ไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย มียุงลายบ้าน และยุงลายสวนเป็นพาหะ ยุงลายบ้านเป็นพาหะที่สำคัญ ประมาณร้อยละ 95 ส่วนยุงลายสวนซึ่งชอบเพาะพันธุ์ตามภาชนะนอกบ้าน ส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่เกิดจากธรรมชาติ หรือภาชนะที่คนทำขึ้นมารอบๆ บ้าน ยุงลายสวนชอบกินเลือดสัตว์หรือคนนอกบ้าน และพบในบางพื้นที่ จึงไม่ได้เป็นพาหะที่สำคัญของโรคไข้เลือดออก
ยุงลายชอบวางไข่ในน้ำสกปรกมากกว่าน้ำสะอาด แต่น้ำสกปรกจะต้องใสและอยู่ในภาชนะทั้งที่คนทำขึ้น หรือที่เกิดจากธรรมชาติเท่านั้น ท่อระบายน้ำแบบเปิดที่ทำด้วยคอนกรีต อยู่ใกล้บ้าน และอยู่ในที่ร่มก็เป็นที่วางไข่ได้ แต่มีจำนวนน้อยมาก ยุงลายจะไม่วางไข่บนผิวน้ำ แต่จะวางไข่ที่ผิวภายในของภาชนะเหนือระดับน้ำเล็กน้อย
ในน้ำสกปรก มีกลิ่นดึงดูดให้ยุงลายตัวเมียไปวางไข่ น้ำสกปรกมีสารอินทรีย์ ตัวไรน้ำหรือแบคทีเรียจำนวนมาก ซึ่งเป็นอาหารของลูกน้ำ ทำให้ลูกน้ำเจริญเติบโตได้เร็วกว่า และขนาดของยุงใหญ่กว่ายุงที่อยู่ในน้ำสะอาด ที่พบลูกน้ำในน้ำสะอาดมากเพราะภาชนะเก็บน้ำของคนไทยเก็บน้ำสะอาดไว้ใช้
การกำจัดหรือควบคุมลูกน้ำยุงลาย ที่สำคัญ มี 3 วิธี คือ
1. การกำจัดทางกายภาพ เช่น การปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ใช้กับดักลูกน้ำ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ ขัดผิวภายในของภาชนะและถ่ายเทน้ำทุก 7 วัน (แต่ห้ามเทน้ำในแหล่งน้ำ หรือท่อระบายน้ำ เพราะไข่และลูกน้ำจะเจริญเติบได้ดีในแหล่งนั้นๆ) วิธีทางกายภาพเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ทำยากที่สุด เพราะประชาชนไม่ค่อยนิยม
2. การกำจัดทางชีววิทยา ด้วยการใช้สิ่งที่มีชีวิตกำจัดลูกน้ำ เช่น ปลากินลูกน้ำ มวนต่างๆ แบคทีเรีย (BTI) ดักแด้ของแมลงปอ ลูกน้ำยุงยักษ์ เป็นต้น แต่มักจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
3. การกำจัดด้วยสารเคมี (Larvicide) มีหลายชนิด แต่ที่ได้ผลดีที่สุด คือ สารทีโมฟอส หรือปัจจุบันเรียกว่า สารเคมีกำจัดลูกน้ำ หรือที่รู้จักกันในชื่อทรายอะเบท สารเคมีชนิดนี้กำจัดลูกน้ำได้ดี ในขนาดความเข้มข้น 1 ในล้านส่วน หรือทรายอะเบท 1 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร ใส่ 1 ครั้ง สามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ 1-3 เดือน แต่ถ้าพบลูกน้ำแสดงว่าฤทธิ์ของสารเคมีหมดแล้ว แต่ถ้าไม่มีการถ่ายเทน้ำสามารถออกฤทธิ์ได้นานกว่า 3 เดือน ทรายอะเบทไม่ทำลายตัวโม่ง แต่ถ้าเกิดเป็นยุงแล้วจะมีอายุไม่ยืน
ที่มา : ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข


โดย : นาง สมัธยา เพ็ชรวงศ์, ร.ร.มัธยมวัดสิงห์, วันที่ 25 พฤษภาคม 2545