อีคิวคืออะไร



อีคิว หรือ E.Q. มาจากคำว่า Emotional Quotient หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์
ความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถทางอารมณ์ที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปไปอย่างสร้างสรรค์และมีความสุขการดำเนินชีวิตเป็น
อีคิวถือเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงการศึกษาและจิตวิทยาเพราะเพิ่งได้รับความสนใจและยอมรับในความสำคัญอย่างจริงจังเมื่อ 10 กว่าปีมานี้ เดิมเคยเชื่อกันว่า ความสามารถทางเชาวน์ปัญญาหรือไอคิว คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ ประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีและมีความสุข
ในปี ค.ศ. 1990 ชาโลเวย์และเมเยอร์สองนักจิตวิทยาได้กล่าวถึงความฉลาดทางอารมณ์ เป็นครั้งแรกว่า “เป็นรูปแบบหนึ่งของความฉลาดทางสังคมที่ประกอบด้วยความสามารถในการรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น สามารถแยกความแตกต่างของอารมณ์ที่เกิดขึ้นและใช้ข้อมูลนี้เป็นเครื่องชี้นำในการคิดและกระทำสิ่งต่าง ๆ”
จากนั้น แดเนียล โกล์แมน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวารด์ ได้ให้ความหมายของ
อีคิว ว่า “เป็นความสามารถหลายด้าน ได้แก่ การเร่งเร้าตนเองไปสู่เป้าหมายมีความสามารถควบคุมความขัดแย้งของตนเอง รอคอยเพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถจัดการกับอารมณ์ไม่สบายต่าง ๆ มีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง”



กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาแนวคิดเรื่อง ความฉลาดทางอารมณ์ ที่ประกอบด้วย ปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ 1. ความดี 2. ความเก่ง 3. ความสุข
ดี หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง รู้จักเห็นใจผู้อื่น และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง
- รู้อารมณ์และความต้องการของตนเอง
- ควบคุมอารมณ์และความต้องการได้
- แสดงออกอย่างเหมาะสม
ความสามารถในการเห็นใจผู้อื่น
- ใส่ใจผู้อื่น
- เข้าใจและยอมรับผู้อื่น
- แสดงความเห็นใจอย่างเหมาะสม
ความสามารถในการรับผิดชอบ
- รู้จักการให้ รู้จักการรับ
- รู้จักรับผิดชอบ รู้จักให้อภัย
- เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
เก่ง หมายถึง ความสามารถในการรู้จักตนเอง มีแรงจูงใจ สามารถตัดสินใจ แก้ปัญหาและแสดงออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
ความสามารถในการรู้จักและสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง
- รู้ศักยภาพของตนเอง
- สร้างขวัญและกำลังใจให้ตนเองได้
- มีความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย
ความสามารถในการตัดสินใจและแก้ปัญหา
- รับรู้และเข้าใจปัญหา
- มีขั้นตอนในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
- มีความยืดหยุ่น
ความสามารถในการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น
- รู้จักการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
- กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม
- แสดงความเห็นที่ขัดแย้งได้อย่างเหมาะสม
สุข หมายถึง ความสามารถในการดำเนินชีวิต มีความภูมิใจในตนเอง พอใจในชีวิตและมีความสุขสงบทางใจ
ความภูมิใจในตนเอง
- เห็นคุณค่าของตนเอง
- เชื่อมั่นในตนเอง
ความพึงพอใจในชีวิต
- รู้จักมองโลกในแง่ดี
- มีอารมณ์ขัน
- พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่
ความสงบทางใจ
- มีกิจกรรมที่เสริมสร้างความสุข
- รู้จักผ่อนคลาย
- มีความสงบทางจิตใจ
ความฉลาดทางอารมณ์ = เข้าใจตนเอง + เข้าใจผู้อื่น + แก้ไขความขัดแย้งได้
เข้าใจตนเอง  เข้าใจ ความรู้สึก และความต้องการในชีวิตของตนเอง
เข้าใจผู้อื่น  เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น และสามารถแสดงออกมาได้
อย่างเหมาะสม
แก้ไขความขัดแย้งได้ เมื่อมีปัญหาสามารถแก้ไขจัดการให้ผ่านพ้นไปได้อย่างเหมาะสมทั้งปัญหาความเครียดในใจ หรือปัญหาที่เกิดจากการขัดแย้งกับผู้อื่น
…………………………………
สรุปจากคู่มือความฉลาดทางอารมณ์ ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
โดย ศิริรัตน์ ศิลอาภรณ์







โดย : นาง ศิริรัตน์ ศิลอาภรณ์, รร.สุวรรณารามวิทยาคม ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 23130, วันที่ 17 มีนาคม 2545