รับประทานอาหารไขมันอย่างไร

รับประทานอาหารไขมันอย่างไรดี จึงไม่มีปัญหา

รอบ ๆ ตัวเรามีอาหารจำพวกไขมันสารพัดชนิด ทั้งไขมันจากสัตว์ เนื้อหมู ไก่ เป็ด ปลา หรืออาหารที่มีไขมันเป็นส่วนผสม เช่น นม เนย ไข่ ครีม น้ำมันหมู และไขมันจากพืช เช่น น้ำมันรำ น้ำมันงา น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว น้ำมันทานตะวัน ฯลฯ เป็นต้น
เราจะหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันในแต่ละวันนั้นได้น้อยมาก เพราะไขมันจะใช้ในการปรุงอาหารผัดๆ ทอดๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ สำหรับคนที่ต้องการงดอาหารไขมันไปเลย เพียงเพราะกลัวความอ้วนนั้นก็เป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับสุขภาพอยู่เหมือนกัน แต่ในกรณีเด็ก ๆ ที่ร่างกายยังต้องการพลังงานมาก ๆ เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งวิ่งเล่น หรือออกแรงปีนป่ายหรือทำงานหนัก ๆ โดยเฉพาะในเด็กชาย ไขมันจะช่วยให้พลังงานได้มากทีเดียว
ประโยชน์ของอาหารไขมัน
- เป็นแหล่งพลังงานที่สูงที่สุดและสำคัญที่สุดในร่างกาย
- ให้พลังงานในการเจริญเติบโตของร่างกายเด็ก
- ช่วยให้พลังงานในการทำงานของอวัยวะส่วนต่าง ๆ
- สามารถเก็บพลังงานสะสมเพื่อนำไปใช้ในระยะยาวได้ เช่น เมื่อร่างกายขาดอาหาร เจ็บไข้ไม่สบาย หรือรับประทานอาหารไม่ได้เลย ตอนนี้ร่างกายก็จะขอใช้จากไขมันที่สะสม
- ปกป้องอวัยวะต่าง ๆ ไปในตัว เช่น ไขมันที่สะโพก เสมือนเบาะนุ่มให้นั่งได้สบายนาน
- ไขมันทำให้อิ่มอยู่ได้นานเพราะย่อยได้ช้า และยังช่วยให้อาหารรสดี นุ่มน่ารับประทานด้วย
- ช่วยในการดูดซึมวิตามิน A, D, E, K ที่ละลายในไขมัน ซึ่งวิตามินเหล่านี้มีประโยชน์กับร่างกายของ
- ทุกๆ คน เช่น วิตามิน A ช่วยให้สายตามองเห็นได้ดี วิตามิน D ช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟัน วิตามิน E ช่วยให้ผิวพรรณแข็งแรง และวิตามิน K ช่วยในการไหลเวียนของโลหิตและช่วยให้โลหิตแข็งตัวได้เร็ว
- เป็นแหล่งกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ จึงควรบริโภคไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันพืช งา ถั่ว น้ำมันจากปลา เพื่อสุขภาพที่ดี เพราะไขมันชนิดนี้ช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดี และควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วย
กินมากไปก็อ้วนกินน้อยไปร่างกายก็ขาดพลังงาน ดังนั้นจึงควรกินแต่พอดีในอาหารแต่ละมื้ออาจจะมี ไขมันเจือปนอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย เช่น การทำกับข้าวในน้ำมันพืช ทอด ๆ ผัด ๆ ขนมก็ใส่กะทิ เป็นต้น ประมาณได้ว่าวันหนึ่ง ๆ เรากินไขมันหรือน้ำมันวันละ 2-3 ช้อนโต๊ะหรือมื้อละ 1 ช้อนโต๊ะโดยเฉลี่ยอย่างไรก็ดีโดยสรุปแล้วใน 100 เปอร์เซ็นของความต้องการพลังงานในร่างกายควรบริโภคไขมันไม่เกินร้อยละ 30 แต่อย่าเผลอบริโภคมากเกินไปจนอ้วน และต้องหันมารับประทานยาลดน้ำหนักกัน เราต้องขยันหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะดีกว่าร่างกายจะได้แข็งแรง แถมยังเป็นการใช้พลังงานไขมันอีกทางหนึ่งด้วย


จากหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน ( เกราะป้องกันชีวิต เล่ม 2 )
จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ( วก. )



โดย : นางสาว นุชจรี ทัพเพรียง, ร.ร สุเหร่าบ้านดอน 84 ถ.สุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ วัฒนา กรุงเทพฯ 10110, วันที่ 7 พฤษภาคม 2545