ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


การหักค่าลดหย่อนส่วนบุคคล
ประมวลรัษฎากร มาตรา 47 แบ่งการหักค่าลดหย่อนส่วนบุคคลออกได้ดังนี้
1. ผู้มีเงินได้ หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท
2. คู่สมรส หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท
3. บุตร หักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท ถ้าเป็นบุตรที่กำลังศึกษาอยู่หักได้คนละ 17,000 บาท สำหรับบุตรที่จะใช้สิทธิหักลดหย่อนได้นั้น จะต้องเป็นบุตรที่อยู่ในหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
1. เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ หรือของคู่สมรสของผู้มีเงินได้
2. เป็นผู้เยาว์ หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ และอยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ หรือเป็นบุคคลที่อายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา
3. ถ้าเป็นบุตรที่เกิดก่อนหรือใน พ.ศ.2522 หักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร แต่ถ้าเป็นบุตรที่เกิดหลัง พ.ศ.2522 จะหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน (รวมทั้งกรณีบุตรบุญธรรมด้วย)
4. ถ้ามีบุตรทั้งที่เกิดก่อนหรือใน พ.ศ.2522 และบุตรที่เกิดหลัง พ.ศ.2522 (ทั้งกรณีบุตรบุญธรรมด้วย) ให้หักลดหย่อนได้รวมกันไม่เกิน 3 คน โดยให้นำเอาบุตรที่เกิดก่อนหรือใน พ.ศ.2522 มาหักก่อน โดยหักเฉพาะบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะมีอายุอยู่ในเกณฑ์ได้รับสิทธิหักลดหย่อนหรือไม่ก็ตามและถ้าผู้มีเงินได้มีบุตรที่เกิดก่อนหรือในปี พ.ศ.2522 ถึง 3 คนแล้ว จะนำบุตรที่เกิดหลังปี พ.ศ.2522 มาหักลดหย่อนอีกไม่ได้
5. บุตรดังกล่าวไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะได้รับการยกเว้นภาษี
การหักลดหย่อนสำหรับบุตรดังกล่าวข้างต้นนั้น ให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่หักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ และในกรณีบุตรบุญธรรมนั้นให้หักลดหย่อนในฐานะบุตรบุญธรรมได้เพียงฐานะเดียว ตัวอย่างเช่น บุตรผู้เยาว์ที่มีอายุครบ 20 ปี ระหว่างปีภาษี ผู้มีเงินได้ก็ยังใช้สิทธิหักลดหย่อนในปีภาษีนั้น ได้เต็มจำนวน ส่วนกรณีบุตรบุญธรรม ถ้าฐานะของบุตรบุญธรรมหมดไปเมื่อใด ก็ไม่มีสิทธิหักลดหย่อนได้อีก



โดย : นาง เมตตา อินทรัตน์, โรงเรียนนารีนุกูล, วันที่ 16 มกราคม 2545