักวิจัยต่างๆ ที่มีการถกเถียงกันเป็นประจำ อย่างเช่น การจัดลำดับเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมมากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องเป็นราวระหว่างเว็บไซต์ของยาฮู (Yahoo) กับเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ (Microsoft) เป็นต้น

ข้อมูลสถิติที่น่าสนใจที่สุด คือ ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยที่นักช็อปปิ้งออนไลน์ใช้จ่ายเงินในการซื้อของหรือบริการต่างๆ ทางเว็บไซต์ และสัดส่วนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดเทียบกันกับจำนวนที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหันมาซื้อของออนไลน์ โดยทั้งหมดเป็นการเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 1999, ปี 2000, ปี 2001 และประมาณการปี 2002 ที่กำลังจะเกิดขึ้น

จากตัวเลขสถิติย้อนหลังและประมาณการ เห็นได้ชัดว่า ยอดการใช้จ่ายเงินออนไลน์หรือผู้ที่หันมาช็อปปิ้งออนไลน์ โดยเฉพาะการประมาณการจากปี 2001 ไปเป็นปี 2002 ที่ถือว่ามีการเจริญเติบโต แต่เป็นระดับปรกติอยู่ในระดับ 20%-25% ไม่ใช่เป็นเท่าเหมือนช่วงยุคอีคอมเมิร์ซหรือด็อทคอมบูม หรือช่วงปี 1999-2000 ที่ตัวเลขจะมีอัตราการเพิ่มมากกว่าช่วงปี 2001 และ 2002 เรียกว่า ลูกบูมของอีคอมเมิร์ซในอเมริกาได้ผ่านไปแล้ว แต่แนวโน้มการเจริญเติบโตก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ไม่หวือหวาเร้าใจนักลงทุนในตลาดหุ้นแนสแด็กเท่านั้น

บทความโดย ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน

kanokwan@ksc.net



13 ก.พ. 2545
แหล่งที่มาของข่าว : ผู้จัดการ


เข้าถึงได้จาก : http://www.thaitelecom.com/News/Techfocus/Techfocus-Generate.pl?2545/02/13-07-02-0001



โดย : นางสาว Laddaporn ngamthura, klonglong, วันที่ 4 มีนาคม 2545