เริ่มเรียนการถ่ายภาพ10

กล้องถ่ายภาพ

หลักการทำงานของกล้องถ่ายภาพ
จากหลักการของกล้องรูเข็มในยุคเริ่มแรกที่ว่าเมื่อแสงเดินทางผ่านทะลุรูเล็กๆ เข้าไปในห้องมืดจะเกิดภาพจริงหัวกลับที่ฝั่งตรงข้าม ปัจจุบันได้มีการพัฒนาจนเกิดเป็นกล้องถ่ายภาพที่มีความสะดวกสบายในการใช้เหมือนอย่างทุกวันนี้ หากจะเปรียบเทียบระหว่างดวงตามนุษย์กับกล้องถ่ายภาพแล้ว คงจะทำให้เข้าใจถึงหลักการทำงานของกล้องถ่ายภาพได้ดียิ่งขึ้น คือ ในดวงตาของมนุษย์นั้นจะประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัญอันได้แก่ ดวงตา คอร์เนีย ( Corner ) หนังตา ( Eyelid ) ม่านตา ( Iris ) รูม่านตาหรือพิวพิล ( Pupil ) และจอตาหรือเรตินา ( Retina )
ดวงตานั้นเปรียบเสมือนกับเลนส์ในกล้องถ่ายภาพ ซึ่งก่อนที่แสงจะตกกระทบไปที่เลนส์จะต้องผ่านการหักเหแสง เพื่อช่วยให้แสงนั้นตกกระทบลงบนจอตาพอดี นั้นคือ คอร์เนียหรือชั้นของเยื่อโปร่งใสที่อยู่ในตา สำหรับปริมาณแสงในกล้องถ่ายภาพจะควบคุมด้วยชัตเตอร์ ( Shutter ) ส่วนของดวงตาก็คือ หนังตา และส่วนของม่านตาจะมีรูม่านตาหรือพิวพิล เป็นช่องทางให้แสงผ่านทะลุเข้าไป ซึ่งสามารถปรับขยายขึ้นหรือหดลงตามปริมาณของแสงโดยธรรมชาติ หรือก็คือส่วนของไดอะแฟรมในกล้องถ่ายภาพ ในส่วนของฉากหลังหรือจอรับภาพก็คือ จอตาหรือเรติน่านั่นเอง




ส่วนประกอบของกล้องถ่ายภาพ
กล้องถ่ายภาพแบบง่าย ๆ โดยทั่วไปจะประกอบด้วยโครงสร้างสำคัญเบื้องต้น คือ
1. ตัวกล้อง ( Camerabody )
2. คานกรอฟิล์มหรือที่หมุนฟิล์ม ( Film advance lever )
3. เลนส์ ( Lens )
4. ชัตเตอร์ ( Shutter )
5. ช่องมองภาพ ( Viewer )



- ตัวกล้อง เปรียบเสมือนห้องมืดภายในกล้อง ลักษณะโดยทั่วไปจะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมตามลักษณะกล้อง จะมีผนังกั้นป้องกันแสงสว่างจากภายนอกรั่วเข้าไปถึงตัวฟิล์มที่ใช้ถ่ายภาพ และยังเป็นโครงสร้างสำหรับไว้ติดตั้งอุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ
- คานกรอฟิล์มหรือที่หมุนฟิล์ม โดยปกติจะอยู่ที่ตำแหน่งขวาสุดของตัวกล้อง ใช้สำหรับเลื่อนฟิล์มที่ถ่ายแล้วเข้าเก็บในกรักฟิล์ม และดึงฟิล์มใหม่ออกแทนที่ ที่หมุนฟิล์มหรือคานกรอฟิล์ม จึงมีส่วนที่สัมพันธ์กัน 3 ที่ คือ ช่องเก็บฟิล์มที่ยังไม่ได้ใช้ ช่องขึงฟิล์มรูปสี่เหลี่ยมไว้สำหรับถ่าย และกรักเก็บฟิล์มที่ถ่ายแล้ว หากเป็นกล้องอัตโนมัติเมื่อถ่ายแล้วไม่ต้องใช้คานกรอฟิล์ม เพราะกล้องจะขึ้นฟิล์มให้ทันทีโดยอาจใช้มอเตอร์ตัวเล็ก ๆ ช่วยขับฟิล์มให้เคลื่อนไปข้างหน้า
- เลนส์ ( Lens ) เป็นอุปกรณ์สำคัญที่สุดของกล้องถ่ายรูป เปรียบเสมือนกับดวงตาของกล้อง ทำหน้าที่รับแสงสะท้อนจากวัตถุส่งผ่านไปสู่ฟิล์ม เลนส์โดยทั่วไปจะทำด้วยแก้วที่ออกแบบพิเศษ สำหรับกล้องที่มีคุณภาพดีจะมีเลนส์ประกอบกันหลายชิ้น แต่ละชิ้นล้วนเป็นเลนส์ที่มีคุณภาพดี เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า " ความไวของเลนส์ " ซึ่งหมายถึง ช่องรับแสงของเลนส์ที่จะรับแสงได้มากน้อยเพียงใด เลนส์ที่มีคุณภาพดีจะมีความไวของเลนส์สูง เลนส์มีหลายชนิดให้เลือกใช้ในการถ่ายภาพลักษณะต่างๆ เช่น เลนส์มาตรฐาน เลนส์มุมกว้าง เลนส์ถ่ายภาพระยะไกล เลนส์ซูม ซึ่งรายละเอียดจะได้นำเสนอในเรื่องเฉพาะของเลนส์ต่อไป
- ชัตเตอร์ ( Shutter ) เป็นกลไกตัวหนึ่งในกล้อง ที่ใช้ควบคุมเวลาการเปิดปิดรับแสงให้เร็วหรือช้าตามตำแหน่ง ชัตเตอร์จะทำงานร่วมกับม่านเลนส์หรือที่เรียกว่า ไดอะแฟรม (Diaphragm ) ซึ่งทำด้วยแผ่นโลหะบาง ๆ จัดเป็นชุดเรียงซ้อนกันทำให้เกิดช่องว่างตรงกลาง เพื่อควบคุมปริมาณแสงที่จะส่องผ่านไปฟิล์ม ถ้าม่านเลนส์หรี่เป็นรูเล็กแสงจะผ่านได้น้อย รูใหญ่แสงจะผ่านได้มาก ขนาดของรูรับแสงม่านเลนส์นี้จะมีเลขกำกับไว้ เรียกว่า เลขหน้ากล้อง ( f. number ) ในกล้องราคาประหยัดจะมีรูรับแสงสำเร็จรูปปรับไม่ได้ ในการเคลื่อนไหวของชัตเตอร์เร็วหรือช้า เพื่อควบคุมเวลาการรับแสงนั้น เราเรียกว่า ความเร็วของชัตเตอร์ ( Shutter speed ) ตัวเลขที่บอกความเร็วของชัตเตอร์จะคิดเป็นเศษส่วน ของวินาที สำหรับถ่ายภาพกันอย่างง่ายโดยทั่วไปจะมีความเร็วชัตเตอร์เพียงระดับเดียวกัน คือ 1/60 วินาที แต่ในกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว ( Single - lens ) จะมีตั้งแต่ ตัวอักษร B เลข 1 เว้นระยะเป็นช่วงไปถึง 1000 ถ้าความเร็วชัตเตอร์ที่ 1 หมายถึงแสงจะเข้าทำปฏิกิริยากับฟิล์มในเวลา 1 วินาที ถ้า 1000 หมายถึง 1/1000 วินาที แต่ถ้าตั้งความเร็วชัตเตอร์ที่ตัวอักษร B ( Bulb ) หมายถึง ขณะกดไก ชัตเตอร์ ชัตเตอร์จะเปิดตัวอยู่ตลอดจนกว่าจะปล่อยชัตเตอร์ ซึ่งจะใช้สำหรับการถ่ายภาพที่มีแสงน้อย เช่น ภาพไฟฟ้าตามท้องถนนในเวลากลางคืน
- ช่องมองภาพ ( Viewfinder ) หรือช่องเล็งภาพ หมายถึง ช่องที่ใช้เล็งภาพที่ต้องการถ่าย เพื่อให้ผู้ถ่ายภาพสามารถจัดองค์ประกอบของภาพได้ตรงตามที่ต้องการ ในกล้องถ่ายภาพที่มีคุณภาพดี ภาพที่มองจากช่องมองภาพเป็นอย่างไร ภาพถ่ายที่ออกมาควรเป็นอย่างนั้น กล้องถ่ายภาพแบบเก่า ช่องมองภาพมักอยู่ทางมุมของกล้อง ซึ่งไม่เหมาะกับการถ่ายภาพระยะใกล้ ๆ เพราะเลนส์กับช่องถ่ายภาพอยู่คนละที่กัน ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนจากภาพที่ต้องการ
เท่าที่กล่าวมาเป็นเพียงองค์ประกอบพื้นฐานหลักที่กล้องทั่วๆ ไปมี แต่ในปัจจุบันกล้องได้มีพัฒนาการต่าง ๆ มากขึ้น มีอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบเพื่อคุณภาพของภาพที่ดีกว่าเดิม ซึ่งอาจเพิ่มส่วนประกอบต่างๆ ขึ้นอีก เช่น คานเลื่อนตั้งเวลาถ่ายเอง ( Self - timer lever ) สวิทซ์เลือกการถ่าย Exposure mode selector switch ) อาจจะเลือกแบบตั้งค่าต่าง ๆ เอง (Manual ) หรือจะเลือกแบบอัตโนมัติ ( Automatic ) ฐานเสียบไฟแฟลช ( Hot Shoe ) ช่องติดตั้งขาตั้งกล้อง ( Tripod socket ) ฯลฯ ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสารประกอบการใช้กล้อง หรือนิตยสารเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมทั้งเว็บไซต์ทีเกี่ยวข้องในอินเทอร์เน็ต



โดย : นางสาว สมควร เพียรพิทักษ์, กรมวิชาการ, วันที่ 27 พฤษภาคม 2545