น้ำเพื่อสุขภาพ



มาดื่มน้ำเพื่อสุขภาพที่ดีกันเถอะ

ร่างกายของคนเรา ต้องดูแลรักษาทำความสะอาดอยู่เสมอ เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไม้สอย รถยนต์ ฯลฯ เพื่อให้อยู่ในสภาพที่ดี สามารถใช้งานไปได้นาน ๆ การอาบน้ำ เป็นการทำความสะอาดร่างกายภายนอกการดื่มน้ำที่ถูกหลัก ก็คือ การทำความสะอาดชำระล้างอวัยวะภายในของร่างกายในส่วนประกอบทั้งหมดของร่างกาย มีส่วนที่เป็นของเหลวถึง 3 ใน 4 ส่วน หรือคิดเป็น 85% ของน้ำหนักในตัวคน น้ำอยู่ในทุกส่วนของร่างกาย ได้แก่ โลหิต ในกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืด แม้นในส่วนที่เป็นของแข็ง เช่น กระดูก เล็บ ฟัน เส้นผม น้ำยังรวมอยู่ในของเสียที่ร่างกายขับถ่ายออกมา เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อ น้ำมูก น้ำลาย นั่นก็คือ ร่างกายมนุษย์ มีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญแม้นแต่ในส่วนที่เล็กที่สุด ชีวิตของคนเรา อาจขาดอาหารได้นานนับเดือน แต่จะขาดน้ำได้เพียง 3 – 7 วันเท่านั้น ฉะนั้นน้ำจึงมีความสำคัญยิ่งต่อร่าง กายและการดำรงชีวิตอยู่มนุษย์รวมถึงสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง ร่างกายของคนปกติธรรมดา ต้องการน้ำในชีวิตประจำวันประมาณ 10 แก้ว ใน 1 วัน ( ประมาณ 4,000 ซี.ซี. หรือ 4 ลิตร เป็นอย่างน้อย ) ส่วนผู้ที่ต้องสูญเสียน้ำในร่างกายมากในวันหนึ่ง ๆ เช่น นักกีฬา ผู้ที่ทำงานกลางแดด กรรมกรงานหนัก ต้องเสียเหงื่อจำนวนมาก ย่อมต้องการน้ำมากกว่าคนธรรมดา
ผู้คนเป็นจำนวนมากไม่เห็นความสำคัญของการดื่มน้ำมักดื่มน้ำในเวลาที่คอแห้งและกระหายน้ำมาก ๆ เท่านั้น บางท่านดื่มน้ำอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพมาก
การดื่มน้ำไม่เพียงพอ เกิดผลเสียต่อร่างกายดังนี้ โลหิตข้น การไหลเวียนของโลหิตลำบาก หัวใจต้องทำงานหนักในการสูบฉีด ทำให้เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เมื่อยล้า หัวใจเต้นไม่ปกติ บางครั้งหน้ามืด เพราะโลหิตสูบฉีดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ลมหายใจร้อน ไม่สดชื่น นัยน์ตาแห้งขาดน้ำหล่อเลี้ยง ใบหน้าร้อนผ่าว มักเกิดอาการร้อนในบ่อย ๆ เยื่อบุผนังภายในปากอักเสบ น้ำลายมีรสเปรี้ยว มีกลิ่นแรง เจ็บลิ้น ลิ้นเป็นฝ้าสีเหลืองหนา ริมฝีปากแห้งแตก ผิวหนังหยาบไม่ชุ่มชื่นสดใส การขับถ่ายของเสียไม่สะดวก เช่น ท้องผูก ถ่ายลำบาก ปัสสาวะติดขัด มีสีเหลืองเข้ม เป็นเหตุให้ไตพิการ ไตวาย เกิดนิ่งในกระเพาะปัสสาวะอุณหภูมิร่างกายสูง เหงื่อน้อย ตัวเหนียว มีกลิ่นตัวแรง
อาการดังกล่าว บ่งบอกถึงการที่ร้างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ ผลดีจาการดื่มน้ำที่เพียงพอและถูกหลัก โลหิตเหลวไม่ข้น การไหลเวียนเป็นไปได้ง่าย สูบฉีดดี หัวใจไม่ทำงานหนัก ไม่เมื่อยล้า ไม่เหนื่อยง่าย หัวใจปรกติมีประสิทธิภาพดีแข็งแรง ลมหายใจสดชื่น หายใจโล่งเย็น นัยน์ตาสดใสเป็นประกายมีน้ำหล่อเลี้ยงแวววาวตลอด ไม่มีเส้นเลือดแดงกล่ำ ไม่แสบตา ไม่ร้อนใน ปากและลิ้นสะอาด ผิวกายใบหน้าชุ่มชื่น เต่งตึง เป็นสีชมพูของเลือดดี การขับถ่ายของเสียสะดวก ไม่ท้องผูก ปัสสาวะใส สะอาด ไม่ปวดหลังและบั้นเอว สุขภาพไตดี น้ำจะช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกายให้ปรกติ รูขุมขนมีเหงื่อชุ่มเย็นเสมอ ลักษณะดังกล่าว เป็นผลดีที่เกิดจาการดื่มน้ำให้เพียงพอและถูกต้อง
…………………..
การดื่มน้ำให้ถูกต้องเพื่อสุขภาพที่ดี
มีหลักปฏิบัติที่จดจำง่าย ๆ ดังนี้
1. น้ำดื่ม เป็นน้ำธรรมดา ไม่เป็นน้ำที่ร้อนมากหรือที่เย็นจัด ถ้าเป็นน้ำอุ่น ๆ เล็กน้อย ดื่มในตอนเช้าจะทำให้การขับถ่ายดีขึ้น ลำไส้สะอาด
2. ระยะเวลาที่ดื่มน้ำ ในวันหนึ่ง ( อาจเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยตามความสะดวก )
ตื่นนอนตอนเช้า ดื่มน้ำ 1 แก้ว ( แก้วบรรจุ 400 :ซี.ซี.)
ตอนสาย ดื่มน้ำ 2 แก้ว (เวลาประมาณ 9.00 – 10.00 น.)
ตอนบ่าย ดื่มน้ำ 3 แก้ว (เวลาประมาณ13.00 – 14.00 น.)
ตอนเย็น ดื่มน้ำ 3 แก้ว (เวลาประมาณ 19.00 – 20.00 น.)
ก่อนเข้านอน ดื่มน้ำ 1 แก้ว เพื่อให้น้ำที่ดื่มไหลเวียนชะล้างสิ่งตกค้างในลำไส้แลกระเพาะอาหาร ถ้าเป็นน้ำอุ่นจะช่วยให้หลับสบายดีขึ้น รวมแล้วให้สามารถดื่มเปล่าได้วันละ 10 แก้ว นอกเหนือจากนั้น ท่านสามารถดื่มน้ำผลไม้ น้ำนม ฯลฯ ได้อีกไม่จำกัด
3. ข้อควรจำ
3.1 ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำครั้งละ 2 – 3 แก้วติดต่อกันทันที ดื่มตามปรกติสบาย ๆ ผู้ที่ดื่มครั้งแรก ๆ จะรู้สึกคลื่นไส้นิดหน่อย เป็นอาการปรกติธรรมดา ทั้งนี้เพราะผนังลำไส้และกระเพาะอาหารขยายตัวขึ้น ต่อไปจะไม่มีอาการอีก สามารถดื่มได้ง่ายและเกิดความชื่นชอบ รู้สึกสดชื่นสบายที่ได้ดื่มน้ำมาก ๆ
3.2 เมื่อดื่มน้ำไปสักครู่หนึ่งจะปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะครั้งแรก ๆ จะมีสีเหลืองขุ่น กลิ่นฉุน เนื่องจากน้ำที่ดื่มไปชะล้างไตให้สะอาด ไตเป็นเสมือนเครื่องกรองน้ำของร่างกาย
3.3 อย่าดื่มน้ำมากก่อนที่จะรับประทานอาหาร ( ควรงดดื่มน้ำมากสักครึ่งชั่วโมงก่อนรับประทานอาหาร ) และหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ ก็ไม่ควรดื่มน้ำมาก ๆ ทันที
3.4 การรับประทานอาหารพร้อมกับดื่มน้ำตลอดเวลาเป็นนิสัยที่ควรหลีกเลี่ยง หากรู้สึกฝืดคอในระหว่างรับประทานอาหาร ให้ซดน้ำซุบแกงจืดแทน การดื่มน้ำมากในระหว่างรับประทานอาหารทั้งก่อนหน้าและหลังอาหารทันทีจะทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารเจือจาง การย่อยเป็นไปได้ไม่ดี
3.5 ไม่ควรรับประทานอาหารในแต่ละมือจนอิ่มแน่นท้องเกินไป ควรให้อิ่มพอดีแล้วรับประทานผลไม้สดจะทำให้สะอาดคอ แล้วจิบน้ำตามนิดหน่อยท่านจะรู้สึกสบายท้อง หลังจากนั้นสักครึ่งชั่วโมงจึงดื่มน้ำตามปรกติ หากท่านได้ดื่มน้ำถูหลักเช่นนี้เป็นประจำ จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพอนามัยดี ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่าแข็งแรงสามารถที่จะประกอบภาระกิจการงานได้ดียิ่งๆ ขึ้นไปไป

นางพิกุล เทพพิพิธ โรงเรียนนารีนุกูล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี





โดย : นาง พิกุล เทพพิพิธ, โรงเรียนนารีนุกูล, วันที่ 29 มีนาคม 2545