ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


เงินได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เงินได้พึงประมาณ คือ เงินได้ที่เข้าลักษณะต้องเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้รวมถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินได้หรือผู้อื่นออกได้ และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิด้วย
จากคำนิยามข้างต้นสรุปได้ว่า เงินได้พึงประเมินย่อมหมายถึงสิ่งต่อไปนี้
1) เงินสดหรือตราสารอื่น เช่น เช็ค ดราฟต์ และตั๋วเงินต่าง ๆ
2) ทรัพย์สินที่ได้รับซึ่งสามารถคำนวณค่าเป็นเงินได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเป็นทองคำแทนที่จะจ่ายเป็นเงิน เจ้าของที่นาเก็บค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกแทนที่จะเก็บเป็นเงิน เป็นต้น ทองคำและข้าวเปลือกล้วนเป็นทรัพย์สินที่สามารถคำนวณค่าเป็นเงินได้ชัดเจน จึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินด้วย
3) ประโยชน์ที่ได้รับและสามารถคำนวณค่าเป็นเงินได้ ตัวอย่างเช่น นายจ้างให้ลูกจ้างกินอาหารกลางวันฟรีในวันทำงาน หรือลูกจ้างได้ที่พักอาศัยฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า ซึ่งประโยชน์เหล่านี้สามารถคำนวณค่าเป็นเงินได้ทั้งสิ้นจึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินด้วย
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่จะนำมาคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีนั้น จะต้องเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่ได้รับมาแล้ว มิใช่เป็นแต่เพียงสิทธิเรียกร้องเพียงเพื่อจะให้ได้มาในภายหน้า (คำพิพากษาฎีกาที่ 580/2506)
4) เงินค่าภาษีอากรที่นายจ้างหรือผู้จ่ายเงินได้ออกให้ ทำให้ผู้รับไม่ต้องเสียภาษีนั้น คล้ายกับเงินได้เพิ่มขึ้นจึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินด้วย
5) เครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ โดยให้นำเครดิตภาษีในอัตรา 3 ใน 7 ส่วน ของเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มารวมเป็น เงินได้พึงประเมินด้วย เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า เมื่อผู้มีเงินได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรก็จะได้รับเครดิตภาษีติดมาในอัตรา 3 ใน 7 ส่วนด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการชดเชยหรือคืนภาษีที่นิติบุคคลได้เสียไปแล้วครั้งหนึ่งก่อนแบ่งกำไร ถือได้ว่าเป็นประโยชน์ที่ได้รับซึ่งสามารถคำนวณค่าเป็นเงินได้ จึงต้องรวมเป็นเงินได้พึงประเมินพร้อมกับเงินปันผลที่ได้รับนี้



โดย : นาง เมตตา อินทรัตน์, โรงเรียนนารีนุกูล, วันที่ 16 มกราคม 2545