ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


การคำนวณหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

1 หลักเกณฑ์และวิธีการหักค่าใช้จ่าย
เมื่อคำนวณหายอดเงินได้พึงประเมินที่ได้รับและเป็นประเภทที่ต้องเสียภาษีได้แล้ว ถ้าหากเงินได้พึงประเมินนั้นมากถึงเกณฑ์ที่จะต้องยื่นเสียภาษี ขั้นตอนต่อไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรก็คือ การหักค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ก่อนที่บุคคลจะมีเงินได้ต่าง ๆ ขึ้นมานั้น ย่อมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไปบ้าง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้อาจเป็นตัวเงินหรืออาจเป็นแรงงานก็ได้ การหักค่าใช้จ่ายจึงเปรียบเสมือนการคิดต้นทุนของเงินได้เหล่านั้น แต่การที่ประมวลรัษฎากรจะกำหนดค่าใช้จ่ายให้แน่นอนตายตัวลงไปย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้มีเงินได้ ประมวลรัษฎากรจึงได้วางหลักเกณฑ์และวิธีการหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้พึงประเมินประเภทต่าง ๆ ไว้ 2 วิธี ดังนี้
1. การหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นและสมควร หมายถึง การถือเอารายจ่ายที่ได้จ่ายไปจริงโดยมีหลักฐานบันทึกไว้ชัดเจน และเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรต้องจ่าย เช่น ผู้ให้เช่าบ้าน จ่ายเงินซื้อสีมาทาบ้านที่ให้เช่า เพื่อให้สวยงาม น่าอยู่อาศัย และเพื่อให้เนื้อไม้คงทน หรือซื้อกระเบื้องมาซ่อมแซมหลังคาที่แตกรั่วเสียหาย เป็นต้น
2. การหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามอัตราร้อยละของเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภท ใช้ในการคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ทุกประเภทเป็นการทั่วไป เพราะเงินได้บางประเภท เช่น เงินได้ที่เกิดจากการจ้างแรงงานย่อมไม่อาจคำนวณค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของแรงงานได้ จึงต้องอาศัยวิธีการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามอัตราร้อยละเป็นเกณฑ์
อนึ่ง สำหรับเงินได้พึงประเมินบางประเภท ประมวลรัษฎากรได้กำหนดวิธีการหักค่าใช้จ่ายไว้เป็นการเหมาตามอัตราร้อยละเพียงวิธีเดียว บางประเภทก็ยอมให้ผู้มีเงินได้เลือกหักได้ทั้งตามที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นและสมควร หรือตามอัตราร้อยละที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้เป็นการเหมาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ บางประเภทก็ไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเลย สำหรับกรณีที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกวิธีหัก ค่าใช้จ่ายได้นั้น ถ้าหากผู้มีเงินได้เลือกวิธีหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ก็จะต้องมีหลักฐานมาแสดงและพิสูจน์ถึงค่าใช้จ่ายเหล่านั้นด้วย ถ้าหากปรากฏว่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นหักค่า ใช้จ่ายได้น้อยกว่าวิธีหักตามอัตราร้อยละที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเหมา จะหันกลับไปเลือกหักตามวิธีร้อยละอีกไม่ได้

วิธีคำนวณหักค่าใช้จ่าย
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ทวิ ได้กำหนดให้มีการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาจากเงินได้ พึงประเมินประเภทต่าง ๆ ดังนี้
1. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 หักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราร้อยละ 40 แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท
ในกรณีที่ทั้งผู้มีเงินได้และคู่สมรสต่างก็มีเงินได้ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ด้วยกัน ถ้าความเป็นสามีภรรยามีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ของแต่ละคนได้ในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
ตัวอย่างที่ 1 นายช้างมีเงินเดือน ๆ ละ 5,000 บาท ปลายปีได้รับโบนัสอีก 2 เท่าของเงินเดือน และยังได้รับค่านายหน้าอีก 40,000 บาท จงคำนวณเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย
วิธีทำ เงินเดือนตลอดปี (12 x 5,000) 60,000 บาท
บวก โบนัส (2 x 5,000) 10,000 บาท
ค่านายหน้า 40,000 บาท
รวมเงินได้พึงประเมิน 110,000 บาท
หัก ค่าใช้จ่ายร้อยละ 40 (110,000 x 40 ) 44,000 บาท
เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 66,000 บาท

ตัวอย่างที่ 2 นายเสือมีเงินเดือน ๆ ละ 15,000 บาท ปลายปีได้รับโบนัสอีก 4 เท่าของเงินเดือน จงคำนวณเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย
วิธีทำ เงินเดือนตลอดปี (12 x 15,000) 180,000 บาท
บวก โบนัส (4 x 15,000) 60,000 บาท
รวมเงินได้พึงประเมิน 240,000 บาท
หัก ค่าใช้จ่ายร้อยละ 40 (110,000 x 40 = 96,000 ) * 60,000 บาท
เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 180,000 บาท

หมายเหตุ ค่าใช้จ่ายร้อยละ 40 ที่คำนวณได้ 96,000 * บาทนั้น เกินกว่าอัตราที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ คือ 60,000 บาท จึงต้องถือเอา 60,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายแทน

สำหรับเงินได้พึงประเมินที่นายจ้างจ่ายให้เพียงครั้งเดียวเพราะเหตุต้องออกจากงานหรือที่เรียกว่าเงินบำเหน็จนั้น อธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณหักค่าใช้จ่ายไว้ ดังนี้
1) ถ้าเงินบำเหน็จที่จ่ายให้นั้นเป็นไปตามวิธีการของทางราชการ คือถือเอาจำนวนปีที่ทำงานคูณกับเงินเดือน ๆ สุดท้าย เป็นยอดเงินบำเหน็จ การหักค่าใช้จ่ายให้ดำเนินการเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 หักด้วย 7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน
ขั้นตอนที่ 2 หักส่วนที่เหลือจากขั้นตอนที่ 1 อีกร้อยละ 50

ตัวอย่าง นายสมชัยเป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 8,000 บาท ต่อมานายจ้างปลดออกหลังจากทำงานมาได้ 30 ปี โดยจ่ายเงินบำเหน็จให้ตามวิธีการของทางราชการ จงคำนวณหายอดเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย
วิธีทำ เงินบำเหน็จที่จ่ายตามวิธีการของทางราชการ (30 x 8,000) 240,000 บาท
หัก ค่าใช้จ่ายขั้นตอนที่ 1 210,000 บาท
ยอดคงเหลือจากขั้นตอนที่ 1 30,000 บาท
หัก ค่าใช้จ่ายขั้นตอนที่ 2 (30,000 x 50 ) 15,000 บาท
ยอดเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 15,000 บาท

2) ถ้าเงินบำเหน็จนั้นจ่ายในลักษณะที่ไม่ใช่วิธีการของทางราชการ หากแต่กำหนดขึ้นมาโดยหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของกิจการเอง การหักค่าใช้จ่ายให้ดำเนินการดังนี้
(1) ตัวเงินได้พึงประเมินที่จะนำมาคำนวณเพื่อหายอดค่าใช้จ่ายนั้น จะต้องไม่เกินยอด เงินเดือนเดือนสุดท้าย x จำนวนปีที่ทำงาน
(2) เงินเดือนสุดท้ายเต็มเดือนตามข้อ (1) จะต้องไม่เกินเงินได้ถัวเฉลี่ยของ 12 เดือน สุดท้ายก่อนออกจากงาน + ด้วยร้อยละ 10 ของเงินได้ถัวเฉลี่ยรายเดือนนั้น



โดย : นาง เมตตา อินทรัตน์, โรงเรียนนารีนุกูล, วันที่ 16 มกราคม 2545