เริ่มเรียนการถ่ายภาพ2

แนวทางการถ่ายภาพ
จากความสำคัญของภาพถ่ายในแง่ต่าง ๆ ที่กล่าวมาทำให้เราพอจะมองเห็นแนวทางการถ่ายภาพได้เป็น 2 แนวทางคือ
1. แนวทางที่มุ่งประโยชน์ในแง่ของความเป็นจริง การถ่ายภาพในแนวทางนี้จะเป็นการถ่ายภาพตามลักษณะที่ช่างภาพได้พบเห็น ถ่ายภาพตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ภาพถ่ายที่เกิดจากแนวทางนี้จึงอาจจะไม่ใช่ภาพถ่ายที่สวยงาม อาจเป็นภาพที่ไม่น่าดู รกรุงรัง ชุลมุนวุ่นวาย เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ช่างภาพไม่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของภาพ เป็นภาพถ่ายในแง่ประโยชน์นิยม ตัวอย่างของภาพถ่ายประเภทนี้ เช่น ภาพเหตุการณ์ต่างๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ภาพวัสดุอุปกรณ์ เครื่องยนต์
กลไก เพื่อจะแนะนำวิธีการใช้ ภาพถ่ายตามแนวแรกนี้ จึงเป็นการถ่ายแบบถ่ายทอดธรรมชาติให้เหมือนจริงมากที่สุด โดยผู้ถ่ายไม่ได้สอดแทรกความคิดของตนเองลงไปด้วย เรียกว่าเป็นการถ่ายภาพแบบออบเจ็คตีฟ(objective)





2. แนวทางการถ่ายภาพที่มุ่งความงามทางศิลปะ และอาจมีการมุ่งหวังประโยชน์ให้ควบคู่กันไปด้วย ช่างภาพตามแนวทางนี้จะสอดแทรกอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนเองลงไปในภาพด้วยโดยช่างภาพอาจได้รับแรงกระตุ้นจากธรรมชาติ ภาพถ่ายในลักษณะนี้จึงเป็นภาพถ่ายที่มีความงดงามมีคุณค่า ถ่ายทอดอารมณ์ และความรู้สึกของช่างภาพไปยังผู้ดู เราเรียกแนวทางการถ่ายภาพแบบนี้ว่าเป็นการถ่ายภาพแบบ ซับเจ็คตีฟ (subjective) อาจกล่าวได้ว่าภาพถ่ายตามแนวทางนี้มีความเป็นศิลปะมากกว่า
แนวทางแรกเพราะ ช่างภาพจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการจัดองค์ประกอบของภาพ แสงเงา และพื้นฐานด้านต่างๆ ด้วย



ลักษณะของภาพถ่ายที่ดี
พัลลภ พิริยะสุรวงศ์ กล่าวถึงลักษณะของภาพถ่ายที่ดีไว้ว่า ภาพถ่ายที่ดีควรประกอบด้วย
องค์ประกอบอย่างน้อย 3 ประการคือ
1. ภาพถ่ายนั้นต้องถ่ายทอดเนื้อหาสาระไปสู่ผู้ดูภาพได้ คือต้องสามารถสื่อสารในสิ่งที่
ต้องการจะสื่อสารกับผู้ดูภาพได้ ผู้ดูภาพทราบได้ทันทีว่าเป็นรูปของอะไร มีความชัดเจนเพียงพอ ทั้งสีสัน
ขนาด และไม่พร่ามัว
2. ภาพถ่ายนั้นต้องถ่ายทอดความคิดของช่างถาพและสร้างความคิดให้ผู้ชมภาพได้ คือ
ต้องนำความคิดของผู้ดูภาพให้คิดตามช่างภาพได้ว่า ช่างภาพต้องการจะสื่อให้เห็นอะไร
3. ภาพถ่ายนั้นต้องถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกให้ผู้ดูภาพได้ คือเมื่อผู้ใดดูภาพแล้ว
เกิดอารมณ์คล้อยตามที่ช่างภาพต้องการจะสื่อให้เห็น เช่นภาพเวิ้งน้ำที่กว้างใหญ่โดดเดี่ยวที่ช่างภาพ
ต้องการให้ผู้ดูเกิดความรู้สึกที่อ้างว้างโดดเดี่ยว หรือภาพเด็กเล็กๆ กำลังวิ่งซนสนุกสนานร่าเริง ช่างภาพ
ต้องการสื่อเรื่องความสดใส ไร้เดียงสา ความร่าเริง สนุกสนานของเด็กๆ เช่นนี้เป็นต้น



โดย : นางสาว สมควร เพียรพิทักษ์, กรมวิชาการ, วันที่ 2 เมษายน 2545