เริ่มเรียนการถ่ายภาพ14

อุปกรณ์ประกอบอื่นในการถ่ายภาพ
ในการถ่ายภาพโดยทั่วไปนอกจากที่เราจะมีกล้องถ่ายภาพแล้ว อาจจะยังต้องใช้อุปกรณ์อื่นๆ ประกอบด้วย เพื่อให้คุณภาพของภาพที่ได้ตรงตามต้องการ เช่น ในกรณีที่แสงธรรมชาติไม่เพียงพอ เราอาจต้องใช้แฟลช หรือหากแสงธรรมชาติไม่สดใสมีหมอกหรือแดดจัดเกินไปอาจต้องกรองแสงด้วยฟิลเตอร์ อย่างนี้เป็นต้น อุปกรณ์ประกอบพื้นฐานที่ใช้ในการถ่ายภาพที่เราควรรู้จักในที่นี้จะนำเสนอเพียง4 อย่าง คือ แฟลช ฟิลเตอร์ ขาตั้งกล้อง และสายลั่นไกชัตเตอร์
แฟลช หรือไฟแว็บ (Flash) เป็นแหล่งกำเนิดแสงที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มแสงสว่างในการถ่ายภาพในกรณีที่แสงธรรมชาติไม่เพียงพอ หรืออาจใช้แฟลชเพื่อช่วยลบเงาให้ภาพดูนิ่มนวลยิ่งขึ้น แสงแฟลชโดยทั่วไปจะมีสีขาวออกน้ำเงินเช่นเดียวกับแสงแดด จึงใช้แทนแสงธรรมชาติได้ วิธีการ
ใช้แฟลชร่วมกับกล้องถ่ายรูป เราจะเสียบแฟลชเข้ากับฐานเสียบแฟลชที่ตัวกล้อง ซึ่งส่วนมากมักจะอยู่ด้านบน แต่สำหรับกล้องบางชนิดเช่น กล้องขนาดเล็ก 110 Pocket ฐานเสียบแฟลชจะอยู่ด้านข้าง ตัวแฟลชมักจะทำด้วยแก้วใสประเภทควอทซ์(Quartz) อาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่แห้งหรือถ่านไฟฉาย ในการใช้
แฟลช มีข้อที่ควรระวังคือ ในการถ่ายภาพบุคคล หากเราให้แสงเข้าสู่บุคคลโดยตรงที่ทิศทางของแสงกระทบเข้าตาผู้ถูกถ่าย จะทำให้ตาของผู้ถูกถ่ายภาพนั้นเป็นสีแดง ซึ่งเกิดจากการสะท้อนของเยื่อสีแดงกับเรตินาของดวงตา ภาพที่ได้จึงไม่เป็นธรรมชาติ อาจแก้ไขได้โดยการเปิดไฟในห้องให้สว่างมากที่สุดเพื่อจะช่วยลดการสะท้อนแสงของเรตินาในตาของผู้ถูกถ่ายภาพ นอกจากนี้ยังอาจมีการให้แสงจากแฟลชเข้าสู่วัตถุหรือบุคคลที่ถูกถ่ายภาพโดยอ้อมคือสะท้อนแสงขึ้นไปยังเพดานขาวก่อนแล้วจึงลงสู่วัตถุ เพื่อช่วยลดเงาดำเข้มในภาพ ภาพที่ได้ก็จะดูนุ่มนวลยิ่งขึ้น




ขาตั้งกล้อง (Tripod) เป็นอุปกรณ์ที่ยึดกล้องให้อยู่กับที่ได้อย่างมั่นคงไม่สั่นไหว ขณะถ่ายภาพ จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพที่จะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ คือตั้งแต่ 1/30 วินาทีลงมา เพื่อจะเปิดรับแสงนานๆ ให้ได้ปริมาณแสงเพียงพอ เช่นการถ่ายภาพกลางคืน นอกจากนี้ในการถ่ายภาพบางอย่าง
ที่ต้องตั้งกล้องให้หยุดนิ่งไม่สั่นไหวก็จะเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องเช่นเดียวกัน
ขาตั้งกล้องที่ใช้กันโดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นสามขายืดขึ้นลงกางออกหรือพับได้ มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ บางชนิดเป็นแท่นเล็กๆ สำหรับตั้งโต๊ะได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่จะเลือกใช้


สายลั่นไกชัตเตอร์(Cable release) เป็นอุปกรณ์ประกอบที่ใช้ควบคู่กับขาตั้งกล้อง ลักษณะเป็นสายยาวต่อเข้ากับชัตเตอร์ใช้สำหรับกดปุ่มชัตเตอร์ แทนการเข้าไปกดที่กล้องเพื่อให้การกดชัตเตอร์เป็นไปอย่างนิ่มนวล กระทบกระเทือนตัวกล้องน้อยที่สุด ภาพจึงจะคมชัดไม่สั่นไหว
สายลั่นไกชัตเตอร์ที่ใช้กันมีอยู่หลายแบบ อาจเป็นแบบสายเดี่ยว สายคู่หรือเป็นสายยางที่
ใช้บีบลม
ฟิลเตอร์ (Filters) หรือแผ่นกรองแสง มีลักษณะเป็นแก้วหรือพลาสติกใส โปร่งแสง สีขาวหรือสีอื่นๆ เป็นแผ่นกลมหรือเหลี่ยม ใช้สวมไว้กับเลนส์ที่หน้ากล้อง เพื่อสำหรับควบคุมแสงหรือสีของ
แสงที่จะมาตกกระทบกับฟิล์ม ทั้งบางชนิดยังช่วยสร้างสรรค์ภาพให้มีลักษณะพิเศษตามความต้องการ
เช่น ฟิลเตอร์ประกายรุ้ง(Diffraction grating filter) จะแยกแสงออกเป็นสีรุ้งเหมาะสำหรับการถ่ายภาพโฆษณา ฟิลเตอร์ฟุ้ง(Soft lens) ช่วยให้ภาพที่ได้ดูนุ่มนวล เหมาะสำหรับการถ่ายภาพเด็กหรือสตรี
การทำงานของฟิลเตอร์ มีลักษณะเดียวกับ การที่เรามองเห็นสีตามธรรมชาติ คือการ
เลือกที่จะดูดกลืนสีอื่นๆ ไว้ปล่อยให้สีที่เหมือนกับสีของฟิลเตอร์ส่องผ่านเข้าไปถึงฟิล์ม ทำให้ภาพที่ได้
มีสีบางสี สว่างหรือบางสีเข้มได้ตามต้องการ การใช้ฟิลเตอร์จึงขึ้นอยู่กับสภาวะของสิ่งที่จะถ่ายในขณะนั้น
ด้วย ฟิลเตอร์สามารถใช้ได้ทั้งในการถ่ายภาพขาวดำ ภาพสี และภาพสไลด์สี ซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป
บางชนิดก็สามารถใช้ร่วมกันได้ จำเป็นที่ผู้ใช้จะได้ศึกษาถึงฟิลเตอร์แต่ละชนิดก่อนใช้
นอกจากอุปกรณ์ทั้ง 4 อย่างนี้แล้วยังมีอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ อีกหลายอย่างเช่น เครื่องวัดแสง(Light meter) ที่บังแสงของเลนส์(Lens shade หรือ Hood) เครื่องขับเคลื่อนฟิล์มอัตโนมัติ(Motor drive) และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งผู้ที่จะเป็นช่างถ่ายภาพควรจะได้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานของตนเอง




โดย : นางสาว สมควร เพียรพิทักษ์, กรมวิชาการ, วันที่ 27 พฤษภาคม 2545