ฟันที่ขึ้นก่อนฟันนำนม

ทารกบางคนเกิดมาพร้อมกับมีฟันซี่เล็ก ๆ 1 หรือ 2 ซี่ ส่วนใหญ่มักพบตรงกลางสันเหงือก ด้านหน้าของกระดูกขากรรไกรล่าง ฟันที่ขึ้นในช่วงแรกเกิดนี้ จะแตกต่างจากฟันน้ำนมปกติ คือมีแต่ตัวฟัน ไม่มีรากฟัน เรียกตามศัพท์ทันตแพทย์ว่า Predeciduous Teeth หรือ Neonatal Teeth มีสีขาวประกอบด้วยเคราตินเป็นส่วนใหญ่ สามารถจับโยกออกได้ง่าย

ผู้เขียนเคยฟังญาติผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่าสมัยเมื่อประมาณ 30-40 ปีมาแล้ว ในต่างจังหวัด มีสามีภรรยา คู่หนึ่ง มีบุตรชายคนแรก คลอดออกมาตัวใหญ่แข็งแรง ร้องเสียงดังทั้งวันทั้งคืน ได้ยินไปทั่วบ้านเรือนข้างเคียง ที่ประหลาดคือ ทารกคนนี้เกิดมาก็มีฟันซี่เล็ก ๆ ขึ้นในปาก แล้ว 2 ซี่ ทำให้ผู้เป็นแม่ รู้สึกกลัวที่จะให้นมลูก ส่วนสามีก็หน้าตาหมองคล้ำ ไม่มีความสุข เพราะชาวบ้านที่มาดูทารกคนนี้ ต่างออกปากว่า คงจะเป็นลูกยักษ์ลูกมารมาเกิด ลักษณะเป็นกาลกิณี จึงมีฟันขึ้นตั้งแต่เกิด ผิดกับทารกทั่วไป ที่จะเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้น เมื่ออายุได้ราว 6 เดือน แล้วชาวบ้านได้ยินเสียงทารกคนนี้ร้อง เสียงดังในวันแรก แล้วเสียงร้องก็ค่อย ๆ แผ่วเบาลงเรื่อย ๆ จนเงียบเสียงไป เมื่อเกิดได้ 3 วัน เมื่อถามดู ปรากฏว่าทารกที่น่าสงสารตายเสียแล้ว เนื่องจากถูกทอดทิ้ง เพราะหญิงที่เป็นแม่ ไม่ยอมให้ลูกดูดนม ผู้เป็นพ่อได้นำศพทารกไปฝังอย่างเงียบ ๆ น่าอนาถใจ

ผู้เขียนทำงานที่โรงพยาบาลมีกุมารแพทย์ขอคำปรึกษา เกี่ยวกับกรณีที่ทารกมี Predeciduous Teeth เนื่องจากเป็นปัญหากับมารดา ที่ต้องให้นมลูก ฟันที่ขึ้นมา จะขบกัดหัวนม ขณะให้นม ทำให้เจ็บมาก วิธีที่ดีที่สุดคือ ถอนฟันที่ขึ้นมาตอนแรกเกิดนั้นออกเสีย ตามปกติเมื่อพยาบาลนำทารกอายุ 1 วัน มาให้ถอน วันดังกล่าว ทารกมักจะหลับตลอดเวลา ทันตแพทย์จะค่อยๆ อ้าปากทารกขึ้น และใช้สำลีก้อนเล็ก ๆ ที่ชุบยาชา แตะที่โคนฟันสักครู่ จากนั้นก็ใช้คีมอันเล็ก ถอนฟันออก ทารกจะร้องเสียงดังครั้งหนึ่ง แล้วจะหลับต่อ จากนั้นใช้ผ้าก๊อซที่ฆ่าเชื้อโรค แล้วกดไว้บนสันเหงือก เพื่อให้เลือดหยุด สัก 3-4 นาที จึงส่งทารกกลับไปให้พยาบาลเด็กอ่อนดูแลต่อไป มารดาก็สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ

ในรายที่เป็น Predeciduous Teeth ขึ้นมาเหนือเหงือกเพียง 1 มม. ยังไม่สามารถถอนออกได้ ก็จะแนะนำผู้ที่เป็นแม่ ให้ใช้ผ้าก๊อซพัน 2-3 ชั้นรองไว้ที่หัวนม และจับผ้าก๊อซไว้ ขณะให้นมลูก เพื่อไม่ให้ผ้าก๊อซ หลุดเข้าไปในปากทารก

ฟันที่ขึ้นเมื่อแรกเกิดนี้ถอนออกง่าย ทารกจะไม่เจ็บมาก เนื่องจากไม่มีรากฟัน ปัจจุบันพ่อแม่ ที่มีการศึกษา หรือคลอดบุตรในโรงพยาบาล มักได้รับคำแนะนำที่ดี และมีการดูแลทารก อย่างดี ผู้เขียนนึกเป็นห่วงทารก ที่เกิดในชนบทห่างไกลความเจริญ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความเชื่อทางไสยศาตร์ อาจจะยังเหลือและมีอิทธิพลอยู่ ทารกที่มีฟันตั้งแต่เกิด อาจจะได้รับความสนใจ ในการเลี้ยงดูน้อยกว่าที่ควร




โดย : นาย พชร เกกินะ, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 20 พฤศจิกายน 2544