เริ่มเรียนการถ่ายภาพ12


2. กล้องขนาดกลาง
เป็นกล้องที่ใช้กับฟิล์มขนาดใหญ่ขึ้นกว่าฟิล์ม 35 มิลลิเมตร ขนาดฟิล์มที่ใช้มีตั้งแต่ 6 x 6 เซนติเมตร , 6 x 7 เซนติเมตร , 4.5 x 6 เซนติเมตร และ 6 x 5 เซนติเมตร จึงได้ภาพที่ละเอียด คมชัดกว่า เพราะเนื้อของฟิล์ม ( Grain ) ละเอียดกว่า ขนาดของกล้องก็ใหญ่กว่า แต่ก็ยังสามารถพกพาไปได้ จึงมีราคาสูงกว่ากล้องขนาดเล็ก กล้องถ่ายภาพขนาดกลางที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีทั้งกล้องสะท้อนภาพเลนส์คู่ และกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว เหมาะสำหรับช่างภาพมืออาชีพ
3. กล้องขนาดใหญ่
เป็นกล้องที่มีราคาสูงมาก ใช้กับฟิล์มแผ่นขนาด 4 x 5 นิ้ว , 5 x 7 นิ้ว และ 8 x 10 นิ้ว ส่วนมากใช้ในสตูดิโอถ่ายภาพ และในทางธุรกิจการถ่ายภาพ กล้องชนิดนี้มีน้ำหนักมากต้องจัดตั้งบนขาตั้งกล้อง ไม่เหมาะกับการขนย้าย เลนส์สามารถถอดเปลี่ยนได้และจะมี Bellow ที่ลักษณะคล้ายผ้ายืดแบบหีบเพลงติดอยู่เพื่อสำหรับยืดหดหาระยะความคมชัดของภาพ ภาพที่เห็นบนกระจกรับภาพจะมีลักษณะหัวกลับ
นอกจากกล้องทั้ง 3 ประเภท คือ กล้องขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่แล้ว ปัจจุบันมีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของกล้องมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเกิดมีกล้องเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษเกิดขึ้นหลายชนิด เช่น กล้องถ่ายภาพทางอากาศ ( Airial cameras ) กล้องถ่ายภาพใต้น้ำ ( Underwater cameras ) กล้องถ่ายภาพแบบกว้าง ( Panoramic cameras ) และกล้องที่เป็นที่นิยมกันมากขึ้นในขณะนี้ คือ กล้องชนิดรับภาพ และสร้างภาพด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า กล้องดิจิตอล ( Digital cameras ) กล้องชนิดนี้จะใช้แผ่นรับภาพที่ไม่ใช่ฟิล์ม แผ่นรับภาพนี้จะเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นสัญญาณทางไฟฟ้าบันทึกลงบนแผ่นดิสก์สามารถนำไปดูภาพในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ แต่จำนวนภาพที่ได้ไม่มากนัก หรือบางชนิดเมื่อถ่ายภาพแล้ว ภาพจะบันทึกไว้ใน memory card แผ่นเล็ก ๆ ในตัวกล้อง เมื่อจะใช้ภาพต้องเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงจะบันทึกลงแผ่นดิสก์เพื่อเคลื่อนย้ายไปใช้ ซึ่งแบบนี้จะสามารถบันทึกภาพได้มากกว่าชนิดแรกหลายเท่า อาจถึง 100 กว่าภาพ ภาพที่ได้จากกล้องดิจิตอลนี้ ต้องพิมพ์ออกทางเครื่องพิมพ์ โดยใช้หมึกพิมพ์สีจึงไม่ผ่านกระบวนการล้างอัดขยายในห้องมืด ปัจจุบันกล้องดิจิตอล ที่มีคุณภาพดีจะปรับเปลี่ยนเลนส์ได้ และสามารถขยายภาพขนาดใหญ่ หน้ากระดาษ A4 ให้มีความคมชัดเหมือนจริง แต่ก็มีราคากล้องสูงมาก
การเก็บรักษากล้อง
เพราะกล้องถ่ายภาพเป็นเครื่องมือสำคัญของช่างภาพ และยังประกอบด้วยกลไกที่ละเอียดอ่อน จึงต้องมีการเก็บรักษาอย่างดี ข้อแนะนำในการเก็บรักษากล้อง คือ
1. เก็บกล้องในที่อุณหภูมิเหมาะสม อย่าไว้ในที่ร้อนหรือที่ชื้น เพราะความชื้นอาจทำให้ขึ้นราได้ ควรปิดฝาเลนส์ไว้เสมอเมื่อไม่ได้ใช้ เพื่อป้องกันเลนส์สกปรก
2. หากเลิกใช้กล้องแล้ว ควรปรับรูรับแสงให้โตเต็มที่ เลื่อนปรับเลนส์ให้อยู่ที่ ( Infinity ) ความเร็ว ชัตเตอร์ตั้งไว้ที่ B เพื่อลานชัตเตอร์จะได้คลายตัว ไม่เช่นนั้นสปริงชัตเตอร์อาจจะอ่อนลง หากเป็นกล้องที่ใช้แบตเตอรี่ร่วมด้วยต้องถอดแบตเตอรี่ออกทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้งาน
3. เพื่อให้กลไกของกล้องทำงานได้คล่องตัว อย่างน้อยควรได้ใช้กล้องเดือนละ 1 ครั้ง หรือนำมาจัดกระทำเหมือนการทำงานจริง
4. พยายามอย่าให้กล้องได้รับความกระทบกระเทือน เพราะกลไกต่าง ๆ อาจจะเคลื่อนไปได้ หากว่าเป็นต้องเดินทางในพื้นที่ทุรกันดาร ควรใส่ไว้ในกระเป๋ากล้องผุฟองน้ำอย่างดี เพื่อกันแรงกระทบกระเทือน
5. หากกล้องชำรุดติดขัด ควรส่งช่างผู้ชำนาญการตรวจซ่อม


โดย : นางสาว สมควร เพียรพิทักษ์, กรมวิชาการ, วันที่ 27 พฤษภาคม 2545