ปลาหางนกยูง

ปลาหางนกยูงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Poecilia reticulata มีชื่อสามัญว่า Guppy
อยู่ในครอบครัว Poecidae เป็นปลาออกลูกเป็นตัวและมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา ใต้แถบ เวเนซูเอลล่า หมู่เกาะคาริเบียนของประเทศบาร์บาโดส และ ในแถบลุ่มน้ำอเมซอน ในธรรมชาติอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด และ น้ำกร่อยที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งจนถึงน้ำไหลเรื่อย ๆ ปลาตัวผู้มีขนาด 3 - 5 ซม. ตัวเมียมีขนาด 5 - 7 ซม. ปลาหางนกยูงที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม (Fancy Guppy) ซึ่งเป็นปลาที่ได้รับการคัดพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์มาจากพันธุ์พื้นเมือง (Wild Guppy) ที่พบแพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติ
การเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง
ในการเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง นอกเหนือจากวิธีการเพาะพันธุ์แล้ว วิธีการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ และการอนุบาลลูกปลานับว่าเป็นปัจจัยที่ล้วนแต่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ซึ่งจะได้กล่าวถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาหางนกยูง เนื่องจากปลาหางนกยูงจะเจริญถึงวัยเจริญพันธุ์ เมื่อปลามีอายุเพียง 3 เดือนเท่านั้น เมื่อลูกปลาพอที่จะแยกเพศได้ (อายุประมาณ 1 - 1 1/2 เดือน) ควรเลี้ยงแยกเพศไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาผสมพันธุ์กันเอง
น้ำที่ใช้เลี้ยง ควรเป็นน้ำสะอาดปราศจากคลอรีน มีความเป็นกรด-ด่าง (pH) 6.5 - 7.5 มีปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำไม่ต่ำกว่า 5 มก. ต่อ ลิตร ความกระด้างของน้ำ 75 - 100 มก. ต่อ ลิตร ความเป็นด่าง 100 - 200 มก. ต่อ ลิตร และ อุณหภูมิน้ำ 25 - 29 องศาเซลเซียส ควรมีน้ำไหลหมุนเวียนตลอดเวลา
อาหารที่ใช้เลี้ยง ปลาหางนกยูงสามารถกินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ (Omnivorous) ในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จึงสามารถให้อาหารจำพวกสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ลูกน้ำ ไรแดง (Moina) ไรสีน้ำตาล (Artemia) หรือ หนอนแดง (Chironomus) หรือ อาจจะเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูป ที่มีปริมาณโปรตีนไม่ต่ำกว่า 40 % อาหารสดก่อนให้ทุกครั้งควรฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหาร โดยควรแช่อาหารในด่างทับทิมเข้มข้น 500 - 1,000 ส่วนในล้านส่วน (0.5 - 1.0 กรัม ต่อ น้ำ 1 ลิตร) เป็นเวลาประมาณ 10 - 20 วินาที ปริมาณอาหารสดควรให้วันละ 10 % ของน้ำหนักตัว หรือให้กินแต่พออิ่ม ส่วนอาหารแห้ง ควรให้วันละ 2 - 4 % ของน้ำหนักตัวปลา โดยให้อาหารวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและเย็น ส่วนการถ่ายเทน้ำควรจะทำทุกวัน โดยดูดน้ำในตู้ออกวันละประมาณ 1/4 ของปริมาณน้ำในตู้ แล้วเติมน้ำให้เท่าระดับเดิม
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
ในการคัดเลือกปลาเพศผู้และเพศเมีย เพื่อทำการผสมพันธุ์ควรเลือกปลาที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป มีลักษณะลำตัวมีขนาดใหญ่ หนาสมส่วน ไม่คดงอ โคนหางใหญ่แข็งแรง ครีบสมบูรณ์ ครีบหางใหญ่ พริ้วหนา แข็งแรงสมบูรณ์ไม่ฉีกขาด รูปร่างได้สัดส่วน แข็งแรง ว่ายน้ำปราดเรียว มีสีและสวดลายสวยงาม
     

Half black blue Guppies เพศผู้ และ เพศเมีย
เพศผู้จะมีลักษณะต่างจากเพศเมียที่อวัยวะในการสืบพันธุ์ เรียกว่า gonopodium ซึ่งดัดแปลงมาจากครีบก้น ปลาเพศผู้และเพศเมียควรมีลักษณะสีและลวดลายที่เหมือนกัน หรือคล้ายกันมากที่สุด เพื่อให้ได้ลูกปลาที่มีลักษณะไม่แปรปรวนมาก ในการผสมพันธุ์ หากจำเป็นต้องเก็บลูกปลาที่เพาะได้ไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในครั้งต่อไป ควรหาพ่อแม่ปลาจากแหล่งอื่นมาผสมบ้าง เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดจากการผสมเลือดชิด (Inbreeding) ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้ลูกปลาในรุ่นต่อ ๆ ไป มีความอ่อนแอและอัตรารอดต่ำ เนื่องจากลักษณะด้อย (Recessive) ที่ปรากฏในยีน ลักษณะเด่นที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ ๆ คือ ลักษณะสีและลวดลายบนลำตัว ลวดลายบนครีบหางและรูปแบบของครีบหาง ซึ่งในการเรียกสายพันธุ์ต่าง ๆ จะถูกตั้งชื่อตามลักษณะดังกล่าว (ตารางที่ 1)
การเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูง
1. เตรียมบ่อซีเมนต์ขนาด 1 - 4 ตรม. ระดับน้ำลึก 30 - 50 ซม. ใส่พุ่มเชือกฟาง ตระกร้า หรือ ฝาชี เพื่อให้ลูกปลาใช้เป็นที่ปลาหลบซ่อน
2. นำพ่อแม่ปลาสายพันธุ์เดียวกัน ปล่อยรวมกันในอัตรา 120 - 180 ตัว / ลบ.ม. ในสัดส่วน เพศผู้ : เพศเมีย เท่ากับ 1 : 3 หรือ 1 : 4 ระหว่างการเพาะพันธุ์ให้ไรแดงเป็นอาหารในตอนเช้า และให้อาหารสำเร็จรูปในตอนเย็น ปลาเพศเมียที่ได้รับการผสมแล้วจะเห็นเป็นสุดสีดำบริเวณท้อง
3. หลังจากพ่อแม่ปลาได้รับการผสมพันธุ์ประมาณ 26 - 28 วัน จะมีลูกปลาวัยอ่อนเกิดขึ้นและหลบซ่อนอยู่ตามวัสดุที่ใส่ไว้ในบ่อ ให้รวบรวมลูกปลาออกทุกวัน สะสมไว้ในบ่ออนุบาล ประมาณ 4 - 5 วัน/บ่อ เพื่อให้ลูกปลามีขนาดใกล้เคียงกัน โดยปล่อยลูกปลาในอัตราความหนาแน่น 140 - 300 ตัว / ลบ.ม. ในระยะแรกให้ไรแดงเป็นอาหาร ในตอนเช้าและเย็นทุกวันเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงให้อาหารสำเร็จรูป จนกระทั่งลูกปลามีอายุประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะที่เริ่มแยกเพศได้ โดยปลาเพศเมีย สังเกตุจุดสีดำบริเวณรูเปิดช่องท้อง ส่วนปลาเพศผู้ เมื่อมองจากด้านบนมีรูปร่างเรียวยาวกว่าเพศเมีย
4. คัดขนาดและแยกเพศปลา นำไปแยกเลี้ยงในบ่ออัตรา 200 - 300 ตัว / ลบ.ม. ให้กินไรแดงเป็นอาหารในตอนเช้าส่วนตอนกลางวันและตอนเย็นให้กินอาหารสำเร็จรูป เลี้ยงเป็นระยะเวลา 3 - 4 เดือน สามารถจำหน่ายได้ ควรคัดเลือกปลาที่แข็งแรงสมบูรณ์เพื่อนำเตรียมไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป
ตารางที่ 1 ลักษณะปลาหางนกยูงบางสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยง
สายพันธุ์
ลักษณะและสีของลำตัว
ลักษณะและสีของครีบ
1. คอบร้า (Cobra)
- Yellow cobra (คอบร้าเหลือง) หรือ King cobra
- Red cobra (คอบร้าแดง)
- Multi color (เจ็ดสี)
- สีน้ำเงิน และ อื่น ๆ
- มีลวดลายเป็นแถบยาวหรือสั้น พาดขวาง พาดตามยาว หรือ พบพาดเฉียงทั่วลำตัวตลอดถึงโคนหาง ลวดลาย คล้ายลายหนังงู
- หางรูปสามเหลี่ยม (delta tail) รูปพัด (fan tail) หรือ หางบ่วง (lyre tail)
- ครีบหางมีหลากหลายและหลากสี สอดคล้องกับลำตัว
2. ทักซิโด้ (Tuxedo)
- German tuxedo (เยอรมัน)
- Neon tuxedo (สันหลังสีขาว สะท้อนแสง)
- Black tuxedo (ครีบหางสีดำ)
- Golden tuxedo (ครีบหางสีส้ม)
- Flamingo tuxedo
- Bronze tuxedo
- ครึ่งตัวด้านท้ายมีสีดำ หรือ สีน้ำเงินเข้ม
- ครีบหลังและครีบหางหนาใหญ่ มีสีและลวดลายเหมือนกัน
- ครีบหางมีหลากหลายแบบ
3. โมเสค (Mosaic)
- Red mosaic หรือ Red butterfly (ชิลี)
- พื้นลำตัวสีเทาอ่อน บริเวณด้านบนสีฟ้า หรือ เขียว อาจแซมด้วยสีแดง ชมพู หรือ ขาว
- ครีบหางรูปสามเหลี่ยม (delta tail) ปลามุมบนและล่าง บริเวณโคนหางอาจมีสีน้ำเงินเข้ม
- ครีบหางมีหลากหลาย
- ครีบหลังขาวเรียบ หรือ ชมพูอ่อน หรืออาจมีจุด หรือ แต้มขนาดเล็ก
4. กร๊าซ (Grass)
- Grass tail (หญ้าแก้ว)
- Grass tail albino (เผือกตาแดง)
- ลำตัวมีหลากสี
- ครีบหางมีจุด หรือแต้มเล็ก ๆ กระจาย แผ่ไปทั่งตามรัศมีของหางคล้ายดอกหญ้า
5. นกยูงหางดาบ (Sword tail)
- Double sword (หางกรรไกร)
- Top sword (หางดาบบน)
- bottom sword (หางดาบล่าง)
- ลำตัวมีสีเทา ฟ้า เขียว แดง ชมพู เหลือง คล้ายหางนกยูง พันธุ์พื้นเมือง อาจมีจุด หรือ ลวดลายบนลำตัว
- ครีบหางเป็นแฉกคล้ายปลาดาบ อาจมีทั้งด้านบน หรือ ด้านล่าง หรือ ด้านใดด้านหนึ่ง
โรคที่พบในปลาหางนกยูง
1. โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย
เกิดจากพวกแบคทีเรียสกุล Aeromonas hydrophila
Pseudomonas fluorescens รุนแรงมากสามารถทำให้ปลาตายภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
Flexibacter columnaris เหงือกและครีบเปื่อย
Streptocaccal disease พบอยู่ทั่วไปกับเมือกของปลาหางนกยูง จะแสดงอาหารเมื่อปลามีบาดแผล เป็นโรค และสภาพแวดล้อมไม่ดี
โรคที่เกิดจากแบคทีเรียอาการที่พบคือ ครีบและหางกร่อน ท้องบวมน้ำ เกล็ดพอง รักษาโดยใช้ยาปฎิชีวนะ เช่น ไนโตรฟูราโซน 1 - 2 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ปลานาน 2 - 3 วัน , ออกซิเตตร้าไซคลิน หรือ เตตร้าซัยคลิน ผสมลงในน้ำในภาชนะที่เลี้ยงในอัตรา 10 - 20 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ จะใช้เกลือแกง 0.5 - 1% ก็ได้
2. โรคจากปรสิต
2.1 โรคจุดขาว (White spot) เกิดจากสัตว์เซลล์เดียว ชื่อ Ichthyophthirus multifilis หรือ ชื่อย่อว่า Ich (อิ๊ค) เข้าเกาะตัวปลาและฝังตัวที่ผนังชั้นนอกของปลา สร้างความระคายเคือง ปลาจะสร้างเซลล์ผิวหนังหุ้มอิ๊ค ทำให้เป็นเป็นจุดสีขาว ยังไม่มีวิธีกำจัดอิ๊คที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง แต่วิธีการที่ได้ผล คือ การทำลายตัวอ่อนในน้ำ สารเคมีที่ใช้ได้ผลดี คือ ฟอร์มาลิน 25 - 30 มล. ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ผสมกับมาลาไค้ทกรีน 0.1 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ทิ้งไว้ตลอด และควรจะแช่ซ้ำอีก 3 - 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 7 วัน จะได้ผลดีมาก โดยเฉพาะเมื่อน้ำมีอุณหภูมิประมาณ 28 - 30 องศาเซลเซียส
2.2 โรคที่เกิดจากปลิงใส เกิดจากปรสิตตัวแบน 2 ชนิด คือ Gyrodactylus และ Dactylogyrus มักพบตามบริเวณเหงือก และผิวหนัง การรักษาใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 40 มล. ต่อน้ำ 1,000 ลิตร หรือ ดิพเทอร์เร็กซ์เข้มข้น 0.25 - 0.5 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ทิ้งไว้ตลอดไป
2.3 โรคที่เกิดจากหนอนสมอ (Lerneae sp.) หนอนสมอมีลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนหัวคล้ายสมอทำหน้าที่ยึดเกาะกับตัวปลา การรักษาใช้ดิพเทอร์เร็กซ์เข้มข้น 0.25 - 0.50 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ทิ้งไว้ตลอด แล้วแช่ซ้ำ 3 - 4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน
นอกจากนั้นโรคเกิดจากปรสิต ก็มี Oodinium หรือ Gold dust disease โรค Hexamita มี อาการถ่ายออกมามีสีขาวเกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม โรคที่เกิดจากเชื้อ Tetrahymena pyriformis อาการตาโปน
3. โรคเกิดจากเชื้อรา
โรคที่เกิดจากเชื้อราได้แก่ โรคเกิดจาก Saprolegnia species เชื้อตัวนี้โดยปกติมีอยู่มากมายในน้ำจืด อาการเป็นปุยขาวที่ผิวหนัง ครีบ และ ปาก อีกโรคเกิดจากเชื้อ Icthyophonus hoferi ที่พบบ่อยเกิดจากให้กินอาหารที่มีชีวิต เชื้อตัวนี้เข้าไปทำลายอวัยวะภายในได้แก่ ลำไส้ รังไข่และตับ ควรจะกำจัดปลาที่เป็นโรคนี้ทันที และควรทำความสะอาดบ่อ
ปัญหาที่พบในการเลี้ยงปลาหางนกยูง
1. สายพันธุ์ที่ได้คุณภาพต่ำลงเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจาก พ่อแม่เป็นปลาที่มาจากคอกเดียวกัน ปลาเพศเมียได้รับการผสมมาแล้ว ทำให้มีน้ำเชื้อของปลาเพศผู้คอกเดียวผสมกันอยู่ พยายามแยกเพศผู้เพศเมียให้ได้เร็วที่สุด สายพันธุ์ที่ดีควรจะเก็บคัดไว้เพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป และควรหาสายพันธุ์จากที่อื่นมาผสมเพื่อไม่ให้เกิดการผสมสายเลือดที่ชิดเกินไป
2. โรคที่มาจากแหล่งอื่น ๆ เมื่อได้ปลามาจากที่อื่น ๆ อย่างเพิ่งปล่อยรวมกับปลาที่เลี้ยงไว้ควรจะพักให้จนกระทั่งแน่ใจว่า ไม่มีโรคติดต่อแล้ว
3. โรคทางเดินอาหาร พยายามหลีกเลี่ยงการใช้อาหารธรรมชาติโดยเฉพาะ ไรแดงที่รวบรวมมาจากแหล่งน้ำอื่น ๆ นอกจากจะต้องแช่ด่างทับทิมเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคแล้ว ควรจะเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารให้อาหารสำเร็จรูปมากขึ้น จะทำให้สามารถเติมสารอาหารที่จำเป็นผสมในอาหารได้
เอกสารอ้างอิง : เอกสารประกอบการฝึกอบรม การเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม กลุ่มฝึกอบรมเกษตรกร กองฝึกอบรม กรมประมง
ผู้เขียน : ปลาหางนกยูง โดย คุณอมรรัตน์ เสริมวัฒนากุล
www.eFish2u.com (อีฟิชทูยู ดอท คอม)

ที่มา : www.efish2u.com

โดย : เด็กชาย กิตติ ปันชู, โรงเรียน ถิ่นโอภาสวิทยา ,แพร่, วันที่ 1 พฤษภาคม 2545