7 วายร้ายบนโต๊ะอาหารของคุณ


ข้อมูลจาก "โฮย่า" นิตยสารชีวจิต
คุณพ่อบ้านคุณแม่บ้านฟังทางนี้ก่อนค่ะ ก็เรื่องอาหารการกินของเรานี่แหละ
เหตุการณ์เปิดโปงอาหารอันตรายนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2544 กลุ่มกรีนพีชได้ออกมาแถลงการณ์ถึงอาหารที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอ 7 ชนิด จากทั้งหมดที่ส่งไปตรวจ 30 ชนิด โดยอาหารทั้งหมดนี้เป็นอาหารที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตในเมืองไทยนี่เอง
ก่อนหน้านี้ กรีนพีชมอบหมายให้บริษัท ฮ่องกง ดีเอ็นเอ ชิปส์ จำกัด (Hong Kong DNA Chips Limited) ซึ่งเป็นห้องวิจัยอาหารอิสระ ที่ประเทศฮ่องกงตรวจสอบอาหาร 30 ชนิด ซึ่งนิยมบริโภคโดยทั่วไป และมีขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าของประเทศไทย โดยใช้มาตรฐานการทดสอบพีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction) เพื่อตรวจสอบการเรียงตัวของยีนที่ปรากฏอยู่ในเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมสองชนิดที่ปลูกกันอย่างแพร่หลาย นั่นก็คือเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองและข้าวโพดราวด์อัพเรดดี้ ที่บริษัท มอนซานโต จำกัด ทำการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ทนทานต่อยากำจัดวัชพืช "ราวด์อัพ" หรือ "ไกลโฟเซท" ของบริษัทมอนซานโตเอง กับเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดบีที ที่บริษัท โนวาร์ติส จำกัด ทำการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อสร้างพิษทำลายแมลงศัตรูพืช
ตอนนี้คงอยากรู้กันแล้วใช่ไหมล่ะว่าเจ้าอาหารอันตรายที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอทั้งเจ็ดชนิดที่กรีนพีชรายงานมีอะไรบ้าง
1. ซีรีแล็ค อาหารเสริมสำหรับเด็ก Nestle baby food (baby celerac)
2. เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปกู๊ดไทม์ Good time instant cereal beverage
3. ครีมซุปสำเร็จรูปคนอร์ Knorr cup soup (instant cream of corn soup)
4. บะหมี่ถ้วยชนิดชินคัพนู้ดเดิ้ล Nissin cup noodles
5. มันฝรั่งกรอบรสดั้งเดิม เลย์ สแต็กซ์ Lay stax (potato crisp orginal flavour)
6. มันฝรั่งกรอบพริ้งเกิ้ล สแน็ค Pringles Snack
7. เต้าหู้อนามัย ตรานางพยาบาล High class VITA-TOFU soy bean curd


เท่านี้ยังไม่พอ เพราะเรื่องที่น่าเจ็บใจมากที่สุดสำหรับคนไทย กลับเป็นสิ่งที่กรีนพีชตรวจสอบพบว่า บริษัทผลิตอาหารต่างชาติที่ดำเนินการในประเทศไทย ไม่เคารพ และเอาใจใส่ต่อมาตรฐานที่ปฏิบัติต่อคนไทย กล่าวคือ บริษัทเนสท์เล่และยูนิลีเวอร์ในยุโรป "เห็นพ้องว่าผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรับรู้ ทั้งสองบริษัทจึงกระตือรือร้นอย่างจริงจัง ในการติดฉลากพืชดัดแปลงพันธุกรรม และยิ่งไปกว่านั้น ได้เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมในสินค้าของตน"
แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทเหล่านี้นี่เองกลับบังคับให้ประชาชนชาวไทยบริโภคอาหารดัดแปลงพันธุกรรม โดยไม่มีฉลากบอกเลยแม้แต่น้อย บริษัทยูนิลีเวอร์ เนสท์เล่ นิชชิน เป๊ปซี่โค และพร็อคเตอร์แอนด์แกมเบิล ล้วนแต่เป็นตัวอย่างของบริษัทที่มีสองมาตรฐาน โดยปฏิบัติต่อชาวยุโรปหรือชาวญี่ปุ่นด้วยมาตรฐานอย่างหนึ่ง (ที่ดีกว่าชาวไทย) และกลับปฏิบัติต่อผู้บริโภคชาวไทยด้วยมาตรฐานอีกอย่างหนึ่ง (ที่แย่กว่า) แล้วสาเหตุที่ทำให้เป็นอย่างนี้ก็มาจากเหตุผลที่ว่า รัฐบาลไทยไม่มีกฏหมายออกมาดูแลเรื่องนี้ รวมทั้งประชาชนชาวไทยยังไม่ตื่นตัวและสร้างพลังเรียกร้องนั่นเอง
ถึงแม้ว่าตอนนี้อันตรายจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมจะยังไม่ออกมาแน่ชัด แต่คุณ ๆ คิดจะเอาชีวิตของตัวคุณเองกับลูกหลานไป "เสี่ยง" กับมันหรือ
ลองฟังตัวอย่างง่าย ๆ ของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับคุณ จากการกินอาหารดัดแปลงพันธุกรรมกันดีกว่า
เริ่มจากผลิตผลของโปรตีนพิษและภูมิแพ้ที่ไม่ได้แปลงพันธุกรรม โดยการสอดใส่ยีนแปลกปลอมเข้าไปนั้น สามารถกระตุ้นให้มีการสร้างโปรตีนที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ จึงอาจทำให้ผู้ที่บริโภคเข้าไปเกิดอาการเป็นพิษและอาการแพ้ได้ หรืออาจมีผลกระทบข้างเคียงต่อสภาพแวดล้อมได้อีกเช่นกัน
นอกจากนั้นผลเสียของมันยังรวมไปถึงเรื่องของการต้านทานสารปฏิชีวนะ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ใส่ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะ หรือ "มาร์กเกอร์ยีน" เข้าไป เพื่อตรวจสอบว่ากระบวนการดัดแปลงพันธุกรรมประสบความสำเร็จหรือไม่ ถึงแม้จะเป็นเพียงมาร์กเกอร์ยีนก็ตาม แต่ว่ายีนตัวนี้ก็มีในพืชดัดแปลงพันธุกรรมแล้ว และแพทย์ทั่วโลกเตือนว่ายาปฏิชีวนะบางชนิด อาจไม่สามารถใช้รักษามนุษย์และสัตว์ได้อีกต่อไป เนื่องจากมีการใช้สารต้านทานยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลาย ดังนั้นสหภาพยุโรปและสมาคมแพทย์ทั่วโลก จึงได้เรียกร้องให้เลิกใช้มาร์กเกอร์ที่เป็นอันตรายนี้เสีย
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยของเรา ผู้บริโภคชาวไทยไม่มีโอกาสรู้เลยว่าอาหารที่พวกตนบริโภคอยู่นั้น เป็นอาหารดัดแปลงพันธุกรรมหรือไม่ แต่ผู้บริโภคในประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย มีกฏบังคับการติดฉลากผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมดัดแปลงพันธุกรรม รัฐบาลของสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน รัสเซีย โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และซาอุดีอาระเบีย บังคับใช้กฏหมายการติดฉลากผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรม ส่วนรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ เช่น เม็กซิโก บราซิล ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง อิสราเอล ก็แสดงให้เห็นว่า ตั้งใจที่จะพัฒนาข้อบังคับการติดฉลาก ส่วนรัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะเริ่มการติดฉลาก หากทว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีแผนการที่แน่ชัดเกิดขึ้นแต่อย่างใด
ในขณะนี้ผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนจีเอ็มโอทั้งเจ็ดชนิด ยังถือได้ว่าเป็นแค่เพียงการทดสอบอาหารดัดแปลงพันธุกรรมชุดแรกในประเทศไทยของกรีนพีชเท่านั้น ในอนาคตจะดำเนินการตรวจสอบสินค้าของกลุ่มบริษัทดังกล่าวและบริษัทอื่น ๆ ต่อไป
ในปัจจุบันเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนกที่พบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทยมีการปนเปื้อนจีเอ็มโอ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่สามารถทราบผลดีผลเสียในระยะยาวของอาหารจีเอ็มโอว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างกับมนุษย์เรา และในประเทศไทยเองยังไม่มีกฏหมายที่ชัดเจนในการห้ามนำเข้าสินค้าจีเอ็มโอ พร้อมทั้งยังไม่มีมาตรการในการติดฉลากให้ผู้บริโภคเลือก เพราะฉะนั้นการที่มีสินค้าจีเอ็มโอในประเทศไทยจึงไม่ต่างจากการใช้ผู้บริโภคไทยเป็นหนูทดลอง โดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคในอนาคต
ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดของการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้จนเกิดผลกระทบคือ เมื่อปี พ.ศ. 2474 บริษัทดูปองต์เริ่มผลิตสารซีเอฟซี (CFCs) ซึ่งในครั้งนั้นมนุษย์เราไม่เชื่อเลยว่า สารซีเอฟซีจะเป็นอันตราย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2518 เราจึงเริ่มตระหนักว่าสารซีเอฟซีมีแนวโน้มที่จะทำลายชั้นบรรยากาศ และยังต้องใช้เวลาอีกถึงสิบปี กว่าที่จะมีการยอมรับในหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า สารซีเอฟซีนี้เป็นอันตรายจริง ๆ
แล้วเราซึ่งเป็นคนไทยตาดำ ๆ จะทำอย่างไรกันดี ที่แน่ ๆ ในขั้นตอนแรกอยากจะแนะนำให้พวกเราชาวไทยได้รับรู้ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการบริโภคของเราก่อน
ประการแรก สิทธิในการได้รับความปลอดภัย เนื่องจากเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมเป็นเทคโนโลยีที่แปลกใหม่และไม่ถูกต้อง ในขั้นตอนนี้ยังนับว่าเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าอันตรายทั้งหมดมีอะไรบ้าง
ในกรณีของการดัดแปลงพันธุกรรมนี้ เราคงต้องเป็นคนให้คำตอบตัวเองแล้วว่าจะเอาชีวิตไปเสี่ยงหรือเปล่า







โดย : นาง พรรณี ชุติวัฒนธาดา, โรงเรียนศรีพฤฒา, วันที่ 1 เมษายน 2545