เริ่มเรียนการถ่ายภาพ4

ทั้งการเน้นจุดเด่นและการวางตำแหน่งจุดเด่นของภาพ ย่อมเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการ
จัดองค์ประกอบขั้นพื้นฐานในการถ่ายภาพ คือ
1. การควบคุมรายละเอียดของภาพ (Control of detail)
รายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏในภาพ หากมีมากเกินไปก็จะทำให้ภาพขาดจุดเด่นคือมองดูแล้วไม่ทราบว่าอะไรคือจุดที่ต้องการสื่อให้ผู้ดูทราบ ตัวอย่างภาพในลักษณะนี้เช่น ภาพวัตถุที่ต้องการสื่อกลืนหายไปกับฉาก เนื่องจากฉากหลังอาจจะรกรุงรัง หรือภาพที่มีส่วนเกินออกมาจากวัตถุ เช่น มีต้นไม้ยื่นโผล่ออกมา หรือมีวัตถุใดซ้อนเกินมาลักษณะนี้ทำให้ภาพไม่เด่นชัด นั่นคือช่างภาพยังไม่สามารถควบคุมรายละเอียดของภาพได้ อาจแก้ไขได้ด้วยการพยายามเลือกฉากหลังพื้นๆ หากต้องการเน้นวัตถุเพียงบางสิ่งให้โดดเด่นในท่ามกลางวัตถุหลายๆ สิ่ง อาจต้องใช้เทคนิคเรื่องระยะชัด ซึ่งจะได้ศึกษาต่อไป
2. การควบคุมขนาด (Control of size)
ขนาดในที่นี้คือขนาดของวัตถุในภาพว่ามีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กซึ่งโดยปกติผู้ดูภาพจะให้ความสนใจต่อวัตถุที่มีขนาดใหญ่มากกว่าวัตถุขนาดเล็ก การควบคุมขนาดจึงมีความสัมพันธ์กับการควบคุมรายละเอียดของภาพ ฉะนั้นจุดเด่นหลักในภาพจึงควรมีขนาดใหญ่แต่ทั้งนี้เราควรเข้าใจด้วยว่าในภาพบางภาพก็ไม่ต้องการจุดเด่น เพราะทุกๆ รายละเอียดมีความสวยงามเท่ากัน เช่น ภาพสวนดอกไม้ที่กำลังบานสะพรั่ง ดอกไม้ทุกดอกดูสวยงามอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเน้นจุดใดจุดหนึ่ง





3. ความสมดุล (Balance)
ในความรู้สึกของบุคคลทั่วไปย่อมคุ้นเคยอยู่กับความสมดุลความสมดุลคือความเท่ากัน เสมอกัน อันก่อให้เกิดความรู้สึกที่มั่นคงเที่ยงตรงดูแล้วสบายตา สวยงามการจัดภาพถ่ายให้มีความสมดุลย่อมต้องคำนึงถึงทุกส่วนประกอบในภาพไม่ว่าจะเป็น เส้น แสง เงา สีขนาดของวัตถุ ฯลฯ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะให้ความรู้สึกในเรื่องน้ำหนักของภาพ ลักษณะของการจัดภาพให้สมดุลมี 2 ลักษณะคือ
3.1 การให้สมดุลอย่างแท้จริง (Symmetry) คือจัดภาพให้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวาเท่ากันคือภาพนั้นเมื่อแบ่งครึ่งแล้วได้ภาพที่มีภาพเหมือนกัน 2 ด้าน ให้ความรู้สึกเที่ยงตรงไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งภาพในลักษณะนี้จะพบเห็นได้บ่อยเช่นภาพสิ่งก่อสร้าง วัด โบสถ์ ศาลาที่ถ่ายด้านตรงให้มองเห็น 2 ด้านเท่ากัน
3.2 การจัดภาพให้ผู้ดูรู้สึกว่าสมดุล (Asymmetry) เป็นการจัดภาพที่ไม่มีรูปแบบบังคับเพียงแต่ให้ผู้ดูมีความรู้สึกว่าภาพที่ดูสมดุล อาจจัดให้ด้านหนึ่งมีวัตถุที่ใหญ่ ในขณะที่อีกด้านมีวัตถุเล็กช่วยดึงภาพไว้ ผู้ดูจึงไม่รู้สึกว่ามีน้ำหนักมากไปข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งการจัดภาพในลักษณะนี้สามารถจัดได้ตามใจชอบของช่างภาพ ให้ความสะดวกมากกว่าการจัดให้สมดุลอย่างแท้จริง



แต่อย่างไรก็ตามในการจัดภาพบางประเภทอาจมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป เช่นภาพวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหวมักนิยมจัดภาพให้เป็นเส้นเฉียง เพราะให้ความรู้สึกว่าวัตถุมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นโดยให้วัตถุอยู่ทางด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งปล่อยว่างไว้ เพื่อให้ความรู้สึกว่ามีพื้นที่ให้วัตถุเคลื่อนที่ต่อไปได้อีก
4. มุมกล้อง (Camera angle) มุมกล้องที่เปลี่ยนไปในระดับต่าง ๆ กัน ย่อมมีผลกับขนาดของวัตถุในภาพและให้ความรู้สึกแก่ผู้ดูที่แตกต่างกันด้วย โดยทั่วไปเราสามารถแบ่งมุมกล้องได้เป็น3 ระดับคือ
4.1 มุมกล้องในระดับสายตา คือการถ่ายภาพตามลักษณะที่มองเห็นวางตำแหน่งกล้องขนานกับพื้นดินระดับสายตา ภาพที่ได้จากการใช้มุมกล้องในระดับสายตานี้จะมีลักษณะเหมือนที่ตามองเห็นขนาดของวัตถุในภาพปกติ ภาพที่ได้เรียกว่าภาพระดับสายตา
4.2 มุมกล้องในระดับต่ำ คือการถ่ายภาพโดยวางกล้องไว้ต่ำกว่าวัตถุ ภาพที่ได้จะมีขนาดสูงใหญ่กว่าขนาดปกติ ให้ความรู้สึกถึงความสง่าผ่าเผย ภาพที่ได้เรียกว่าภาพมุมต่ำ
4.3 มุมกล้องในระดับสูง คือการถ่ายภาพโดยวางกล้องในระดับสูงกว่าวัตถุ ภาพที่ได้จากการถ่ายในมุมกล้องระดับสูงนี้เรียกว่าภาพมุมสูง ให้ความรู้สึกว่าวัตถุมีขนาดเล็ก แต่ก็สามารถเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ของภาพได้มาก
จากหลักการพื้นฐานในการจัดองค์ประกอบของภาพถ่ายที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงหลักการทั่วไปที่มิได้ยึดถือตายตัว ช่างภาพที่ดีควรจะมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดออกมาให้ผู้ดูภาพได้รับรู้ ซึ่งไม่ผูกขาดอยู่เพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่นำเสนอมา หากแต่ควรจะเป็นตามแนวความคิดของตนเองด้วย



โดย : นางสาว สมควร เพียรพิทักษ์, กรมวิชาการ, วันที่ 8 พฤษภาคม 2545