ประวัติความเป็นมาของยิมนาสติก
ประวัติความเป็นมาของยิมนาสติก
ยิมนาสติก (Gymnastics) เป็นคำที่มาจากภาษากรีก แปลว่า กรีฑา หรือ กีฬา ซึ่งเป็นกิจกรรมการเล่นเพื่อการออกกำลังกาย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง สถานที่ฝึกซ้อมหรือสถานที่แข่งขัน จะเรียกว่า ยิมเนเซียม (Gymnasium) กิจกรรมทุกประเภทที่มีการเล่นออกกำลังกาย จะถูกเรียกว่า "ยิมนาสติก" เหมือนกันหมด ต่อมาเมื่อกีฬาแต่ละประเภทมีวิวัฒนาการของตนเอง มีกฏระเบียบกติกาเพิ่มขึ้น ต่างก็ตั้งชื่อประเภทกีฬาของตนเองขึ้นใหม่ ทำให้กิจกรรมที่เรียกชื่อรวมว่า "ยิมนาสติก" เหลือน้อยลง จนกระทั่งเหลือกิจกรรมเฉพาะอย่างที่ยังคงเรียกว่า "ยิมนาสติก" และจัดให้มีกฎระเบียบและกติกาการแข่งขันกันขึ้น
ภายหลังเมื่อกรีกและโรมันเสื่อมอำนาจลง กิจกรรมการออกกำลังกายแบบยิมนาสติกของกรีก เกือบจะกล่าวได้ว่าไม่มีกิจกรรมเลยแม้แต่น้อย
การออกกำลังกายเพื่อความสมบูรณ์ของร่างกายได้เริ่มมีบทบาทสำคัญอีกครั้งประมาณ พ.ศ. 2266 โดยการนำของนักศึกษาชาวเยอรมันหลายคน เช่น โจฮัน เบสโดว์ (Johan Basedow) ได้จัดให้มีการสอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพขึ้นในโรงเรียน
พ.ศ. 2319 โจฮัน กัธ มัธส์ นักศึกษาชาวเยอรมันได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการออกกำลังกาย หรือยิมนาสติกขึ้น ต่อมา ฟริดริช จาน (Friedrich Jahn) ก็ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ เช่น ราวคู่ ราวเดี่ยว ม้ากระโดด และอื่น ๆ เพื่อใช้ในการออกกำลังกายและเรียกว่า ยิมนาสติกเหมือนสมัยกรีกและโรมัน และอาจจะเนื่องมาจาก ฟริดริช จาน ได้ประดิษฐ์เครื่องสำเร็จเพื่อใช้ในการออกกำลังกาย และเรียกชื่อตามกรีกโบราณนี่เอง จึงทำให้มีความเข้าใจในปัจจุบันว่า "ยิมนาสติก" คือการออกกำลังกายที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ ราวคู่ ราวเดี่ยว ม้ากระโดด หรืออื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

สำหรับความเป็นมาของยิมนาสติกในประเทศไทยนั้น
ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าได้เริ่มมาแต่สมัยใด หากจะถือว่า ยิมนาสติก คือ กีฬาหรือกรีฑาตามความหมายเดิมนั้นก็นับได้ว่า ไทยมีมานานควบคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทยก็ว่าได้ เพราะมีหลักฐานว่า คนไทยมีการเล่นกีฬาประจำชาติ เช่น มวยไทย กระบี่กระบอง เพื่อรักษาสมรรถภาพของร่างกายให้อยู่ในระดับสูงเสมอ เพื่อพร้อมที่จะทำศึกสงครามป้องกันประเทศเป็นสำคัญ
สำหรับยิมนาสติกในความหมายปัจจุบัน คือ ออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์ประกอบนั้นเข้าใจว่ามีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศได้นำความรู้ และประสบการณ์มาเผยแพร่ เช่น บรรจุวิชายิมนาสติกและยืดหยุ่นเข้าไว้ในหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อ
พ.ศ. 2430 และใน พ.ศ. 2441 ได้มีการจัดแผนการศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรกได้บรรจุวิชาพลศึกษา เป็นวิชาบังคับในชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาและได้มีการสอนวิชายิมนาสติกและยืดหยุ่นด้วย
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การออกกำลังกายแบบยิมนาสติกและยืดหยุ่นนี้ ก็ได้มีบทบาท และเป็นส่วนสำคัญในการจัดหลักสูตรวิชาพลศึกษาในโรงเรียนสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

โดย : นาย ถาวร เขียนเสมอ, โรงเรียนสัตหีบวิทยาคม, วันที่ 17 เมษายน 2545