โรคปวดหลังเรื้อรัง


หมอ ว.366 แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


โดยปกติกล้ามเนื้อของคนเรามีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือช่วยดำรงสภาวะของร่างกายให้อยู่ในท่านิ่ง ๆ ต่าง ๆ เช่น นอน นั่ง ยืน เป็นต้น กล้ามเนื้อ ทำงานโดยการหดตัวและคลายตัวเป็นไปตามคำสั่งจากเบื้องบนคือสมอง แต่การหดตัวของ กล้ามเนื้อยังตกอยู่ใต้อิทธิพลของการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของสมอง ตัวการสำคัญที่กระตุ้น การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ความเครียดไม่ว่าจะเครียดจากกายหรือเครียดจากจิตใจอันหนึ่งที่เกิดขึ้นคือมีการหดเกร็งของ กล้ามเนื้อนานหรือมากผิดปกติ
ตัวอย่างความเครียดจากร่างกายเช่นทำงานหนักเกินไป ทำงานนานเกินไป พักผ่อนไม่พอ ตัวอย่างความเครียดจากจิตใจ เช่น หงุดหงิด หดหู่ วิตกกังวลจากปัญหารอบตัว หรือบางคนอาจจะไม่ได้มีปัญหารอบตัวแต่เป็นคนมีบุคลิกนิสัยที่ชอบจะวิตกกังวลอยู่เสมอ เหล่านี้ล้วน ทำให้กล้ามเนื้อปวดและล้าง่าย
เราลองมานึกดูว่าพวกนักฟังการอภิปรายในสภา เวลาดูการถ่ายทอดทาง T.V. จะอยู่ในท่าไหนได้บ้าง ก็มีไม่กี่ท่า เช่น ท่านอน ท่านั่ง ท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน ยืนดูก็อาจจะมี แต่ท่าดังกล่าวนี้ ถ้าทำไม่ถูกสุขลักษณ์ เช่น นอนราบบนเตียง Spring ที่สบายในระยะแรก ๆ นอนใช้ หมอนยกสูง นั่งบนโซกาเบานุ่มยวบ หรือกึ่งนั่งกึ่งนอนบนเก้าอี้โยก เก้าอี้หวายเหล่านี้ เป็นการทำกล้ามเนื้อที่รองรับท่าต่าง ๆ โดยเฉพาะ กล้ามเนื้อสันหลังที่รองรับท่าต่าง ๆ หดเกร็งผิดปกติ
อาจจะมีบางคนสงสัยว่า ทำไมจึงเกิดกับคนบางคนเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่นอนฟังหรือนั่งฟังเท่า ๆ กัน แต่อาการไม่เท่ากัน ปัจจัยที่ทำให้ กล้ามเนื้อหดเกร็งผิดปกติมากน้อยต่างกันมีหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือความแตกต่างของพื้นฐานทางกายจิตใจ และสังคมสิ่งแวดล้อม ในแต่ละคน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ๆ ของทางกาย เช่น คนเตี้ย ขาสั้น ถึงแม้จะใช้เก้าอี้ถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานแต่เก้าอี้นั้นไม่ได้สัดส่วนกับ ร่างกายของตัวเอง กล้ามเนื้อบางส่วนต้องช่วยหดเกร็งมากกว่าปกติ เพื่อปรับท่าให้สมดุล นานเข้าก็เกิดอาการปวดจากการเกร็งและ หดยึด
ความแตกต่างอันที่สองคือพื้นฐานทางด้านจิตใจที่สำคัญคือ บุคลิกนิสัยเดิมในแต่ละคน เช่น คนที่มีนิสัยทำอะไรรวดเร็วเป็นคนค่อนข้าง จริงจังเสมอ หงุดหงิดง่ายหรือมีความรับผิดชอบสูง เป็นต้น พวกนี้เป็นกลุ่มของคนฉลาดและมีประสิทธิภาพ ถ้าช่วงไหนมีเรื่องให้คิด ให้ทำมากหน่อย กล้ามเนื้อมีแนวโน้มจะหดเกร็งผิดปกติ จนกว่าภารกิจจะเสร็จสิ้น ในบางคนแม้กระทั่งการหายใจก็ยังเบาและตื้น ๆ คล้าย ๆ ทำงานจนไม่มีเวลาหายใจ การนั่งฟังการอภิปรายอย่างสนใจชนิดใจจดใจจ่ออยู่นาน ๆ จะมีโอกาสเป็นโรคปวดกล้ามเนื้อ ได้ง่าย อาจจะไม่เป็นในทุกคนที่มีบุคลิกอย่างนี้ แต่แนวโน้มจะมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ
อีกปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะของจิตใจเป็นความเครียดที่มาจากปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความวิตกกังวล มีความหดหู่ ท้อแท้ เซ็ง หมดหวัง (คล้ายคนไทยยุคนี้)
พวกที่มีอาการแบบนี้ มีแนวโน้มอยู่เฉย ๆ ไม่ค่อยขยับตัว ไม่กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อหดยึดทำให้ปวดได้ง่ายความเครียดทางจิตใจ จะไปกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ และส่งผลกระทบไปที่กล้ามเนื้อให้หดเกร็งอย่างผิดปกติ คนเหล่านี้แม้จะมีบุคลิกเดิมเป็นคนใจเย็น ไม่ค่อยวิตกกังวล เป็นต้น แต่ในภาวะที่จิตใจต้องเผชิญกับปัญหาของครอบครัวหรือปัญหาจากสังคมสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ความเครียดก็จะ กระทบต่อกล้ามเนื้อได้เช่นกัน
มีรายงานจากวารสารการแพทยในต่างประเทศอยู่หลาย ๆ แห่ง ซึ่งตรงกันว่าปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เป็นโรคปวดหลังเรื้อรัง (หมายถึง ระยะที่ไม่นานกว่า 3 เดือน) ที่สำคัญที่สุดคือปัญหาจากเรื่องงาน งานในที่นี้รวมถึงปัญหากับนายจ้าง เพื่อนร่วมงาน งานหนัก ประสิทธิผลของงาน งานที่ต้องแข่งขันรุนแรง และที่ร้ายที่สุดคือความล้มเหลวของงานองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวกับโรคปวดที่ใหญ่ที่สุด ในโลก คือ IASP (International Association for the Study of Pain) ได้จัดสัมมนาบรรดาผู้เชี่ยวชาญโรคปวดหลังระดับโลก ในเรื่องโรคปวดหลังโดยเฉพาะ แล้วสรุปว่า
ความสำคัญของโรคปวดหลังจะวัดจากสมรรถภาพในการทำงานเป็นหลัก หมายถึงว่าเป็นโรคปวดหลังเรื้อรังจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด ก็ตาม จะวัดดูที่สมรรถภาพในการทำงานได้แค่ไหนการรักษาจะเน้นไปที่การทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น
วารสารแพทย์ในอังกฤษรายงาน เมื่อ ค.ศ. 1991 ว่าโรคปวดหลังเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้ต้องหยุดหรือลางานโดยโค่นแชมป์เก่า อย่างโรคไข้หวัดให้ตกไปอยู่อันดับสอง
ทั้ง ๆ ที่สาเหตุสำคัญของโรคปวดหลังเรื้อรัง มีความสัมพันธ์กับปัจจัยทั้งสาม กาย ใจ และสังคมสิ่งแวดล้อม มากถึง 85-90% แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงหลงโทษหรือมีความเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครงสร้างในสันหลัง โดยเฉพาะเชื่อ จากการตรวจพิเศษโดยจาก Computer หรือตรวจด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าบ้าง หรือแม้กระทั่งจากการ X-ray กระดูกสันหลังแล้วพบความ ผิดปกติ เช่น หมอนกระดูกสันหลังโป่งเคลื่อนเล็กน้อย หรือกระดูกเสื่อม แต่โดยสถิติแล้วความผิดปกติเหล่านี้ไม่ใช่ตัวการสำคัญของ อาการปวดหลัง ความจริงแล้วโรคปวดหลังเรื้อรังมีโอกาสเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างสันหลัง เช่น หมอนกระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังเสื่อมเพียง 10-15% เท่านั้น
ปัจจัยที่ว่า Biopsychosocial (กาย ใจ สังคมสิ่งแวดล้อม) มีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งและต่างก็สามารถเสริมหรือกระตุ้นให้มีผลดีขึ้น หรือเลวลงตามกันได้ เช่น ถ้างานออกมาได้ผลดี จิตใจก็เครียดน้อยลง กล้ามเนื้อก็ผ่อนคลายลง อาการปวดก็ทุเลาขึ้น
การกินยา การทำกายภาพบำบัด หรือออกกำลังกายสามารถช่วยทุเลาอาการของคนไข้บางคนได้ระดับหนึ่ง หรือระยะหนึ่ง ถ้ารักษาด้วย วิธีดังกล่าวไม่ดีขึ้นหรือดีขึ้นแล้วเป็นซ้ำบ่อย ๆ จนเป็นโรคปวดหลังเรื้อรังขอให้นึกถึงสาเหตุที่สัมพันธ์กับปัจจัยทั้งสามดังกล่าว ในบางครั้งการแก้ปัญหาชีวิตของคนไข้เหล่านี้อาจต้องปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ แต่ส่วนใหญ่ของคนไข้เหล่านี้ที่ได้รับคำอธิบาย ที่ชัดเจนให้เข้าใจถึงวงจรของโรคปวดหลังที่แท้จริงว่าสัมพันธ์กับปัจจัยไหนบ้างจะสามารถปรับตัวเอง เรียนรู้วิธีป้องกันและแก้ไข อาการปวดหลังของตนเองได้ในระดับที่น่าพอใจ ที่เขียนมานี้ต้องการชี้ให้ผู้อ่านที่เป็นโรคปวดหลังเรื้อรังเห็นว่า ผู้ร้ายตัวจริงของโรค ปวดหลังเรื้อรัง คือใคร
--------------------------------------------------------------------------------



โดย : นาง พรรณี ชุติวัฒนธาดา, โรงเรียนศรีพฤฒา, วันที่ 1 เมษายน 2545