ธุรกิจ


คุณสมบัติของผู้ประกอบการ
---------------------------------------------------------------------------
ก่อนที่จะศึกษาเรื่องคุณสมบัติของผู้ประกอบการ นักเรียนควรจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับ
“การประกอบการ” และ “การบริหาร” ซึ่งได้อธิบายไว้ในตอนต้นของบทนี้
2.1 การประกอบการและการบริหาร
“ผู้ประกอบการ” เป็นคำที่มีพื้นฐานมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า “Entrepreneur” และความหมายตามพจนานำกรมให้ไว้ว่า “เป็นผู้จัดตั้งกิจการทางเศรษฐกิจ โดยมีลักษณะที่พิเศษ คือ บุคคลดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ก่อตั้งเป็นเจ้าของ เป็นผู้บริหาร และรวมถึงการรับภาระในด้านการเสี่ยงต่าง ๆ ของธุรกิจพร้อมกันด้วย”ผู้ประกอบการจะเป็นผู้ที่คอยติดตามดูโอกาสต่าง ๆ ตลอดเวลาว่า มีช่องทางโอกาสอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทั้งนี้โดยอาศัยทักษะความชำนาญเฉพาะตัวที่มีอยู่ หรือโดยการสังเกตติดตามดูความเป็นไปของตลาด จากนั้นจะเป็นผู้เตรียมการสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด เพื่อเข้าไปทำกิจการซึ่งอาจมีความเสี่ยงควบคู่อยู่ด้วย โดยพยายามทำให้ช่องโอกาสที่มีอยู่นั้นสามารถกลับกลายเป็นกิจการที่มีกำไรได้อย่างไรก็ตาม การประกอบการ ( entrepreneurship) จะมีลักษณะที่แตกต่างจากการบริหาร (anagement) กล่าวคือ ผู้ประกอบการต่างก็มุ่งเสาะหาโอาสที่มีอยู่แล้วหรือพยายามสร้างสรรค์โอกาสต่าง ๆ ให้เกิดมีขึ้น และมีความเต็มใจที่จะยอมรับภาระการเสี่ยงเพื่อแลกกับกำไร แต่ผู้บริหาร ( manager ) จะมีความหมายเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ จะเป็นผู้นำเอาทรัพยากรต่าง ๆ เช่น กำลังคน เงินทุน เครื่องจักรและวัตถุดิบ มาจัดรวมเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาระหน้าที่ของผู้บริหารจึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นว่า ธุรกิจต่าง ๆ ของกิจการที่ดำเนินการอยู่นั้น จะสามารถดำเนินไปได้ด้วยดีโดยไม่มีการติดขัดแต่อย่างใดตามความหมายข้างต้น ผู้ประกอบการจึงมีฐานะเปรียบเสมือนผู้ให้กำเนิดแก่กิจการ โดยจะเป็นผู้จุดชนวนความคิดขึ้นมาแล้วหาช่องทางก่อตั้งกิจการขึ้นมาเพื่อทำให้ความคิดกลายเป็นความจริง จนประสบผลสำเร็จได้เป็นผลกำไรตอบแทนกลับมา ซึ่งหากผิดพลาดไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ การเสียหายก็อาจเกิดขึ้นได้ทันทีจากการลงมือทำดังกล่าว ผู้ประกอบการจึงมีความหมายตรงกับระบบการริเริ่มธุรกิจการค้าในฐานะของเจ้าของกิจการ ซึ่งชุมชนคนจีนในอดีตเรียกกันว่า “เถ้าแก่” นั่นเอง แต่ผู้บริหารจะเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนที่เข้ามาทำหน้าที่คอยกำกับควบคุมให้การทำงานต่าง ๆ ของกิจการที่ได้มีการตัดสินใจเลือกไว้แล้วนั้น ให้สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี ผู้บริหารจึงอาจเป็นคนละคนกันกับผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของกิจการก็ได้แต่ถ้าหากจะนำเอาคำสองคำนี้มารวมพิจารณาพร้อมกันแล้วจะเห็นว่าผู้ประกอบการทุกคนเมื่อตั้งกิจการขึ้นมาแล้ว จะต้องกำกับให้ความคิดของตนได้รับการปฏิบัติตามจนออกผลมาเป็นกำไร แสดงว่าผู้ประกอบการทุกคนต่างต้องเป็นผู้บริหารอยู่ในตัวด้วย แต่สำหรับผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารนั้น อาจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบการหรือเป็นเจ้าของเสมอไปก็ได้ แต่จะเป็นบุคคลที่ได้รับการว่าจ้างให้เข้ามาบริหารงานแทนเจ้าของ ซึ่งในสมัยใหม่นิยมเรียกว่า “ผู้บริหารมืออาชีพ” ที่กระทำทำหน้าที่บริหารเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียวผู้ประกอบการจึงมีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยจะเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมด้วยการริเริ่มก่อตั้งกิจการใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อสนองตอบความต้องการของสังคมและประชาชนให้อยู่ดีกินดี โดยอาจได้รับผลกำไรเป็นเครื่องตอบแทน กำไรและความภาคภูมิใจ





โดย : นาง วิภา สรีมากรณ์, นารีนุกูล, วันที่ 15 มกราคม 2545