เริ่มเรียนการถ่ายภาพ15

หลักเบื้องต้นในการถ่ายภาพ
ในการถ่ายภาพสิ่งหนึ่งที่เราควรจะต้องรู้จักคือช่วงความชัดลึกของภาพ(Depth of Field)เราเคยสังเกตหรือไม่ว่า ภาพบางภาพถ้าเรียงลำดับวัตถุจากต้นแถวจนถึงปลายแถวในระยะลดหลั่นให้ดูห่างไกลออกไปจะมองเห็นได้ชัดตลอดทั้งภาพ ตั้งแต่วัตถุที่อยู่ใกล้ที่สุดจนถึงวัตถุที่อยู่ไกลสุด แต่ในบางภาพวัตถุที่อยู่ใกล้เท่านั้นที่มองเห็นอย่างชัดเจน ส่วนที่ไกลออกไปจะพร่ามัว ส่วนบางภาพจะชัดเฉพาะตำแหน่งที่เราปรับโฟกัสไว้ ด้านไกลสุดและใกล้สุดจะพร่ามัว ในการปรับความชัดลึกของภาพนั้นมีปัจจัยที่เราควรต้องคำนึงถึง คือ
1. ขนาดของรูรับแสงของเลนส์ ซึ่งจากตอนที่ผ่านมาเราได้ทราบว่า หากเราปรับขนาดรูรับแสงให้เล็กจะทำให้ภาพมีระยะชัดลึกมากยิ่งขึ้น ในการปรับขนาดรูรับแสงของเลนส์นี้ เราสามารถปรับได้ที่ตัวเลขf / number ที่อยู่รอบๆ เลนส์ที่ตัวกล้อง หรือคำพูดที่เราคุ้นเคยคือ เอฟสต็อป
2. ระยะห่างระหว่างวัตถุถึงกล้อง หรือ ระยะโฟกัสของวัตถุ นั่นคือ ถ้าระยะห่างระหว่างตัวกล้องถึงวัตถุห่างมากเท่าไรยิ่งได้ความชัดลึกมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าใกล้ความชัดลึกก็จะน้อยลง
3. เลนส์ เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสั้นจะมีความชัดลึกมากกว่าเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสยาวกว่าเช่นเลนส์ 50 มม. จะได้ภาพที่มีความชัดลึกมากกว่าเลนส์ 200 มม. เป็นต้น





นอกจากนี้ เราควรต้องเข้าใจด้วยว่า รูรับแสงของเลนส์กับความเร็วชัตเตอร์ที่ตั้งไว้ต้องทำงานสัมพันธ์กัน เพราะในขณะที่เราปรับรูรับแสงของเสนส์ให้แคบลงนั้นหมายความว่า เลนส์จะรับแสงได้น้อยลง หากจะให้รับแสงได้เพียงพอเราอาจต้องตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้นานขึ้น เพื่อจะให้ได้รับแสงในปริมาณเพียงพอ จึงจะได้ภาพที่ตรงตามต้องการ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความไวแสงฟิล์มด้วย
จากหลักการพื้นฐานดังกล่าว นำมาซึ่งเทคนิคการถ่ายภาพเฉพาะอย่างเช่นภาพ
สถาปัตยกรรมหรือสิ่งก่อสร้าง ภาพวิวทิวทัศน์ ภาพกลางคืน และภาพทีเผลอ(candid)
ภาพสถาปัตยกรรมหรือสิ่งก่อสร้าง ภาพในลักษณะนี้เช่นภาพตึก วัด โบสถ์ บ้านอาคารต่างๆ การถ่ายภาพในลักษณะนี้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างมากคือ แสงเงา ถ้าถ่ายภาพสิ่งก่อสร้างในเวลาเที่ยง ทิศทางของแสงจะอยู่ตรงศีรษะ ส่องเข้าหาสิ่งก่อสร้างอย่างเต็มที่ ภาพที่ได้จะแบนราบขาดแสงเงา จึงควรเลือกถ่ายภาพในเวลาเช้าหรือบ่าย เพื่อจะได้ทิศทางของแสงตามต้องการ กรณีเป็นภาพพื้นที่แคบๆ ที่ต้องการให้ดูกว้างขวางขึ้น อาจต้องใช้เลนส์มุมกว้าง (wide angle lens) หรือภาพอาคารสูง อาจต้องหามุมถ่ายในที่สูง


ภาพวิวทิวทัศน์ เป็นภาพที่เราพบเห็นโดยทั่วไปทั้งในหนังสือ ปฏิทิน ภาพติดผนัง
บัตรอวยพรในโอกาสต่างๆ โดยธรรมชาติภาพเหล่านี้มีความงดงามในตัวอยู่แล้ว ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญ
ในการถ่ายภาพประเภทนี้ควรเป็นที่อารมณ์ของภาพ จะถ่ายภาพอย่างไรให้ผู้ดูภาพเกิดอารมณ์คล้อยตาม
อย่างที่ช่างภาพต้องการจะสื่อ ภาพวิวระยะไกลที่ต้องการให้ภาพมีความชัดลึกตลอดทั้งภาพ ต้องปรับ
รูรับแสงของเลนส์ให้แคบสุด อาจต้องมีการจัดฉากหน้า เช่นกิ่งไม้ ใบไม้ ประกอบอยู่เพื่อช่วยเพิ่มความ
รู้สึกของระยะทางในภาพ และหากเป็นภาพที่มีเมฆ หมอก ควัน อยู่ด้วยก็จะดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะต้องใช้
ฟิตเตอร์ช่วย
ภาพกลางคืน การถ่ายภาพกลางคืนอุปกรณ์ประกอบที่สำคัญคือ ขาตั้งกล้อง และอาจต้อง
ใช้สายลั่นไกชัตเตอร์ด้วย เนื่องจากปกติเตาต้องตั้งความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ B เพื่อเปิดรับแสงให้มีปริมาณ
เพียงพอ ในการถ่ายภาพ ฉะนั้นกล้องจึงต้องอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว และเพื่อความแน่นอนในการถ่ายภาพ
มากยิ่งขึ้นควรจะต้องมีการทดลองถ่ายดูก่อน เนื่องจากการจัดแสงในเวลากลางคืนทำได้ยากและไม่แน่นอน
ภาพทีเผลอ (candid) เป็นการถ่ายภาพบุคคลโดยที่ผู้ถูกถ่ายภาพไม่รู้ตัว ลักษณะสำคัญ
ของการถ่ายภาพประเภทนี้คือการถ่ายทอดอารมณ์ของผู้ถูกถ่ายภาพในเวลานั้น ในการถ่ายภาพ ผู้ที่จะ
ถ่ายภาพต้องจัดระยะภาพไว้ให้พร้อมก่อนแล้วจึงค่อยหันไปถ่าย หรือถ้าเป็นไปได้อาจต้องใช้เลนส์ถ่าย
ไกล เพื่อไม่ให้ผู้ถูกถ่ายภาพรู้ตัว
ภาพเฉพาะอย่างต่างๆ เหล่านี้ นอกจากจะใช้เทคนิคในเรื่อง การปรับกล้อง การดูทิศทางของแสง การใช้อุปกรณ์ประกอบต่างๆ แล้ว นักถ่ายภาพที่ดีควรที่จะต้องหมั่นฝึกฝนหาประสบการณ์ในการถ่ายภาพ มีการจดบันทึก รวมถึงความอดทนในการรอช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ทิศทางของแสง ภาพบางภาพที่ถ่ายทอดอารมณ์และมีความงดงามเชิงศิลปะ ช่างภาพอาจต้องรอคอยเวลาในการถ่ายภาพเป็นวันๆ
จึงจำเป็นอยู่เองสำหรับผู้ที่ต้องการจะเป็นนักถ่ายภาพที่ดี ควรจะได้คำนึงถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ด้วย

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาพประกอบโดยนายชูเกียรติ เกิดอุดม




โดย : นางสาว สมควร เพียรพิทักษ์, กรมวิชาการ, วันที่ 11 มิถุนายน 2545