ไอคิวกับอีคิวต่างกันอย่างไร

ไอคิว หรือ Intelligence Quotient หมายถึง ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา การคิด การใช้เหตุผล การคำนวณ การเชื่อมโยง
อีคิว หรือ Emotional Quotient หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์เป็นความสามารถในการรับรู้ และเข้าใจอารมณ์ทั้งของตัวเองและผู้อื่น ตลอดจนสามารถปรับหรือควบคุมได้อย่างเหมาะกับสภาวะการณ์
ไอคิว เป็นศักยภาพทางสมองที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยาก
อีคิว ถึงแม้จะเป็นศักยภาพทางสมองเหมือนกันแต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนา ให้ดีขึ้นได้
ไอคิว สามารถวัดออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขที่แน่นอน
อีคิว ไม่สามารถระบุชี้ออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขได้
ผลการวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสเองเจลลิส (UCLA) แสดงให้เห็นว่า จำนวนเพียง ๗ % ของความสำเร็จในการเป็นผู้นำมีส่วนเกี่ยวข้องกับความฉลาด หรือ ไอคิว (I.Q.) ในขณะที่จำนวนถึง ๙๓ % เป็นผลจากคุณสมบัติอื่นได้แก่ ความไว้วางใจ ความสมดุล การรับรู้ความเป็นจริง ความซื่อสัตย์ ความเป็นอยู่ และการมีอำนาจเหนือ คุณสมบัติด้านเชาวน์ปัญญาเหล่านี้ เป็นความหมายที่มาของความฉลาดทางอารมณ์ หรือ อีคิว (E.Q.)

การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แสดงให้เห็นว่า อีคิว ไม่ใช่ ไอคิว และความสามารถทางสมองแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถก่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดีที่สุด หรือนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต
นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันว่า อีคิว มีส่วนผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลผลิต มีการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ความสำเร็จของกลุ่มและองค์กรและบุคคล คนที่มี อีคิว สูง จะเพิ่มโอกาสและความสามารถในการใช้พลังเพื่อให้ได้ผลที่ดีกว่า
อารมณ์เป็นส่วนประกอบในธรรมชาติของมนุษย์ จากพื้นฐานด้านอารมณ์ที่แตกต่างกันทำให้เรามีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ในชีวิตได้หลายวิธี จากอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ความโกรธ ความสุข ความกลัว ความรัก ความเงียบเหงาว้าเหว่
อารมณ์มีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของเรา มีอิทธิพลต่อความต้องการ มีผลต่อร่างกายและสัมพันธภาพของเรากับบุคคลอื่น อารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่ควรปฏิเสธหรือเก็บกดไว้ แต่ถ้ารับรู้อย่างเข้าใจ และมีเป้าหมายก็จะกลายเป็นผู้ช่วยที่ดีหรือเป็นเครื่องมือป้องกันในทางดี ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ในทางบวกจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของสุขภาพที่ดี เป็นพื้นฐานของความสุข ความกระตือรือร้นในชีวิตและความสามารถในการรักผู้อื่น



โดย : นาย วีรพล เลขสฤษดิ์, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 22 พฤศจิกายน 2544