ธุรกิจ


การเลือกทำเลที่ตั้งธุรกิจขนาดเล็ก
--------------------------------------------------------------------------------
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของธุรกิจทุกชนิด และเป็นปัญหาของธุรกิจขนาดเล็กด้วย
เช่นกันก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับด้านกายภาพของกิจการ ซึ่งในเรื่องนี้ส่วนที่เป็นภาพรวมก็คือ ตำแหน่งที่ตั้งของธุรกิจขนาดเล็กนั้น ๆ และในส่วนลึกภายในก็จะหมายถึงการออกแบบสถานที่ภายในร้านค้าหรือโรงงาน รวมตลอดถึงการจัดวางสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ประกอบอยู่ภายในอาคารหรือโรงงานนั้นด้วย สำหรับส่วนที่เกี่ยวกับการออกแบบภายใน การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ภายในนั้น นับว่าเป็นปัญหารองลงมา ที่สำคัญกว่าก็คือ ตำแหน่งที่ต้องของกิจการ ทั้งนี้เพราะเมื่อกิจการธุรกิจขนาดเล็กได้เลือกตำแหน่งที่ตั้ง ณ ที่หนึ่งที่ใดแล้ว การตัดสินใจย่อมเป็นการผูกพันที่มีผลเป็นการถาวร กล่าวคือ โอกาสที่จะโยกย้ายไปหาแหล่งใหม่หากเกิดปัญหาจะเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ง่ายนัก ดังนั้น การเลือกตำแหน่งที่ตั้งจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันมากที่เจ้าของกิจการธุรกิจขนาดเล็กจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยการทุ่มทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ในการที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของกิจการของตนให้ละเอียดและรอบคอบ โดยมีข้อมูลสนับสนุนและได้มีการพินิจพิเคราะห์อย่างชั่งใจแล้ว จนกระทั่งเกิดความมั่นใจจนสามารถตัดสินใจได้ถูกต้องในเรื่องของการเลือกทำเลที่ตั้งนั้น จะมีความสำคัญสำหรับกิจการธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งในแง่ของกิจการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสินค้า และกิจการจัดตั้งขึ้นเพื่อขายสินค้าด้วย ทั้งนี้เพราะกิจการธุรกิจขนาดเล็กที่จัดตั้งขึ้น ต่างก็มีวัตถุประสงค์ที่จะจัดหาวัตถุดิบหรือสินค้ามาเพื่อที่จะมาแปรสภาพ หรือจะดำเนินการให้เป็นสินค้าที่มีคุณค่าขึ้น เพื่อที่จะขายให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยมีกำไรหรือได้ค่าบริการต่าง ๆ เป็นผลตอบแทน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในกระบวนการจัดหาสิ่งต่าง ๆ มาเพื่อจำหน่ายนั้นมีเป้าหมายก็คือ ผู้บริโภคจะต้องสามารถซื้อสินค้านั้นได้โดยสะดวก การขายจึงจะสำเร็จผลลงได้ พิจารณาตามขั้นตอนของกิจกรรมต่าง ๆ ที่ธุรกิจขนาดเล็กจะต้องดำเนินการ ก็จะเห็นว่าสิ่งสำคัญที่ควรเป็นจุดสนใจของผู้ประกอบกิจการธุรกิจขนาดเล็กทุกคนก็คือ ตัวผู้บริโภคซึ่งจะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจซื้อสินค้าของเราในฐานะที่เป็นลูกค้า ดังนั้น เพื่อให้โอกาสขายมีทางประสบผลสำเร็จได้สูง ทำเลที่ตั้งของกิจการจึงจำเป็นต้องอยู่ใกล้ตัวผู้บริโภค ซึ่งปัจจัยสำคัญประการแรกสุดที่จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อนั้นก็คือทำเลที่ตั้งนั้นจะต้องอยู่ใกล้กับตัวผู้บริโภคเป็นสำคัญ และเมื่อผู้บริโภคสามารถเข้ามายังสถานที่ตั้งได้สะดวก และ ง่ายแล้วต่อจากนั้นบรรยากาศของการจัด สภาพแวดล้อมภายใน ทั้งการออกแบบสถานที่และการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกก็จะเกิดผลในการชักจูงใจให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกในขณะเข้ามาในร้านค้าเพื่อจัดหาซื้อสินค้าหรือบริการต่าง ๆโดยเหตุที่ทำเลที่ตั้ง เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จของกิจการธุรกิจขนาดเล็ก ที่จะต้องพิจารณาให้มีความเหมาะสมที่ลูกค้าจะสามารถเข้าถึงได้ และจะต้องเป็นทำเลที่ตั้งใกล้แหล่งซื้อ สินค้าหรือวัตถุดิบ ดังนั้น ในที่นี้จึงจะได้กล่าวถึงเรื่องทำเลที่ตั้งเป็นการเฉพาะ

4.1 ชนิดของทำเลที่ตั้ง
อาจจะแยกพิจารณาความแตกต่างของทำเลที่ตั้งออกไปได้ดังนี้ คือ
4.1.1 ที่ตั้งในตัวเมือง (อยู่ในย่านที่เรียกว่า “ตลาด” และบริเวณใกล้เคียงในเขตจังหวัด หรืออำเภอ) ตามปกติในชุมชนเมืองขนาดใหญ่ มักจะมีธุรกิจขนาดใหญ่เปิดดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังมีกิจการบางประเภทที่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ร้านขายอาหาร ร้านตัดเย็บ เสื้อผ้าและร้านเสริมสวย เป็นต้น
4.1.2 ที่ตั้งในท้องถิ่นชุมชนเมืองขนาดเล็ก (อยู่ในย่านที่เรียกว่า “ตลาด” ในเขตตำบล หรือหมู่บ้าน) การเลือกทำเลที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นเมืองขนาดเล็กที่เป็นชุมชนอยู่อาศัยเพื่อประกอบธุรกิจนั้น ในเรื่องการเลือกทำเลที่ตั้งดูจะเป็นปัญหารองลงมา ปัญหาที่สำคัญกว่าที่จะต้องพิจารณาเป็นประการแรกก็คือสภาวะทางเศรษฐกิจหรือความเป็นไปทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นนั้น ๆ ในอนาคตว่าจะมีโอกาสเจริญก้าวหน้าเพียงใด โดยทั่วไปแล้วธรรมชาติของเมืองเล็ก ๆ เช่น ตำบลหรือหมู่บ้านนั้น ธุรกิจต่าง ๆ มักจะมีทำเลที่ตั้งแบบกระจุกตัว คือ รวมอยู่ในถนนสายหลักในท้องถิ่นที่เป็นหมู่บ้านหรือตำบลดังกล่าว นอกจากนี้การเดินทางไปมาก็ค่อนข้างสะดวก หากเป็นชุมชนอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ลูกค้าก็สามารถที่จะเดินมาที่ร้านค้าได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้เพราะระยะทางไม่ห่างไกลหรือไม่มีปัญหาการจราจรคับคั่ง นอกจากนี้สิ่งอำนวยความสะดวกภายนอก เช่น ที่จอดรถต่าง ๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาสำคัญในชุมชนขนาดเล็กหรือตำบลที่มีขนาดใหญ่ไม่มากนัก โอกาสทางเศรษฐกิจที่จะจัดตั้งกิจการหรือร้านค้าขึ้นมาตอบสนองผู้บริโภคนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการจับจ่ายใช้สอยตามความจำเป็นในชีวิตประจำวันและตามความจำเป็นในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพเกษตรกรรม




โดย : นาง วิภา สรีมากรณ์, นารีนุกูล, วันที่ 15 มกราคม 2545