เขื่อนสิริกิติ์


เขื่อนสิริกิติ์

เขื่อนสิริกิติ์ เป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน เดิมชื่อ เขื่อนผาซ่อม ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขนานนามว่า "เขื่อนสิริกิติ์"
ลักษณะเขื่อน และโรงไฟฟ้า
เขื่อนสิริกิติ์ สร้างปิดกั้นลำน้ำน่าน ที่ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทาน เมื่อปี ๒๕๐๖ แล้วเสร็จในปี ๒๕๑๕ ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนดินแกนกลางเป็นดินเหนียว สูง ๑๑๓.๖๐ เมตร ยาว ๘๑๐ เมตร กว้าง ๑๒ เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้ ๙,๕๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุของอ่างมากเป็นที่สาม รองจากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนภูมิพล
โรงไฟฟ้าและองค์ประกอบ ดำเนินการก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปี ๒๕๑๑ แล้วเสร็จในปี ๒๕๑๕ ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวม ๔ เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ ๑๒๕,๐๐๐ กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต ๕๐๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ ๑,๒๔๕ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนสิริกิติ์ และโรงไฟฟ้า เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๐
ประโยชน์
เขื่อนสิริกิติ์ จัดเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ ประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนนี้มีหลายประการ คือ
การชลประทาน
น้ำจากอ่างเก็บน้ำจะถูกปล่อยออกไปยังพื้นที่เพาะปลูกในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน กับพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยา ทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้ง ในปริมาณที่ได้มีการตกลงร่วมกันไว้กับกรมชลประทาน
การบรรเทาอุทกภัย อ่างเก็บน้ำจะช่วยเก็บกักน้ำที่อาจจะไหลบ่าลงมา ช่วยลดการเกิดอุทกภัย ในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน ตลอดจนทุ่งเจ้าพระยาลงมาถึงกรุงเทพมหานคร
การผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำที่ปล่อยออกไปเพื่อการชลประทาน จะผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้ง ๔ เครื่อง ให้พลังไฟฟ้า ๕๐๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น
การคมนาคมทางน้ำ ช่วยให้การคมนาคมทางน้ำ บริเวณเหนือเขื่อนไปยังจังหวัดน่านสะดวก และใช้งานได้ตลอดปี
การท่องเที่ยว เขื่อนสิริกิติ์ มีทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะในฤดูหนาว ความเงียบสงบของบรรยากาศ ประกอบกับพืชพันธุ์ไม้ที่งามสะพรั่ง เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนไม่ขาดสาย นอกจากนี้ ในบริเวณเขื่อนยังมีสวนสาธารณะที่ให้ความร่มรื่นอีกแห่งหนึ่ง คือ สวมสุมาลัย ซึ่ง กฟผ. สร้างขึ้น เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ แก่ประชาชนโดยทั่วไป ภายในสวนประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้หลากชนิด สระบัว ลานประติมากรรมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสวน ชื่อ ประติมากรรมสู่แสงสว่าง ลานอเนกประสงค์ และลานสุขภาพ
เส้นทางเดินทาง
จังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๔๙๑ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ ๗ ชั่วโมง ตามเส้นทางกรุงเทพฯ - นครสวรรค์ - พิษณุโลก - อุตรดิตถ์ และจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๔๕ ถึงเขื่อนสิริกิติ์ อีก ๕๘ กิโลเมตร





โดย : นาย วิชิตย์ อินมูล, น้ำริดวิทยา, วันที่ 16 เมษายน 2545