เริ่มเรียนการถ่ายภาพ5

เริ่มแรกของการถ่ายภาพ
จากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หากปล่อยให้แสงเดินทางผ่านทะลุทางช่องรูเข็มเล็ก ๆเข้าไปในห้องมืดแล้วจะเกิดภาพจริงหัวกลับที่ไม่ชัดเจนนัก บนฝาผนังอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มาของวิวัฒนาการการถ่ายภาพในสมัยต่อมา
ภายหลัง ฮัลฮาเซน (Alhazen) ค.ศ.965-1038 ได้อธิบายวิธีการดูเงาดวงอาทิตย์เป็นภาษาอาหรับไว้ในลักษณะเดียวกันว่า เราสามารถจะเห็นเงาของดวงอาทิตย์ได้โดยการเจาะรูเล็กๆ ที่ผนังของห้องมืด จะปรากฎเงาของดวงอาทิตย์บนฝาผนังฝั่งตรงข้าม ต่อมาจึงได้มีผู้ทดลองทำกันอย่างกว้างขวางและเรียกห้องมืดที่มองเห็นภาพนี้ว่าคาเมรา ออบสคูรา (Camera Obscura) ซึ่งเป็นภาษาละตินแปลว่าห้องมืด
ในปี ค.ศ.1490 เลโอนาโด ดาวินซี นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลียนได้บันทึกคำอธิบายเกี่ยวกับหลักการของคาเมรา ออบสคูรา ไว้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ผู้คนในสมัยนั้นมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของ คาเมรา ออบสคูรา ชัดเจนขึ้น
ในช่วงคริสศตวรรษที่ 16 (ค.ศ1501-1600) มีผู้คนสนใจที่จะใช้ คาเมรา ออบสคูรา ในการวาดภาพกันมากขึ้น โดยการลอกแบบตามเงาของวัตถุที่เกิดขึ้น แม้ภาพจะไม่ค่อยชัดเจนนักแต่ก็มีสัดส่วนแสงเงาที่เหมือนจริง จนกระทั่งในปี คศ.1550 จีโรลาโม คาร์ดาโน (Gerolamo Cardano) นักคณิตศาสตร์ชาวอิตาเลียน ค้นพบว่าถ้านำเลนส์ไปติดตั้งในตำแหน่งที่เจาะรูรับแสงไว้ ภาพที่เกิดขึ้นจะชัดเจนมากกว่าเดิม และศ.ศ. 1568 แดนีล บาร์บาโร (Daniel Barbaro) ได้ติดตั้งไดอะแฟรมเพื่อบังแสงบริเวณขอบเลนส์ ทำให้ภาพที่เกิดขึ้นมีความคมชัด ต่อมามีการนำเอากระจกเว้ามาช่วยทำให้มองเห็นภาพเป็นภาพหัวตั้งขึ้น




ในปี ค.ศ.1646 อธานาซิอุส ไคเซอร์ (Athanasius Kircher) นักวิชาการชาวเยอรมันวาดภาพโครงสร้างของ คาเมรา ออบสคูรา ขึ้น ลักษณะคล้ายกระท่อมเล็กๆ ที่ผู้วาดภาพต้องเข้าไปอยู่ข้างในเพื่อลอกแบบภาพที่เกิดขึ้นในกระท่อมนั้น ภายหลังในปี ค.ศ. 1685 โจฮัน ซาน (Johaun Zahn)ได้ติดตั้งเลนส์นูนและเสนส์เว้าที่มีความยาวโฟกัสต่างกันประกอบเข้ากับคาเมรา ออบสคูรา เพื่อลดขนาดของคาเมราออบสคูราให้เหลือความยาวเพียง 23 นิ้ว และเป็นงานประดิษฐ์ชิ้นแรกที่ทำให้จิตกรผู้วาดสามารถออกมาทำงานภายนอกคาเมรา ออบสคูราได้ เพราะภาพที่ได้จะมีขนาดใหญ่ชัดเจนขึ้น ต่อมามีการปรับปรุงคาเมรา ออบสคูรา ขึ้นมาออกมาอีกหลายรูปแบบ จนกระทั่ง จอร์น แบรนเดอร์ (George Brander) ได้พัฒนาคาเมรา ออบสคูรา ขึ้นเป็นแบบตั้งโต๊ะ จิตกรสามารถนั่งวาดภาพที่อยู่ตรงหน้าได้
โดยทำตัวกล้องให้เป็นกล่องสี่เหลี่ยมมืดทึบหลายกล่องซ้อนต่อกันมีเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสมากขึ้น ภายในกล้องติดตั้งกระจกเงา ทำมุม 45 องศา ให้สะท้อนภาพขึ้นข้างหน้าจิตกร


ในต้นศตวรรษที่ 18 (ค.ศ. 1701-1800) วิลเลียม ไฮด์ เวอลเลสตัน (William Hyde
Wallaston) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้ใช้ปริซึมแทนเลนส์ เรียกชื่อใหม่ว่า คาเมรา ลูซิดาCamara Lucida) ซึ่งผู้วาดภาพจะวาดภาพบนกระดาษที่โต๊ะโดยใช้ตามองผ่านแก้วปริซึม คาเมรา
ลูซิดานี้มีขนาดเล็กกะทัดรัด จึงมีผู้นิยมนำติดตัวไปใช้ในการวาดภาพ
แต่ไม่ว่าจะเป็นคาเมรา ออบสคูรา หรือคาเมรา ลูซิดาต่างก็ยังต้องพึ่งจิตกรในการวาดภาพให้
สวยงามเหมือนจริงอยู่ดี


โดย : นางสาว สมควร เพียรพิทักษ์, กรมวิชาการ, วันที่ 9 พฤษภาคม 2545